Loading

wait a moment

คุณลักษณะนิสัย 7 อย่างที่ยืนยันแล้วว่าช่วยให้คุณทำงานเก่งขึ้นได้จริง [Research-based Productive Method]

รูปปกจากภาพยนต์ Limitless (2011)

ในฐานะองค์กร หัวหน้า หรือแม้กระทั่งคนทำงานธรรมดาทั่วไป พวกเราทุกคนคงอยากจะเป็นบุคคลที่ใครๆต่างเรียกเราว่า “คนทำงานเก่ง”

เคยไหมครับ เวลาที่เราได้แต่ฉงนสงสัยว่าทำไมคนบางคนถึงได้ทำงานเก่งนัก แล้วเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้เก่งเหมือนเขาบ้าง…

สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะนำเสนอ “คุณสมบัติลับ” ที่ใช้ได้จริงเหล่านั้นให้ผู้อ่านได้ลองเอาไปเป็นเช็คลิสต์ในการตรวจสอบตัวเองว่ามีกันครบแล้วหรือยัง โดยบทความนี้ได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากบทความหนึ่งของเว็บไซต์ Harvard Business Review ที่มีชื่อว่า “7 Traits of Super-Productive People”รือที่แปลเป็นไทยว่า

เจ็ดคุณลักษณะของพวกยอดมนุษย์ทำงานเก่ง

ในบทความมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลคนทำงานกว่าเจ็ดพันคนโดยให้หัวหน้างาน (Manager) คอยให้คะแนนประสิทธิภาพ (productive) การทำงานของลูกน้อง แล้วดูว่ามันเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติอะไรบ้าง…และผลการวิจัยก็ออกมา 7 ข้อดังนี้

1.กล้าลุยกับเป้าหมายที่ท้าทาย

[Set stretch goal]

 

Interstellar (2014)

 

“shoot for the moon if you miss you’ll land among the stars”

“คิดหวังตั้งใจไปสู่ดวงจันทร์ หากแม้ว่าพลาดพลั้ง ก็อาจพบตัวเองอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว”

-Norman Vincent Peale-

 

ไม่มี quote ไหนที่จะทำให้เห็นภาพได้เท่ากับที่กล่าวด้านบนอีกแล้ว…คนทำงานเก่งรู้ดีกว่าสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าการตั้งเป้าหมายสูงแล้วเอื้อมไม่ถึง คือการขาดความกล้าที่จะท้าทายและ “ตั้งนิยามใหม่” ให้กับ “ความเป็นไปได้ใหม่” พวกเขาเปลี่ยนสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นความเป็นไปได้

ครั้งหนึ่งมนุษย์เราไม่เชื่อว่าคนเราสามารถวิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ภายใต้ระยะเวลาสี่นาทีได้ ทั้งวงการวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ออกมาบอกว่ามันเป็นเรื่องที่บ้าชัดๆ โดยมีเหตุผลว่าสรีระวิทยาของร่างกายมนุษย์ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำอย่างนั้นได้…แต่แล้ววันหนึ่ง Roger Bannister นักวิ่งระยะไกลผู้ทำลายสถิติก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามันไม่เพียงแต่เป็นไปได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลังจากเหตุผลต่างๆนาที่เชื่อว่าเป้าหมายนั้นไม่สามารถทำได้ถูกทำลายลง

การวิ่งหนึ่งไมล์ภายในสี่นาทีก็กลายเป็น “มาตรฐานใหม่” ในการวิ่งแข่งขันระยะไกล นักวิ่งรุ่นหลังต่างไม่มองว่ามันคือสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อมีคนทำได้หนึ่งคน ครั้งที่สอง สาม สี่ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

 

Sir Roger Bannister: ภาพประวัติศาสตร์ของนักวิ่งชาวอังกฤษที่ได้ทำลายสถิติการวิ่งระยะไกลหนึ่งไมล์ด้วยระยะเวลา 3 นาที 59.4 วินาที

 

เรื่องราวเหล่านี้กำลังบอกกับเราว่าหรือจริงๆ แล้ว เราทำได้มากกว่าสิ่งที่เราคิดอีกเยอะ และผู้ที่กล้าพอที่จะคิดว่าตนทำได้จะสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าอย่างเทียบไม่ติด

ในการศึกษาครั้งดังกล่าวพบว่าคนที่ productive มากที่สุดมักจะเรียนรู้ที่จะตั้งเป้าหมายท้าทายจนเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นมิติใดของชีวิต และเมื่อเรากล้าท้าทายตัวเอง สมองของเราก็จะโฟกัสอยู่กับความท้าทายที่ตบตีกับรอยหยักของสมอง หัวใจก็จะสูบฉีดด้วยแรงพลังถึงผลลัพธ์หากทำได้สำเร็จ

นี่คือพลังของเป้าหมายใหญ่ที่คนที่ชอบตั้งเป้าหมายแค่พอผ่านไม่มีวันเข้าใจ

ครั้งต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงานที่ทำ หน้าที่ที่รับผิดชอบ ชีวิตส่วนตัว หรือแม้กระทั่งความฝันความหวังที่เรามี ก็ขอให้นึกถึงคำพูดหนึ่งในหนังโฆษณาชุดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากๆ ของ Apple ในปี 1997 ชื่อว่า “Think different” ที่กล่าวไว้ว่า

“คนที่บ้าพอที่จะคิดว่าตัวเองพลิกโลกได้ คือคนที่ทำได้จริงๆ”

คงไม่ต้องอธิบายว่าแนวคิดอันเรียบง่ายนี้ถ่ายทอดตัวตนของสตีฟ จ็อบส์ ออกมาได้ดีเพียงใด

แล้วคุณล่ะครับ จะรออะไรอยู่…ดวงจันทร์ของคุณอยู่หนใด

 

Arnold Schwarzenegger: จากหนุ่มบ้านนอกในออสเตรียผู้สร้างตัวเองขึ้นมาเป็นนักเพาะกายระดับโลก ก่อนจะผันเข้าสู่วงการบันเทิงที่ปูทางเขาสู่เส้นทางการเมืองในช่วงท้ายที่สุด

I love it when someone says that no one has ever done this before, because then when I do it that means that I’m the first one that has done it. So pay no attention to the people that say it can’t be done. I never listen to, “You can’t.” (Applause) I always listen to myself and say, “Yes, you can.”

ผมชอบนะเวลาที่มีคนชอบมาบอกว่าไอสิ่งที่ผมทำมันไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนนะ เพราะเมื่อไหร่ที่ผมทำมันได้สำเร็จนั่นหมายความว่า ผมจะเป็นคนแรก เชื่อผมเถอะ อย่าไปสนใจเลยเวลาคนพูดว่าไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ผมเองก็ไม่เคยแคร์กับคำพูดที่ว่า “แกทำไม่ได้หรอก” เพราะผมมัวแต่ฟังเสียงข้างในของตัวเองที่บอกว่า “ใช่ เราทำได้เว่ย”

 – Arnold Schwarzenegger –

ปล.เตรียมอ่านบทความเรื่อง Growth Mindset หรือความเชื่อในการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ทำนายความสำเร็จของคนได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ได้ในบทความที่ผมจะเขียนเร็วๆ นี้ครับ

 

2.กัดไม่ปล่อย [Show consistency]

Haruki Murakami หนึ่งในนักเขียนนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงชาวญี่ปุ่นทำงานเขียนทุกวันในตอนเช้าไม่มีวันเว้น

คุณสุทธิชัย หยุ่น ตำนานหนังสือพิมพ์ไทยแห่งเดอะเนชั่นมาทำงานตอนเช้าตั้งแต่ไก่โห่ทุกวัน คอยรับโทรศัพท์ลูกค้า มาเร็วกว่าแม้กระทั่งพนักงานรักษาความปลอดภัย (อ้างอิงจากปากคำของท่านเอง สามารถฟังได้ที่นี่)

Michael Phelps ฉลามหนุ่มนักว่ายน้ำที่กวาดเหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในโลกซ้อมไม่หยุดแม้กระทั้งวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันพักร่างกายของนักว่ายน้ำคนอื่นๆ

หนึ่งในทีมซีลไทย โดนสื่อถามว่าคิดอย่างไรกับความยากลำบากของภารกิจครั้งนี้ในการช่วยทีมหมูป่า เขาตอบสั้นๆเพียงว่า ทำได้ครับ” (สามารถอ่านเบื้องหลังความแกร่งของทีมซีลได้ในบทความนี้ครับ)

 

พวกเขาเหล่านี้อาจไม่ได้เข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์อะไรซับซ้อนเกี่ยวกับเบื้องหลังของ “ความสม่ำเสมอ” เหล่านี้ เพราะพวกเขาเพียงแต่ทำมันไปเพราะเป็นสิ่งที่รัก ทว่า Domino effect บอกกับเราว่าโดมิโนตัวเล็กจ้อย สามารถล้มโดมิโนตัวถัดไปที่ใหญ่กว่าอีกนิดได้….มีการคำนวนไว้ว่าหากการล้มดำเนินไปถึงตัวที่ 56 โดมิโนตัวนั้นก็สามารถที่จะล้มโดมิโนตัวถัดไปที่สูงเกือบเท่าระยะทางจากพื้นผิวโลกไปดวงจันทร์ได้เลยทีเดียว

และนี่คือพลังของการทำสิ่งวันละเล็กละน้อยอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

การศึกษาพบว่ายอดมนุษย์ที่ทำงานเก่งเหล่านี้มักมีบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือ

เมื่อพวกเขา “พูดว่าทำได้” พวกเขาก็มักจะ “ทำได้” จริงๆ ซึ่งก็ใช่ว่าคนพวกนี้จะมีความอยากจะทำงานทุกวันหรอกนะครับ มันก็มีบางวันเหมือนกันที่แรงบันดาลใจมันหดหายห่อเหี่ยว แต่พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะฝึกตัวเองให้ลงมือทำแม้ในวันที่ไม่อยากทำ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า จนกระทั่งผลลัพธ์เริ่มปรากฎตัว…

คนส่วนใหญ่มองหาแรงบันดาลใจจากภายนอก แต่คนกลุ่มนี้จะให้ผลงานเป็นตัวพูดแทน

วิธีทำงานในวันที่รู้สึกว่าไม่อยากทำอะไรเลย สามารถอ่านได้ในบทความนี้ครับ

3.รู้จริงในสิ่งที่ทำ

[Have knowledge and technical expertise]

 

Managing Oneself เป็นหนึ่งในงานที่ทรงคุณค่าและทรงพลัง ที่ถูกเขียนโดยปรมาจารย์การจัดการของโลกอย่าง ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์ ถูกตีพิมพ์โดยสถาบันการศึกษาที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดูหนังสือได้ที่นี่

 

ข้อนี้ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ…แต่อยากจะขอขยายความเพิ่มเติมซักเล็กน้อยด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การพัฒนาตัวเองให้รู้จริงเป็นสิ่งที่ยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการ “ยอมรับในความไม่รู้” นั่นเพราะในทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเก่งหรือถนัดไปเสียทุกอย่าง และความจริงเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดเป็นเป็ดก็ได้ (เป็นเป็ดก็ประสบความสำเร็จได้) แต่เราต้องรู้จักวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าการงานหรือเป้าหมายที่เราอยู่ทุกวันนี้

-มีตรงไหนที่เราต้องพัฒนาอีกไหม

-เราเรียนรู้ด้วยวิธีการไหน

-อะไรที่ถ้าเราเรียนรู้เพิ่มจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของเราได้

คำถามเหล่านี้ไม่มีใครตอบแทนเราได้ เพราะทุกคนล้วนต่างมีโจทย์ของชีวิตที่แตกต่างกัน

เช่นนั้นแล้วทักษะการถามปัญหาใหญ่และสำคัญให้ถูกจุด และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้คือสิ่งที่คนสำเร็จและทำงานเก่งทุกคนล้วนใช้เวลาไตร่ตรองและขัดเกลาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

4.วัดกันที่ผลลัพธ์ [Drive for results]

จำเป็นไหมครับว่าคนที่ทำงานนานกว่า จะต้องได้ผลงานที่มากกว่าเสมอไป?

คำตอบคือ ไม่จำเป็นแม้แต่น้อยเลยครับ…อันที่จริงใจความหลักของบทความนี้คือการสกัดเอา DNA  ของกลุ่มคนที่ทำงานน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มากเสียด้วยซํ้า (สามารถอ่านบทความ “ทำน้อยให้ได้มาก” ได้ที่นี่ครับ)

 

ก็เป็นเช่นนี้เองครับผู้อ่าน…ไม่ว่าเราจะมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่สวยหรูแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายการลงมือทำย่อมเป็นตัววัดผลที่สำคัญที่สุด…ล่าสุดทางบริษัทดีเทคที่เรารู้จักกันเพิ่งได้เปลี่ยนวิธีการวัดการประเมินผลเป็นสิ่งที่เรียกว่า OKRs (Objectives and Key Results ) ที่มุ่งที่จะวัดกันในจุดแข็งของพนักงาน ไม่ว่าคุณจะขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย มีความสม่ำเสมอแค่ไหน แต่ถ้าผลลัพธ์มันออกมาแย่ก็คือแย่ และคนเราสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมออกมาจากจุดแข็งเท่านั้น นั่นจึงทำให้การวัดผลแบบเก่าๆ จึงต้องตายจากไป

แต่ความเป็นจริงอย่างหนึ่งของเป้าหมายที่ท้าทายก็คือ เราไม่มีทางที่จะทำมันออกมาให้ดีหรือเพอร์เฟคตั้งแต่ครั้งแรก แต่เราสามารถที่จะค่อยๆ ปรับให้ดีโดยการเรียนรู้จากความล้มเหล็วได้ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ )

1.หลายๆคนเป็นนักวางแผนแต่ไปตายตรงลงมือทำ

2.หลายคนขยันสม่ำเสมอ แต่ขาดการวางแผนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ

กลุ่มคนที่จะประสบความสำเร็จที่แท้จริงคือคนที่ทั้งคิดและลงมือทำได้อย่างชาญฉลาด…และมีความมันส์สะใจที่ได้เห็นตัวเองเข้าใกล้เป้าหมายจริงๆ ตรงหน้ามากขึ้นวันละนิด มากกว่าภาพสวยหรูในจินตนาการที่ไม่อาจมีวันเป็นจริง

 

5.โอบรับปัญหา [Anticipate and solve problems]

ไม่ว่าปัญหาคุณจะใหญ่แค่ไหน…แต่ก็คงไม่ใหญ่เท่าของชายชื่อ Elon Musk ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงเพื่อเป้าหมายในการส่งคนไปดาวอังคารในนามของบริษัท SpaceX (ล่าสุดส่งวิศวกรมาช่วยทีมหมูป่าด้วย) แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคตที่มีทีมวิศวะกรเก่งๆ ร่วมแรงร่วมใจกันหลายพันคนในการทำให้สำเร็จ

แล้วถ้าคุณเป็นชายคนเดียวที่ติดอยู่บนดาวอังคารแล้วกลับโลกไม่ได้ล่ะ???

นี่คือตีมเรื่องราวของหนัง The Matian (2015) ของนักวิทยาศาสตร์ผู้โชคร้ายที่ประสบอุบัติเหตบนดาวอังคารจนต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงัดเอาทักษะการเอาชีวิตรอด เค้นเอามันสมองออกมาทุกหยด แล้วเรื่องราวก็จบลงอย่างสวยงามเมื่อเขาผ่านวิกฤติปัญหาที่จะเป็นความภาคภูมิใจในฐานะของชายผู้เอาชีวิตรอดจากดาวอังคารกลับมาโลกได้…และนี่คือถ้อยคำพูดที่กลั่นออกมาจากมหันตภัยครั้งนั้น

“At some point, everything’s gonna go south on you… everything’s going to go south and you’re going to say, this is it. This is how I end. Now you can either accept that, or you can get to work. That’s all it is. You just begin. You do the math. You solve one problem… and you solve the next one… and then the next. And If you solve enough problems, you get to come home. All right, questions?”

“เมื่อถึงจุดหนึ่ง แทบทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบๆก็จะถล่มใส่คุณราวกับสิ้นแล้วซึ่งหนทาง ณ ตอนนั้นคุณจะเริ่มบอกกับตัวเองว่า เอาสิวะ นี่น่ะหรือจุดจบของเรา และคุณก็มีทางเลือกสองทางคือจะยอมรับกับความพ้ายแพ้ หรือจะรวบรวมแรงกำลังเฮือกสุดท้ายขึ้นมาต่อสู้…ก็แค่นั้นเอง แค่ลุกขึ้นมา กางกระดาษ กางแผนที่ คิดและวางแผน แล้วก็เริ่มลงมือแก้ปัญหาไปทีละเปลาะๆ พอถึงจุดหนึ่งที่คุณแก้ปัญหามาได้มากพอ คุณก็จะได้กลับบ้าน (กลับมาโลก) เอาล่ะ มีคำถามอะไรอีกไหม ?”

– The Martian (2015)-

ในแง่หนึ่งความหมายของคนทำงานเก่ง ก็คือพวกเขาเป็น “นักแก้ไขปัญหาที่เก่ง” นั่นเอง พวกเขาพยายามมองปัญหาจากมุมใหม่และคิดค้นหาลู่ทางแก้ปัญหาที่เฉียบคม พวกเขาไม่มองว่าปัญหาคือสิ่งที่จะมาขวางกั้นไปสู่ความสำเร็จ แต่มองว่าปัญหาคือส่วนหนึ่งในการพิชิตเป้าหมาย (เตรียมอ่านกรอบความคิดในการพิชิตเป้าหมายจากนักธุรกิจและนักคิดระดับโลกนาม Ray Dalio ได้เร็วๆ นี้)

พวกเขามองว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างทางคือ “สัญญาน” ที่ดีว่าว่าถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแผนในการรับมือ โดยนักจิตวิทยาสังคมเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า “Mental Contrasting” โดยมีหลักการดังนี้

ลองจินตนาการสิ่งที่จะขวางกั้นคุณจากสถานะปัจจุบัน (จุด A)  และเป้าหมายที่ตั้งไว้ (จุด B) การฝึกมองเช่นนี้สามารถช่วยให้คุณทำเป้าหมายให้สำเร็จมากขึ้นได้

สำหรับคนที่อยากได้กรอบความคิดในการแก้ปัญหา สามารถหาอ่านได้ในบทความนี้ครับ 

6.ลงมือทำ(Take initiative)

“ลงมือทำ”

ขออนุญาตเน้นตัวโตๆอีกครั้ง…นั่นก็เพราะหนึ่งในนิสัยที่จะช่วยให้คนประสบความสำเร็จได้มากที่สุดหากเลือกได้เพียงข้อเดียว สำหรับตัวผู้เขียนเองก็คงเลือกข้อนี้ครับ…

สามารถอ่านเพิ่มเติมว่าทำไมการอ่านหนังสือฮาวทูทั้งโลกคุณก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้หากขาดสิ่งเดียว…นั่นคือการลงมือทำ

7.ทำงานเป็นทีม [Be collaborative]

ทำไมการทำงานเป็นทีมถึงใช้รูปท่านพุทธาสที่นั่งสงบนิ่งอยู่เพียงลำพัง

 

จากทุกข้อที่ผ่านมาทั้งหมดอาจทำให้ผู้อ่านนึกถึงคนคนนึงที่ทำงานเก่งมากๆ โซโล่เดี่ยวได้ทุกอย่างโดยต้องพึ่งพาใคร

แต่การศึกษากลับพบว่าคนที่ productive ทำงานได้มีผลงานมากๆ กลับไม่ใช่คนประเภทนั้น เพราะสุดท้ายหากมองในมุมขององค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลงานของแต่ละคนก็ไม่ใช่อะไรมากกว่าชิ้นส่วนจิ๊กซอเล็กๆ ที่ถักทอ ออกมาเป็นภาพใหญ่ในสิ่งที่องค์กรทำ นั่นคือพันธกิจหรือเป้าหมายของบริษัทนั่นเอง

หากคุณเป็นศิลปินเดี่ยวหรือฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครมากนัก ทีมของคุณก็ไม่ใช่ใครนอกเสียจากลูกค้าที่คอยสนับสนุนสินค้าและบริการ การรับฟังปัญหา การเข้าอกเข้าใจลูกค้าก็ยังเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการเสนอคุณค่าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ดี

 

เช่นนั้นแล้วจงทำงานเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวคุณ หรือที่ท่านพุทธาสภิกขุ เคยใช้ศัพท์พระว่า “ทำงานด้วยจิตว่าง” หรือการลดอีโก้ลดตัวตนในผลงานที่เราทำ  แล้วถอยออกไปมองภาพใหญ่ว่าเราทำงานนี้เพื่อใคร ใครจะได้รับประโยชน์…เมื่อถึงคราวที่ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน การฟังเสียงสะท้อนจากคนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ผมอยากให้ผู้อ่านลองดูเรื่องเล่านี้ก่อนครับ (อ้างอิงจากบทความนี้)

 

ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ไปที่สำนักงานใหญ่ของนาซ่าเป็นครั้งแรก ในขณะที่กำลังตื่นตาตื่นใจเดินทัวร์ไปตามสถานที่ต่างๆ เขาก็พบกับคนถูพื้นเดินสวนผ่านมา ก็เลยถามว่า “คุณทำอะไรอยู่ที่นี่หรือครับ ชายพนักงานทำความสะอาดคนนั้นก็กล่าวตอบด้วยท่าทีปกติธรรมชาติว่า “กำลังช่วยส่งมนุษย์ชาติไปดวงจันทร์ครับ”

 

นี่แหละครับคือสิ่งที่เรีกยว่าการ “ทำงานด้วยจิตว่าง” เป็นการทำงานที่ลดเอาเปลือกนอกทั้งหมดออกไป แล้วเข้าไปสู่แก่นข้างในว่า “เราทำสิ่งที่เราทำไปทำไม” หลายๆคนเจอปัญหาการชิงดีชิงเด่นในออฟฟิศ การหมั่นไส้เวลาเสนอไอเดียในที่ประชุม อาการอารมณ์เสียเมื่อถูกซักถามในโปรเจกที่เราดูแลอยู่

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบ่อนทำลายประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ถ้าเมื่อใดเราตอบตัวเองได้ชัดว่าเราทำสิ่งที่เราทำทั้งหมดไปทำไม? เรื่องน่าปวดหัวทั้งหมดเหล่านี้ก็จะหายไป

(เตรียมอ่านบทความที่นำเสนอพลังของการเริ่มต้นด้วยคำว่าทำไม, start with why ได้ในเร็วๆ นี้)

 

เรากำลังกวาดพื้นใช่ไหม ?

หรือเรากำลังช่วยส่งคนไปดวงจันทร์ ?

นั่นคือคำตอบที่คุณต้องค้นหาเองว่าคุณค่าของงานที่คุณทำในทุกวัน…คืออะไร ?

 

ก่อนจากไปผมอยากให้ผู้อ่านลองถามตัวเองในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่ามีครบแล้วหรือยัง สามารถพัฒนาตรงไหนได้อีกบ้าง

1.กล้าลุยกับเป้าหมายที่ท้าทาย(Set stretch goal.)

2.กัดไม่ปล่อย(Show consistency)

3.รู้จริงในสิ่งที่ทำ(Have knowledge and technical expertise)

4.วัดกันที่ผลลัพธ์(Drive for results)

5.โอบรับปัญหา(Anticipate and solve problems)

6.ลงมือทำ(Take initiative)

7.ทำงานเป็นทีม(Be collaborative)

 

เมื่อผมอ่านจบลงผมก็พบว่าจริงๆ แล้วแนวคิดเหล่านี้มันไม่เพียงแต่ใช้ได้ในโลกการทำงาน แต่มันประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่องในชีวิต…คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมนั่งเทียนเขียนขึ้นมา แต่เป็นคุณสมบัติที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากงานศึกษาคุณภาพระดับโลก…คนที่ทำงานเก่งมากๆ เหล่านี้ใช้แรงน้อยกว่า ทำได้ถูกจุดกว่าแต่ประสบความสำเร็จและสร้างผลงานได้มากกว่า

หากเรามองเผินๆ เราก็อาจจะนึกชื่นชมว่าคนเหล่านี้เหมือนโชคดีที่เกิดมาเก่ง ทั้งที่ความจริงแล้วการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมันก็มีกรอบวิธีคิดของมัน และ

 

คุณสมบัติเหล่านี้เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้

เราอาจจะไม่ต้องเก่งเทพระดับเลอเลิศ แต่ขอให้เราได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้คุ้มค่าและเก่งกว่าเมื่อวานวันละนิดสะสมไปทุกวัน

ตัวเราเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมคงอยู่อีกไม่ไกล


 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน