Loading

wait a moment

อ่านยังไงไม่ให้ลืม:The forgetting curve เส้นโค้งมรณะแห่งการหลงลืม

=====
❶ เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวาเป็นเรื่องจริง
=====

ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความรู้ต่างๆ ที่เราพยายามเรียนรู้และจดจำจะหายไปจากความรับรู้ของเราได้เร็วมากกว่าที่เราคิด

.

จากการศึกษาในปี 1885, Hermann Ebbinghaus ได้ทำการทดลองที่เป็นรากฐานความเข้าใจของมนุษย์ในความสามารถในการจดจำข้อมูล จนสุดท้ายกลายมาเป็นกราฟที่มีชื่อว่า Ebbinghaus’ Forgetting Curve
.
จากกราฟพบว่ามนุษย์โดยทั่วไปแทบจะลืมสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่มาได้ไวมากๆ แม้ว่าการทดลองซ้ำอาจให้ผลแตกต่างออกไปบ้าง และแน่นอนว่าในแต่ละบุคคลก็มีกราฟที่เป็นของตัวเองแตกต่างกันไป
.
แต่แนวโน้มที่ไปในทิศทางเดียวกันคือหลังจากเวลาผ่านไปเพียง 2-3 วัน เราจะจดจำข้อมูลต่างๆที่พยายามจำได้เพียงแค่ 20% เท่านั้น
.
นั่นหมายความว่าหากเราเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะแยะมากมาย แต่เอาเข้าจริงแล้วหากกางหนังสือเหล่านั้นแล้วสุ่มถามรายละเอียดที่อยู่ภายในเราอาจตอบมันแทบไม่ได้ถึงแม้อาจจะอธิบายแนวคิดหรือภาพรวมใหญ่ๆของหนังสือเล่มนั้นได้ก็ตาม

=====
❷ เราจดจำเพื่อเติบโต และเติบโตเพื่อจดจำ
=====

ถ้ามองว่าการเติบโตของชีวิตคือการที่เราเข้าใจ ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปของปรากฎการณ์รอบตัวต่างๆมากขึ้นทุกวัน
.
เด็กน้อยอาจอยากซื้อขนมซักถุงเพราะมันแถมของเล่นอยู่ภายใน แต่เด็กคนเดียวกันนั้นเมื่อผ่านไป 10 ปีจะเติบโตและรู้ถึงความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริงว่าต้องการสิ่งใด และมองว่าของแถมเหล่านั้นเป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดเท่านั้น
.
ความสามารถในการเรียนรู้ จดจำ เข้าใจ จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะช่วยหนุนนำให้คนเราสามารถเติบโตขึ้นได้
.
ชายหนุ่มไฟแรงจบใหม่อายุ 20 ต้นๆ ย่อมมองโลกต่างจากชายอายุ 50 ปีที่ผ่านหลายร้อนหนาว
.
ริ้วรอยบนใบหน้าจึงไม่ได้บอกเพียงอายุ
แต่บ่งบอกถึงความเติบโตภายในที่มีความสามารถในการเรียนรู้จดจำเป็นเครื่องมือ

=====
❸อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
=====

ในภาพยนต์ Eternal Sunshine of the Spotless Mind พระเอกของเราพยายามอย่างหนักที่จะลืมความสัมพันธ์ที่ผ่านพ้นไปด้วยการล้างสมอง แม้จะทำได้ยากเพียงใด เรื่องราวเหล่านี้ถูกบอกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าในต่างยุคสมัย ต่างวัฒนธรรม ต่างตัวละคร
.
แต่เป็นเรื่องที่แน่นอนว่ามีบางเลือกที่เราอยากลืมแต่ก็ไม่ลืม
และมีอีกหลายอย่างที่เราอยากจดจำแต่ก็ต้องสูญเสียมันไป
.
ถึงแม้การจดจำและการหลงลืมจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามชะตากรรม โดยเฉพาะหากเราอยากจะเพิ่มสมรรถภาพในการเรียนรู้เรื่องใดๆก็ตาม
.
“learn how to learn” จึงเป็นคำศัพท์ที่มีความสำคัญโดยแปลเป็นไทยได้ว่า “เรียนรู้วิธีเรียนรู้” และในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้จะมาช่วยอะไรเราในเรื่องนี้ได้บ้าง

=====
❹ Repetition (ฉันอยากจะย้ำ อีกสักครั้งให้เธอฟังฉัน
====

“ผมไม่กลัวคนที่ฝึกเตะ 10000 ครั้งภายในยกเดียว แต่ผมกลัวคนที่ฝึกเตะทีละ 1 ครั้ง ทั้งหมด 10000 รอบมากกว่าเสียอีก”

-Bruce Lee

งานนี้บอกได้เลยว่าบรูซลีพูดได้มีประเด็น
เราจะมาไขกันว่าทำไม “ช่วงเวลา” หรือ “จังหวะ” ในการเรียนรู้ ฝึกฝน ทบทวน จึงสำคัญในการจดจดและพัฒนาทักษะหรือความรู้มากนัก

จากกราฟ “Ebbinghaus’ Forgetting Curve” ทำให้เรารู้ว่าเราแทบจะลืมทุกสิ่งอย่างไปเกือบ 90% เมื่อเวลาป่านไปประมาณเดือนหนึ่ง แต่โชคดีที่การศึกษานี้ค้นพบเช่นกันว่าเราสามารถที่จะลดความเร็วในการลืมสิ่งที่เราเรียนรู้ใหม่ได้

วิธีการนั้นคือการเรียนรู้สิ่งใหม่โดยต่อยอดจากสิ่งที่เราเคยรู้อยู่แล้วอย่างที่นักเขียนบล๊อคเกอร์ชื่อดังที่มีชื่อว่า Scott H Young
เคยกล่าวไว้ว่า

“แทนที่จะกรอกข้อมูลใส่สมองเยอะๆเข้าหัวแล้วหวังว่าเราจะดึงออกมาใช้ได้ตอนที่เราต้องการ เราควรใช้วิธีการเรียนรู้แบบองค์รวมซึ่งใช้วิธีการค่อยๆถักทอร้อยเรียงความรู้ใหม่เข้ากับสิ่งเดิมที่เรารู้หรือเข้าใจอยู่ก่อนแล้ว”

แม้แต่ Elon Musk CEO บริษัทขนส่งอวกาศที่ล้ำหน้าที่สุดบนโลกก็ยังแนะนำวิธีนี้เช่นกันโดยเรียกมันว่า The tree of knowledge โดยเน้นที่การสร้างรากฐานของความรู้พื้นฐานให้แข็งแร็ง ซึ่งจะทำใหห้เรามีแก่นของลำต้นความรู้ที่แข็งแรงมากพอให้ความรู้ใหม่ได้เกาะยึดเหนี่ยวได้ดีขึ้นและหลงลืมน้อยลง

=====
❺ สิ่งที่มีความหมายไม่เคยหายไป
=====

ในห้วงสุดท้ายของชีวิต เราจะนึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายกับเราจริงๆ

หากถามคุณว่าเมื่อวันพฤหัสที่แล้วกินอะไรเป็นมื้อเที่ยง คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถตอบได้หรอกครับถึงแม้มันจะเพิ่งผ่านมาไม่กี่วันก็ตามที
.
แต่น่าแปลกที่เราอาจจะจำความรู้สึกวันแรกของการเปิดเทอมมัธยมต้นเมื่อหลายสิบปีก่อนได้ เราอาจจะจำได้ว่าประโยคสุดท้ายที่พูดกับอดีตคนรักคนแรกของเราว่าอย่างไร
.
ใจความสำคัญของข้อนี้ก็คือมนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อให้จดจำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายกับเราจริงๆ โดยมักจะเกี่ยวโยงร้อยเรียงอยู่กับความทรงจำอื่นๆ ที่ถูกถักทอด้วยอารมณ์ต่างๆอย่างเข้มข้น…ส่วนอะไรที่ธรรมดาๆเจอในทุกวัน (หรืออย่างน้อยสมองก็คิดอย่างนั้น) เราก็จะสูญเสียมันไปตลอดกาล
.
ยิ่งเหตุการณ์นั้นสะเทือนใจมากเท่าไหร่ เกี่ยวโยงกับเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสลืมมันได้น้อยลงเท่านั้น

=====
❺ ให้ความคิดสร้างสรรค์นำทางไป
=====

หลักการสองข้อที่ผมได้กล่าวมาเป็นเหมือน foundation หรือรากฐานของความรู้
.
คือลำต้นแกนกลางของวิธี “learn ho to learn” ในการจดจำ
แต่ความจริงแล้วเราสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการจดจำได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามในขณะที่อ่าน การจดโน๊ต การจินตนาการว่าความรู้นั้นเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันเราอย่างไรบ้าง
.
เทคนิควิธีการเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ หากใครอยากลองสำรวจเทคนิคเบสิกที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงสามารถเข้าไปอ่านได้ในบทความนี้ครับ https://goo.gl/39Lz11

===
ส่งท้าย
===

สุดท้ายเคล็ดลับในการจดจำก็ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการประยุกต์ใช้หลักการสองข้อนี้ ถ้าสิ่งที่คุณเรียนรู้ใหม่มันยากหรือดูซับซ้อน ก็จงวกหลับไปหารากฐานของความรู้นั้นและทำความเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงมันเข้ากับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วเพื่อถักทอให้ข่ายใยของความรู้นั่นแผ่ขยายออกไป
.
ถ้ามันเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับเรามากเท่าไหร่ กราฟการหลงลืมก็ยิ่งลดลงช้าเท่านั้นจึงไม่ต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นบ่อยมากนัก
.
แต่ถ้าสิ่งที่เราพยายามจะจำเป็นเพียงข้อเท็จจริงแห้งๆ เราก็อาจจะต้องอาศัยเทคนิคการจดจำต่างๆ เพิ่มเข้าไปและสละเวลามาทบทวนมันบ่อยๆเพื่อเปลี่ยนให้เป็นความทรงจำระยะยาว
.
สำหรับบทความต่อๆไป เราจะมาเจาะลึกกันว่าเราจะมีวิธีเพิ่มความเกี่ยวโยงของความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมอย่างไรได้บ้าง รอติดตามนะครับ

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน