Loading

wait a moment

3 สิ่งที่บ่งบอกว่าคุณเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่ง [what it take to think deeply about the problem]

คุณคิดว่าคุณเป็นคนที่รับมือปัญหาได้ดีหรือเปล่า?

ประโยคนี้ผุดขึ้นในขณะที่ช่วงชีวิตมีปัญหาต่างๆ ถาโถมเข้ามาจนเหมือนจะรับมือไม่ไหว ซึ่งไม่ว่าใครๆก็คงจะต้องมีโมเม้นแบบนี้บ้างในช่วงชีวิต นั่นทำให้ผมรู้สึกเตะตาเป็นพิเศษกับบทความชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ Harvard business review  ที่มีชื่อว่า ‘what it take to think deeply about the problem’  และมันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาเขียนบทความเรื่องนี้นั่นเอง

 

นั่นสินะ แม้ว่ามนุษย์เราจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผลได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังคงเป็นสัตว์โลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ พฤติกรรมแทบทุกอย่างในชีวิตของเราล้วนถูกผลกระทบจากอารมณ์และความรู้สึกในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก….และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งเท่านั้น

–           พฤติกรรมของเราตั้งแต่เช้าจนกระทั่งหลับตาฝันล้วนมีแบบแผนคาดเดาได้เป็นผลมาจากกิจวัตร

แล้วนิสัยที่คุณเคยชินเหล่านั้นส่งผลดีผลร้าย หรือช่วยให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายหรือไม่ (อยากลดนํ้าหนัก แต่ติดนิสัยนอนดึก กินจุกจิก คุณคิดว่าจะทำสำเร็จไหม ?)

–           การคิด การมองโลก การตัดสินใจของเราเต็มไปด้วยความผิดพลาด ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Fallacy ซึ่งถูกฝังลึกอยู่ในวิธีคิดของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น Sunk Cost Fallacy ที่ทำให้เราทนทำบางสิ่งบางอย่างต่อไปแม้จะไม่ให้ผลที่ต้องการแล้ว เพียงเพราะรู้สึกเสียดายสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปในอดีต ตัวอย่างคลาสสิกคือการทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเพียงเพราะทนอยู่ด้วยกันมานานแล้ว

–           การผัดวันประกันพรุ่งเพื่อหลีกหนีปัญหา ทั้งๆ ที่วิธีที่ดีที่สุดในการ ‘ก้าวต่อไป’ ในชีวิต จำเป็นต้องอาศัยการยอมรับและเผชิญหน้ากับปัญหา และเรียนรู้จากมันเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพราะจริงๆแล้วปัญหาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคู่ควรกับความสำเร็จ

จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกสงสัยในความสามารถของตัวเอง และคิดว่าการศึกษากรอบความคิดเหล่านี้ และนำมาแบ่งปันกับผู้อื่นจะทำให้เราทุกคนไม่ตกหลุมพรางที่ว่ามาอีกต่อไป

1.ท้าทายต่อความเชื่อเดิม—คุณแน่ใจแค่ไหนในสิ่งที่คุณเคยรู้มา

 

“We cannot solve our problems with the same level of thinking that created them.”

เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาหรือไขความลับของสิ่งใด ด้วยการมองปัญหาเหล่านั้นในระดับเดียวกับที่มันถือกำเนิดขึ้นมา

Albert Einstein

ลองดึงตัวเองออกไปจากมุมมองเดิมๆ แล้วอาจจะเข้าใจคำว่า ‘เส้นผมบังภูเขา’

 

คุณลองนั่งนิ่งๆ หยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง หายใจเข้าลึกๆ แล้วลองจินตนาการว่าคุณมองตัวเองลงมาจากมุมห้องที่ตัวเองนั่นอยู่ เขาคนนั้นกำลังรู้สึกอะไร เขาคนนั้นกำลังคิดอะไรอยู่ เขาคนนั้นกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่บ้าง แล้วเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง (ลองทำดูจริงๆ สิครับ)

.

.

.

คุณรู้หรือไม่ครับว่าสิ่งที่คุณทำเมื่อซักครู่นี้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนบนโลกสามารถทำได้ อันที่จริงการถอดจิตใจเฝ้าดูตัวเองเพื่อมองเห็นความเป็นจริงในอีกระดับขั้นหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ชาติก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ได้…เช่นเดียวกับที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราคิดจะหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องใดก็ตาม เราจำเป็นที่จะต้องมองให้กว้างมากพอ เราต้องพยายามมองปัญหาจากหลายๆ มุม ทั้งมุมกว้างและลึก เพื่อที่จะหาทางออกของปัญหาได้

ทิปเล็กๆ ที่บทความนี้เสนอไว้ก็คือการใช้พลังของคำถามสองข้อคือ

1.มีอะไรอีกไหมที่เรามองไม่เห็นในตอนนี้ (what am I not seeing here?)

2.มีอะไรนอกจากนี้อีกไหมที่อาจเป็นจริงแต่เราไม่รู้ในตอนนี้ (what else might be true?)

เครดิทภาพจาก jamesclear.com

ทำไมคำถามเหล่านี้ถึงสำคัญ?

เป็นที่รู้กันดีอยู่ในแวดวงจิตวิทยาอยู่แล้วว่า มนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความผิดพลาดทางการคิดที่เรียกว่า “confirmation bias”

หรือที่แปลเป็นสำนวนไทยได้ง่ายๆ ว่า “อาการคิดเอง เออเอง” 

บริษัทสื่อดิจิตอลใหญ่ๆ ในโลกยุคปัจจุบันรู้จักสิ่งเหล่านี้และสร้างผลกำไรมหาศาลจาก ‘จุดอ่อน’ ที่ฝังอยู่ในมนุษย์ทุกคน

เคยเป็นเหมือนผมหรือไม่ที่เคยหลงคิดไปว่าโลกใน Facebook เป็นโลกทั้งใบของเรา ผ่านการเลือก News feed ที่สะท้อนความคิดเห็นและความสนใจที่คล้ายๆ กัน ทั้งๆที่ความจริง มีโอกาสสูงมากที่ “โลกจริงๆ” ข้างนอกนั่นอาจไม่ได้เหมือนกับสิ่งที่กลุ่มสังคมเพื่อนในเฟสบุ๊คที่เราก็มักเลือกเกี่ยวเนื่องกับคนที่มีความคิดความเชื่อคล้ายๆเรา และแอบเหมารวมไปว่านั่นคือ “โลกทั้งใบ” ทั้งที่ๆ ความเป็นจริงเป็นเพียงกะลากระจกใสใบน้อยที่เรามองไม่เห็น ซึ่งมีคำเรียกในภาษาอังกฤษเสียด้วยซ้ำว่า Social Media Echo Chambers

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราใช้วิธีคิดแบบเดียวกันนี้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายังวนเวียนอยู่กับโลกทัศน์ที่ซํ้าวน โดยไม่สามารถเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ?

 

เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเรายังคงแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดียวที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ทีแรก

 

คำถามทั้งสองที่ผมได้กล่าวไป จะช่วยให้เราฝึกที่จะมองปัญหาจากบริบทที่แตกต่างออกไป และอาจทำให้คุณพบทางออกของปัญหาที่ดูเหมือนมีแสงแห่งความหวังอยู่เพียงริบหรี่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกครั้งที่สมองของคุณเรียนรู้ที่จะใช้ระบบการคิดในลักษณะนี้ มันจะเป็นการฝึกตัวเองให้กลายเป็นคนที่มองโลกตามที่มันเป็น มากกว่าสิ่งที่คุณอยากให้มันเป็น

2.งานแรกของวัน—งานที่ยากและสำคัญที่สุด

Brian Tracy ผู้เขียนหนังสือ “EAT THAT FROG” ซึ่งผมถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือฮาวทูที่เขียนอธิบายในเรื่องเทคนิคการบริหารเวลาได้ดีที่สุด สั้น กระชับ เรียบง่าย และปฎิบัติตามได้ในทันที เคยพูดไว้ว่า

            “ความสำเร็จใดๆก็ตามที่ผมมีทั้งหมดในชีวิตนี้ ผมขอยกให้กับนิสัยของผมที่เรียนรู้ที่จะเริ่มทำงานที่สำคัญที่สุดของวันเป็นอย่างแรกในทุกๆวันที่ผมตื่นมาตอนเช้า”

หากจะมีหลักคิดหนึ่งข้อที่ผมต้องเตือนตัวเองมากที่สุดในชีวิต ก็คงจะเป็นหลักการข้อนี้แหละครับ ในชีวิตนี้ผมเห็นคนเก่งมาหลากหลายคน แต่ผมก็พบว่ามีคนจำนวนมาก (รวมถึงตัวผมเอง) ที่มีความฝัน มีพลัง มีความเชื่อ เต็มไปด้วย passion  แต่กลับพบว่าในแต่ละวันที่ผ่านไป ความสำเร็จก็ยังคงดูเหมือนห่างไกล หลายๆครั้งทำอะไรไปมากมายแต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่ได้สลักสำคัญหรือช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายเลยสักนิด เราผัดผ่อนการงานที่ยากทว่าสำคัญออกไปเรื่อยๆ

เราทำงานหลากหลายมากมายแต่ไม่โฟกัส

แต่วันนี้ผมเปลี่ยนไปแล้ว…ในทุกๆ เช้าที่ตื่นมาผมมีความชัดเจนในตัวเองมากขึ้นด้วยหลักการทำสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ การเขียนบทความให้ดีที่สุด ผ่านการทำ research ข้อมูลที่แน่นหนาที่สุด และไม่หยุดที่จะขยายขอบฟ้าในทักษะการเขียนให้กว้างออกไปมากขึ้น…ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่เรื่องของความเชื่อไร้สาระ แต่เป็นหลักความจริงง่ายๆ ที่ว่า

“ทุกสิ่งไม่ได้มีความสำคัญเท่ากันหมด”

 

เวลาของโลกเรามีจำกัด และเราไม่อาจแคร์หรือทำทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดได้  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ  Pareto principle  ที่ว่าผลงานกว่า 80% เกิดขึ้นจากการลงแรง เวลา และความทุ่มเทขององค์ประกอบเพียง 20% เท่านั้น

หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ เราสามารถ “เลือก” ที่จะทำไม่กี่อย่าง แต่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์มหาศาล…

 

 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Brian  tracy ตั้งชื่อหนังสือว่า “กินกบตัวนั้นซะ”

ถ้าหากเลือกได้ใครๆ ก็อยากจะกินขนมหวาน มากกว่ากบตัวเขียวเมือกลื่นๆ เป็นอย่างแรกของวันหรอก แต่ถ้าโจทย์ของชีวิตคือการกินกบตัวเป็นๆ อย่ารอช้าที่จะสร้างนิสัย กินกบเป็นอย่างแรกในตอนเช้า ไม่รีรอ ไม่ลีลา เพื่อที่จะได้พบว่างานที่ยากและสำคัญที่สุดได้ลุล่วงไปแล้ว

เพราะอันที่จริง การกินกบก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าคุณตระหนักว่าแท้จริงแล้ว มันคือสิ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกวัน และอันที่จริงหากคุณมีเป้าหมายที่ดี ที่สอดคล้องกับคุณค่าที่คุณเลือก เป็นงานที่คุณรัก อย่าว่าแต่ไม่อยากกิน เผลอๆ กบตัวนั้นอาจจะอร่อยเสียด้วยซ้า…

เพราะชีวิตไม่ใช่การไล่ตามความสุข ทว่าเป็นการเลือกอยู่กับความทุกข์ที่คุณเลือกเอง

3.หมาป่าสองประเภทในตัวคุณ

The Tale of Two Wolves
The Tale of Two Wolves

ยังจำที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นบทความได้ไหมครับ…แม้เราจะมีวิธีคิดที่ดีที่สุด แต่ในท้ายที่สุดมนุษย์ย่อมถูกผลของอารมณ์เข้ามาเอี่ยวด้วยในการตัดสินใจอยู่ดี สำหรับผมเองข้อนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด ปัญหาใหญ่ๆ ที่แทบทุกคนต้องเผชิญคือศึกสงครามภายในใจของเราเอง เป็นการต่อสู้ของสมองส่วนเหตุผล และสมองส่วนอารมณ์ ดังที่มีภาษิตเก่าแก่เปรียบเทียบไว้ได้ดีมากๆ

 

“ในตัวของเรามีสงครามภายในเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน”

“เป็นการต่อสู้อันร้ายกาจรุนแรงระหว่างหมาป่าสองตัว”

“ตัวแรกคือหมาป่าความชั่วร้าย—ความโกรธ ความอิจฉา ความทนทุกข์ทรมาณ ความหยิ่งทนง ความรู้สึกผิด ความละอายในตนเอง ความหลงตัวเอง การคิดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น และอีโก้”

“อีกตัวหนึ่งเป็นหมาป่าแห่งความดี—ความเพลิดเพลิน ความสงบ ความรัก ความหวัง ความผาสุข ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ ความงามความจริง ความศรัทธา”

“การต่อสู้อันดุเดือดนี้เกิดขึ้นในตัวเธอและในตัวทุกคนๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “

หลังฟังจบ หลานชายนั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งก่อนถามว่า “แล้วใครชนะล่ะฮะคุณตา”

ผู้เฒ่าตอบว่า “ก็ตัวที่เจ้าให้อาหารมันนั่นแหละ”

 

มุมมองของนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน มนุษย์ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ยืนอย่างโดดเดี่ยวลำพังจากสายพันธุ์อื่นๆ อันที่จริงพวกเราเป็นแค่หนึ่งในผลิตผลของกระบวนการนับล้านปี เราเป็นแค่หนึ่งในนับแสน นับล้านของสปีชีส์ที่เคยดำรงอยู่และสูญพันธุ์ไปแล้ว

ลึกลงไปในระดับเซลล์เรามีรหัสพันธุกรรมที่ประกอบไปด้วยเบสสี่ชนิดไม่ได้แตกต่างกับแมลงหวี่ ตอนที่เรายังเป็นทารกในท้องแม่มีบางช่วงขณะที่เรามีปุ่มเหงือกไม่ต่างจากปลา

และที่สำคัญที่สุดคือลึกลงไปในสมองของเรา ยังมีส่วนของสมองที่ไม่ได้แตกต่างจากสมองกิ้งก่า สมองหนู สมองลิง

 

จุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้เรามีความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพิ่งจะถือกำเนิดมาได้ไม่นานที่เราเรียกกันว่าสมองส่วน Neocortex (สมองลิง) ซึ่งเป็นที่มาของระบบการคิดที่เราสามารถมองมาจากเบื้องบน ทำให้เป็นที่มาของรูปแบบการคิดที่เราเรียกว่า higher-level thinking แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังมีสมองแห่งสัญชาตญาณสัตว์ที่อยู่ลึกลงไปในเนื้อสมอง

 

-ความหวาดกลัวอุปสรรคที่ทำให้เราไม่กล้าออกจาก comfort zone

การยึดเหนี่ยวความคิดตนเองเป็นสูญกลางโดยไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ

-การมีมุมมองที่คับแคบและไม่แสวงหาทางเลือกใหม่ๆในการแก้ปัญหา

-การผัดวันประกันพรุ่ง ทำสิ่งไร้สาระเพื่อให้ได้ความสุขในปัจจุบัน(instant gratification) แต่แลกมาด้วยความทุกข์ในระยะยาว

THE EVOLUTIONARY LAYERS OF THE HUMAN BRAIN
THE EVOLUTIONARY LAYERS OF THE HUMAN BRAIN: สมองส่วนต่างๆ ของมนุษย์มีจุดกำเนิดที่แตกต่างกันทั้งสมองกิ้งก่า สมองลิง และสมองมนุษย์ ที่แต่ละส่วนทำงานแตกต่างกัน บ้างใช้อารมณ์ บ้างใช้เหตุผล

 

สิ่งเหล่านี้คือจุดอ่อนที่เรามีกันทุกคน ไม่ต่างกันในทุกชนชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม ฐานันดร ยากดีมีจน

สิ่งที่แยกแยะระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก และคนธรรมดาทั่วไปๆ อาจแฝงลึกอยู่ในข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สมองเหล่านี้

 

เราจำเป็นที่จะต้องมี growth mindset เพื่อที่จะเชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะควบคุมในพลังเหล่านี้ คุณอาจไม่จำเป็นต้องเก่งกาจ ฉลาดเลอเลิศหรือมีทักษะในการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนในแบบที่ผู้นำประเทศหรือ CEO  ของบริษัทระดับโลกต้องการ เพียงแค่เรารู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ และนำไปประยุกต์กับปัญหาส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ผมก็เชื่อว่ามันคงจะเปลี่ยนทั้งชีวิตผมเองและคนที่เข้าใจในหลักการนี้ไปไม่มากก็น้อย

อย่าลืม

1.เปิดใจให้กว้าง มองหาทางเลือกใหม่ๆ อย่าจมอยู่กับความคิดความเชื่อเก่าๆ

2.ไม่หลีกหนีปัญหาและเลือกที่จะเผชิญหน้าและเรียนรู้จากมัน

3.รู้เท่าทันตัวเองเมื่อสมอง lower-level thinking มาควบคุมสมอง higher level thinking ไม่ต้องฉลาดมาก แต่สูดหายใจเข้าลึกๆ และเลิกแก้ไขปัญหาด้วยอารมณ์

คุณรับมือกับปัญหาได้ดีหรือเปล่าครับ?

อย่าเพิ่งรีบตอบหรือคิดว่าเพียงแค่รู้ในสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้เราแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

ทดลองนำไปใช้…เลิกผัดวันประกันพรุ่ง อย่าเพิ่งทำอะไรทั้งสิ้น

ปิดมือถือ แล้วลิสต์ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด 3 ข้อในชีวิต แล้วเริ่มต้นแก้ไขมัน ดังคำกล่าวที่ว่า…

 

“ว่าวจะลอยขึ้นสูงได้ เพราะเหตุที่ต้านลม

ถ้าหมดลมว่าวก็ตก…

มนุษย์เราจะขึ้นสูงอยู่ได้ ก็เพราะต้องต่อสู้อุปสรรค

ชีวิตที่ไม่เคยพบอุปสรรค จะหาทางก้าวหน้าไม่ได้เลย”

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน