Loading

wait a moment

Make love, not war: ไม่ง่ายหรอกที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะไม่เกลียด

Make love, not war
ภาพจากสำนักข่าว Reuters
Inspiration to be open minded starts here

Imagine there’s no countries
It isn’t hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion too
Imagine all the people living life in peace

 

ลบเส้นแบ่งแห่งรัฐชาติ..ลองวาดฝัน


เพียงเท่านั้นเรื่องร้ายๆก็คลายคลี่


ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องรีบเอาชีพพลี


และ ไม่มีเส้นทางต่างศรัทธา

ลองนึกภาพ ผองชนคนทั้งหลาย


สุขสบายสันติธรรมค้ำคุณค่า

 

คำแปลงดงามโดยกองบรรณาธิการ publicpostonline

John Lennon – Imagine

 

คำที่ห่างไกล ชิดใกล้กว่าที่เราคิด

หลายๆ ครั้งเราพบว่าท่ามกลางศัพท์ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันนั้น มีบางคำที่เหมือนอยู่บนหอคองาช้าง หากเปรียบเป็นคนก็มีนิสัยดูเย่อหยิ่ง หากใครใช้บ่อยๆ ก็อาจก่อให้เกิดความหมั่นไส้แก่ผู้พบเห็นได้ ประมาณว่าคุณจะให้ปืนกระไดอ่านเข้าใจศัพท์อันเลิศหรูวิจิตรของคุณหรือยังไง

มายาคติ” เป็นหนึ่งคำที่อาจจะจัดอยู่ในคำศัพท์ประเภทนั้น…ครั้งแรกที่ได้ยินอาจจะนานมาแล้วตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือใหม่ๆ แต่พักหลังราวสองสามเดือนมานี้ที่ผมเริ่มเสพข่าวเชิงการเมือง เชิงสังคม เชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ความถี่ของมันที่กระทบตาก็ถี่ขึ้นเป็นเงาตามตัว

แล้วความหมายของมันคืออะไรล่ะ? ในเบื้องต้นนั้นผมก็ใช้หลักการเดาเอาจากสิ่งแวดล้อมและบริบทรอบข้างของคำนั้น ก็ได้ความประมาณว่า…เป็นสิ่งไม่จริง เป็นสิ่งที่ลวงของความคิดความเชื่อต่างๆ ในสังคม ในตอนแรกผมก็คิดเป็นเพียงระนาบแบนๆไปว่า โอเคร เมื่อมีคนมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นมายาคติแสดงว่าสิ่งนั้น “ต้อง” ไม่จริงแน่ๆ และหน้าที่ของเราก็คือการหาคำตอบหรือขุดคุ้ยว่าไอตัวความจริงที่ถูกมายาคติเคลือบทับอยู่คืออะไร

ซึ่งก็มักจะหาได้ไม่ยากเนื่องจากผู้ใดที่กล่าวอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นมายาคติก็มักจะเสนอสิ่งที่ “ไม่ใช่” มายาคติหรือความเป็นจริงแท้ควบคู่กันมาข้างๆ กัน พูดง่ายๆว่าใช้คำนี้มาเพื่อสร้าง augument เพื่อตบเอาระบบความคิดบ้างอย่างให้ตกไปแล้วชูเอาสิ่งที่ผู้เขียน(เชื่อว่า) จริงขึ้นมาทดแทน

 

ถอดความเทพพนม | พิเชษฐ กลั่นชื่น | TEDxBangkok
TED talk อันหนึ่งที่สาธิตความจริงของธรรมชาติ และ ความจริงทางวัฒนธรรมที่อาจสวนทางกันในบางครั้ง การเรียนรู้ที่จะเปิดใจให้กว้างจะทำให้มายาคติของเราจางลงไปได้

ความจริงตามธรรมชาติ X ความจริงทางวัฒนธรรม

เมื่อสองเดือนก่อนผมดู TED TALK ที่น่าสนใจมากๆ อยู่อันหนึ่ง…น่าแปลกที่คนพูดไม่ใช่ฝรั่งในอเมริกาหรือยุโรปแต่กลับเป็น “คนไทย” มันแปลกก็เพราะเรื่องที่พูดมันค่อนข้างเอียงซ้ายไปจนสุด เรียกได้ว่าแทบจะตบหน้าคนดูที่เป็น “อนุรักษ์” เสียเปิดเปิง…

“ขอยืมรองเท้าหน่อยครับ” ผู้บรรยายบุคลิกแปลกๆ กล่าวอย่างเสียงมั่นใจไปยังคนบนขอบเวที…เขาทำอะไรกับรองเท้าคู่นั้นรู้ไหมครับ….วางไว้บนหัวตลอดการบรรยายนั่น (รองเท้าเนี่ยนะ)

ก่อนจะจบการบรรยายมีการสรุปใจความทั้งหมดสั้นๆว่า สิ่งใดๆ ในโลกที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่เกิดเนี่ยสามารถแบ่งออกได้เป็น หนึ่ง ความจริงของธรรมชาติ สอง ความจริงทางวัฒนธรรม เขาให้แง่คิดเราว่ารองเท้าที่อยู่บนหัวเนี่ยความจริงก็คือเครื่องหุ้มเท้า ที่ไม่ควรมาไว้บนหัวเพราะสกปรก แต่การอ้างว่าเป็นของต่ำไม่ควรจะเอามาไว้ใกล้หัวซึ่งเป็นของสูง ณ จุดนี้ที่เรียกว่าความจริงทางวัฒนธรรม และเมื่อมันเป็นเป็นวัฒนธรรมนั่นก็แสดงว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้

เขาเตือนเราว่าบางทีเราก็ต้องยอมรับที่จะทำลายความจริงทางวัฒนธรรมบางอย่างลงไปบ้างเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความจริงทางธรรมชาติบ้าง…

ในบรรดา TED TALK ที่ฟังมาเป็นร้อยตอน ต้องยอมรับว่าภาพรองเท้าบนหัวคู่นั้นไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำ

 

เมื่อมีพันธุ์ปลาลึกลับ ลูกโป่งหลากลายสีสัน ผู้คนจึงไม่เหมือนกัน

“ไม่เอาทรงผมนักเรียน ไม่เอาเคารพธงชาติสวดมนต์หน้าเสาธง ไม่เอาหมอบกราบงานวันครู”…เนติวิทย์ได้กล่าวไว้ในคลิบสุดท้ายก่อนเรียนจบมัธยมปลาย

“ไอ้เด็กนรก” “หน้าอย่างมึงไม่น่าเกิดมาในสังคมไทยเลย” “คนทรยศชาติ” นี่แค่ส่วนหนึ่งในคำด่าทอที่อยู่ใน comment ใต้สเตตัสคลิบวีดีโอนั้น….ผมไม่อาจตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือไม่ถูก แต่แน่แหละในใจผมย่อมมีคำตัดสินว่าสิ่งใดเหมาะไม่เหมาะ….

ในเย็นวันนั้นเองในขณะที่ผมเดินกลับจากข้างนอกมาในซอยหอพักของตัวเอง…เหมือนกับทุกอย่างมันเคลื่อนไหวช้าลง คนแปลกหน้ามากมายที่เดินผ่านผมไปคนแล้วคนเล่า…ผมมองพวกเขาแต่ละคน เมฆหมอกบางๆที่ลอยอยู่เหนือหัว คอยบงการให้แต่ละคนมองเหตุการณ์บางอย่างด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันไป

เป็นวินาทีมหัศจรรย์ที่ผมเลิกตัดสินคนชั่วขณะ เลิกมองว่าสิ่งไหนดีไม่ดี สิ่งไหนถูกหรือผิด ผมยืนอยู่ตรงนั้นแต่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น รู้สึกเหมือนเป็นวิญญาณล่องหนที่ละเอาตัวเองออกไป ณ จุดที่ยืนอยู่ เลิกมองภาพสะท้อนตัวเองในกระจกร้านบาร์เบอร์เมื่อเดินผ่าน เลิกแคร์ว่าคนอื่นจะคิดกับเราอย่างไร เหมือนผมยืนอยู่บน “ขอบเหวทางวัฒนธรรม” เบื้องล่างเป็นธารน้ำไหล ปลาแต่ละสายพันธุ์ที่แหวกว่ายผ่านไปมามีโลกของตัวเอง

 

ลึกลงไป…เราอาจไม่ต่างกัน

“มายาคติ” ผมไม่รู้หรอกว่าในพจนานุกรมบัญญัติไว้ว่าอะไร ความหมายที่ถูกต้องเป็นแบบไหนตามที่นักวิชาการสายสังคมเค้าเรียกกัน ทำให้รู้ว่าคำบางคำที่ดูยากๆ ดูฉลาดๆ มันอาจจะไม่ใช่ความประดิษฐ์ ไม่ใช่ความตอแหลของผู้ใช้มันก็ได้ บางทีมันอาจเป็นคำที่ยากจะระบุลงไปให้ชัดเจน เป็นคำศัพท์ทางนามธรรมบางอย่างที่อาจจะเข้าถึงได้ในบางขณะจิตเท่านั้น…สำหรับผมมันเกิดขึ้นตอนเดินผ่านผู้คนในซอยแออัดนั้นเอง

 

“บางอย่างไม่อาจรับรู้มันด้วยตา แต่มันรับรู้ได้ด้วยใจ เราไม่ต่างกัน”

 

“ไม่ต่างกัน” ในที่นี้คงไม่ได้หมายความว่าเราเห็นกันตรงทุกอย่าง แต่คงเป็นซักวันนึงในอนาคตที่คนเราทุกคนคระหนักได้ว่าท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด อย่างน้อยก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่พวกเรามีอยู่เหมือนกัน นั่นคือกะลาใบน้อยๆที่ครอบหัวตัวเราอยู่ กะลาที่สร้างโลกทางคุณค่าของสิ่งต่างๆ ขึ้นมาทั้งใบ ซักวันหนึ่งที่เรารู้ว่าขีดจำกัดของมนุษย์ทำให้เราไม่อาจรู้ ไม่อาจเห็นได้ทุกอย่าง และเราก็มักจะสับสนระหว่างความจริงทางวัฒนธรรมกับความจริงตามธรรมชาติ

“เชรี่ย เลิกไหว้ครูเนี่ยนะ เด็กห่าอะไรวะเนี่ย” มันคือความคิดของผมในวันที่เปิดเจอคลิบเนติวิทย์ครั้งแรกและปิดคลิบทันที

จะมีไหมที่เราจะเลิกด่าทอ หยามเหยียด ฆ่าฟัน คนที่มีความคิดต่างจากเราในเมื่อเราไม่สามารถ อดทนพอจะฟังความคิดที่ต่าง

เมื่อวานผมย้อนกลับไปฟังคลิบนั้นอีกรอบ ไม่ใช่เพราะเห็นด้วย แต่อยากไปฟังให้จบถึงเหตุผลเบื้องหลังความคิดนั้น

พอฟังจบผมเลิกโกรธหรือโมโหแล้ว ไม่ใช่เพราะเห็นด้วย แต่เพราะเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวประกอบสร้างเขาขึ้นมา

 

  “แทนที่ความเกลียด ด้วยความเข้าใจ”…

มันเกิดขึ้นกับผมได้ และมันคงเกิดขึ้นได้กับทุกคน

 

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน