Loading

wait a moment

กรอบความคิดวิธีการตั้งเป้าหมาย 101: เป้าหมายที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไร ?

Photo33-960x640

 

วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการตั้งเป้าหมาย สำหรับบทความวันนี้ผมเกิดไอเดียว่าอยากจะให้มันมีลักษณะเป็น manual ที่ผู้อ่านจะสามารถ follow ตามได้ในการที่จะค้นหาเป้าหมายที่ตรงกับความต้องการของเราจริงๆ เป้าหมายที่จะสามารถ motivate เราได้จากส่วนลึกของจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นผมจะลองจินตนาการว่าเป็นการเขียนเพื่อคุยกับตัวเอง โดยระหว่างทางจะมีการสอดแทรกแนวคิดลงไปด้วยว่าผมมี principle หรือ mindset อะไรในการเลือกเป้าหมายบ้าง

มาเริ่มกันที่สิ่งพื้นฐานกันก่อน…ทำไมเราต้องตั้งเป้าหมายกันด้วย…ยอมรับว่าสมัยก่อนไม่มีคำถามในลักษณะนี้ เพราะมันก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าการตั้งเป้าหมายทำให้ชีวิตของเรามีบางสิ่งบางอย่างให้ไล่ล่า เป็นสิ่งที่คอยบอกเราว่าทุกเช้าที่ตื่นมาเราจะทำอะไร ไปเพื่ออะไร และผลลัพธ์ปลายทางของเราจะเป็นเช่นไร…เพราะฉะนั้นผมจะถือว่าคนอ่านบทความนี้ไม่ได้กำลังมาหาคำตอบว่าการตั้งเป้าหมายดีอย่างไร…แต่อยากจะรู้ว่าเป้าหมายที่ดีมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

ลักษณะของเป้าหมายที่ดี

1.สามารถมีพลังในการ motivate เราได้

นั่นคือความสามารถที่ทำให้เราหัวใจพองโต มีแรง มีพลังเมื่อนึกถึงมัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถ “pursuit of Goal” ได้ยาวนานมากพอที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้

ทว่าพลังที่ดี คือพลังแห่งทางสายกลาง…

2.ไม่ยากหรือไม่ง่ายจนเกินไป

The Goldilocks Rule
The Goldilocks Rule

ตามกฎ Goldilocks principle ที่กล่าวถึง “ความสมดุล” ของการตั้งเป้าหมายที่ ไม่ยากหรือไม่ง่ายจนเกินไป เพราะเป้าหมายที่ยากไปทำให้ใจท้อ ในขณะที่เป้าหมายที่เล็กเกินไปทำให้ไม่ท้าทายต่อมการอยากเอาชนะ

3.เป็นจิ๊กซอต่อจุดที่ดี

Connecting the dots
Connecting the dots

เป้าหมายเปรียบเหมือนเข็มทิศที่จะนำทางเราสู่อีกระดับของชีวิต เราทุกคนมีประวัติศาสตร์ เช่นนั้นแล้วเป้าหมายจึงเป็นของส่วนตัว ไม่มีใครบอกเราได้ว่าเราควรตั้งเป้าหมายอะไรบ้าง จะมีเราเพียงผู้เดียวที่รู้ว่าช่วงจังหวะนี้ของชีวิต ด้วยการเติบโตในระยะที่อยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายอะไรจะมาตอบโจทย์ให้เราได้พัฒนาตัวเองได้มากที่สุด และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่เรามีอยู่แล้ว หรือเพื่อลบจุดอ่อนหรือปัญหาที่เราหลีกเลี่ยงมานานที่คอยฉุดรั้งให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ

เป้าหมายคือสิ่งที่จะทำให้เราประกอบสร้างตัวตนหรือเรียนรู้ในสิ่งที่ปัจจุบันเราขาด หากพูดตามหลักการแล้ว ก่อนและหลังการพิชิตเป้าหมาย เราจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเป้าหมายควรเป็นอะไรที่จะ…

4.ช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้

ประโยชน์ของเป้าหมาย
ประโยชน์ของเป้าหมาย

หากพิจารณาให้ดี เราได้ 3 สิ่งที่เป็นรูปธรรมจากการพิชิตเป้าหมาย

หนึ่ง รางวัลจากการพิชิตเป้าหมาย

สอง ความสุข และความหมายที่ได้ระหว่างการเดินทางไปพิชิตเป้าหมาย

สาม ตัวตนใหม่ที่เราประกอบสร้างขึ้นมา

เมื่อมองเช่นนี้แล้วเราไม่เพียงแต่ได้รับรางวัล แต่เราจะกลายเป็นคนใหม่เมื่อพิชิตเป้าหมายได้สำเร็จ เช่น การที่เราตั้งเป้าหมายว่าจะลงวิ่งมาราธอนให้ได้ตอนสิ้นปี แน่นอนว่านอกจากเราจะได้เหริยญรางวัล ได้ความฟินจากการเอาชนะร่างกายและจิตใจตัวเองตอนก้าวข้ามผ่านเส้น finish แล้ว …ระหว่างการเดินทางสู่ความฝันนี้ เราจะได้ฝึกตัวเองอีกหลายอย่าง ทั้งวินัยจากการฝึกซ้อม การบริหารจัดแบ่งเวลา ร่างกายที่ค่อยๆ เปลี่ยนรูปเป็นร่างกายนักวิ่งที่มีปอด กล้ามเนื้อ หัวใจที่ทรงพลัง…และนี่อาจเป็นรางวัลที่แท้จริงของการพิชิตเป้าหมาย…นั่นคือรางวัลแห่งการเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม และเป้าหมายเป็นเพียงเป้าที่ตั้งไว้เพื่อ motivate เราเท่านั้น

แต่การที่เราจะเลือกเป้าหมายที่ดีนั้นก็ไม่ง่าย เพราะเป้าหมายที่ดีย่อมเกิดจากการเปิดใจเผชิญหน้ากับตัวตนของเราจริงๆ และนั่นอาจหมายถึงการจ้องตากับความกลัวหรือจุดอ่อนของตัวเอง

“เป้าหมายที่ทรงพลังจึงไม่ใช่เป้าหมายที่ง่าย แต่เป็นเป้าหมายที่ควรค่าพอที่เราจะลงแรงกำลังไปหมดทั้งใจเพื่อพิชิตมันเพราะเรารู้ว่ามันคือสิ่งที่มีความหมายกับเราจริงๆ แม้ระหว่างทางเป้าหมายนั้นจะทำให้เราเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย”

เป้าหมายที่เราพูดถึงจึงต้องมีลักษณะเป็น…

5.เป้าหมายที่พาเราไปพบปัญหา อุปสรรค และการเติบโต

สิ่งที่คิด X ความเป็นจริง
สิ่งที่คิด X ความเป็นจริง

ไม่มีเป้าหมายใครเหมือนของใคร …แต่จุดร่วมอย่างหนึ่งของเป้าหมายคือมันพาเราจากจุด A ไปจุด B ซึ่งทั้งสองจุดไม่ได้อยู่ที่เดิม ไม่เช่นนั้นเป้าหมายก็ไม่ได้พาเราไปไหน แล้วเป้าหมายจะมีประโยชน์อะไรถ้ามันทำให้เราเดินยํ่าเป็นวงกลม

เรารู้ว่าเราจะไปไหน…แต่เราไม่รู้ในวันแรกหรอกว่าเราจะเจออะไรระหว่างทางบ้าง ความกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่จึงเป็นการท้าทายศักยภาพของตัวเราเอง นี่ทำให้โฟรโด แบ๊กกิ้นส์กล้าที่จะอาสาเอาแหวนแห่งอำนาจไปทำลายที่ปล่องไฟมอร์ดอ แม้รู้ว่าระหว่างทางจะต้องเผชิญกับสารพัดความชั่วร้ายที่จะมาหยุดยั้ง แต่หลังการเดินทางสิ้นสุดลงโฟรโดก็ไม่ใช่คนเดิมที่เรารู้จักอีกต่อไป…ผ่านการต่อสู้ ผ่านปัญหา ผ่านอุปสรรค เราย่อมเติบโตขึ้น ปัญหาไม่ใช่สิ่งที่ขัดขวางความฝันอย่างที่เราคิด แต่กลับเป็นเครื่องมือช่วยให้เราพัฒนาตัวเองจนคู่ควรกับสิ่งที่เราฝันใฝ่ต่างหาก

หลายครั้งเรามองว่า “การพัฒนาตัวเองกับความสำเร็จ” เป็นของคู่กัน แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างกรณีคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งได้รับเงินรางวัลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ต้องอาศัยความสามารถ ทักษะ ความรู้ในการหาเงินปริมาณเดียวกัน อันไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าเขาทำสำเร็จ เราอาจเรียกเขาว่าผู้ประสบความสำเร็จทางการเงินได้เลย นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนถูกรางวัลลอตเตอรี่จำนวนมากมักจะสูญเสียเงินเหล่านั้นไปภายในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ได้เอาไปสานต่อยอดเพื่อผลิออกดอกผลให้เกิดความยั่งยืน

นั่นคือปัญหา! เมื่อเราได้รับรางวัลปลายทางโดยไม่ได้ต้องผ่านความพยายามเลย เราไม่ได้พัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่คู่ควรกับความสำเร็จที่เราได้มาแบบโชคช่วย…เราอาจได้เงินมา แต่เราไม่อาจรักษาเงินไว้ได้…

ไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ปัญหาและอุปสรรค…ไม่ใช่แค่มุมมองโลกสวย แต่คือความเป็นจริงของชีวิตที่หยิบยื่นโอกาสผ่านปัญหาให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง…ขอบคุณครับคุณครู ขอบคุณครับปัญหา …ยิ้มรับมันอย่างพึงใจ หากชีวิตไม่มีปัญหาใดๆ นั่นอาจหมายความว่าเราอาจเดินวนอยู่ที่เดิม

และเราไม่อาจปลุกปล้ำกับปัญหาได้นานพอ ถ้าหากเป้าหมายนั้นไม่ใช่…

6.เป้าหมายที่เราเลือกเอง

Start With Why
Start With Why: ก่อนจะทำอะไร ตอบตัวเองให้ได้ว่าเราทำไปทำไม

การทำเป้าหมายให้สำเร็จว่ายากแล้ว
แต่ความท้าทายที่แท้จริงคือ “ความซื่อสัตย์กับเป้าหมาย” ของเราเอง

ไม่มียุคสมัยใดที่เราจะ “หลงทาง” ได้ง่ายเท่ากับยุคที่ข้อมูลและสื่อต่างประโคม
“ความสำเร็จสำเร็จรูป” มาให้เราเท่ายุคสมัยนี้
เราต้องเป็นอย่างนี้ถึงเรียกว่าประสบความสำเร็จ เราต้องเป็นอย่างนั้นถึงจะเรียกว่าเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ…นั่นคือการกล่อมเกลาของโลกการตลาดให้คุณไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองดีพอ เราเหนื่อยเหลือเกินกับการไขว่คว้าไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อไล่ตามความสำเร็จที่อาจไม่ได้มีรากเหง้าแห่งคุณค่าและความต้องการที่ฝั่งลึกอยู่ในตัวเราอย่างแท้จริง

ผมชอบชื่อหนังสือที่อาจดูหยาบแต่จริงใจเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “The Subtle Art of Not Giving a F*ck” ของ Blogger ชื่อ “Mark Manson” ที่เตือนเราไว้ว่าเรา “Don’t give too many fuck for too many thing in life” คือการบ้าบอที่จะจะไขว้คว้าหาเป้าหมาย ความฝัน ความต้องการไปมากมาย โดยลืมย้อนคิดไปว่ามันใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆหรือไม่…น่าแปลกที่หนังสือที่มีคนเรียกว่า Anti-how to Book แต่มันกลับขายดีมากๆ หรือเป็นเพราะว่ามันไปสะกิดต่อมคนร่วมสมัยที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกลึกๆ ว่าตัวเองไม่ดีพอ ความรู้สึกขาดและต้องเติมเต็มด้วยอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด

ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้บอกว่าเราควรจะ Don’t give a fuck to anything แล้วเข้าป่าไปเป็นฤาษี ตรงกันข้ามเลย…ผู้เขียนได้พูดถึงสิ่งที่สอดคล้องมากๆ กับหลักจิตวิทยาพฤติกรรมนั่นคือการรู้จัก Focus การไม่ Multitasking และเลือกที่จะทำแค่ “บางสิ่ง” ที่มีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตเราจริงๆ ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่เมื่อเราได้เลือก “เป้าหมายที่เราเลือกเอง” เหล่านั้นแล้ว ก็จงทุ่มแทพลังและแรงกายอย่างสุดใจ

เพราะแท้จริงแล้วชีวิตไม่ใช่การตามหาความสุขวันเดอร์แลนด์เหมือนบนสรวงสวรรค์…ความคาดหวังแบบนั้นมันไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง สำหรับคนที่ผ่านโลกมาซักพักก็คงรู้ดี แต่เราควรที่จะมองหาโจทย์ท้าทายที่เรารู้สึกควรค่าที่จะเสียหยาดเหงื่อ และบางครั้งอาจหมายถึงน้าตาไปกับมัน

อย่าไล่ตามความสุข แต่จงไล่ตามความทุกข์อันสุขสมที่เราเลือกเอง…

7.เป้าหมายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง…เรายอมเสียเหงื่อ ลงทุนลงแรงกับเรื่องอะไรกันแน่

tim-not-giving-a-fuck
Tim not giving a fuck: BE LIKE TIM

ใครๆ ก็อยากมีหุ่นดี แต่กี่คนที่ยอมลงทุนลงแรงออกกำลังกาย
ใครๆ ก็อยากมีงานในฝัน ได้ทำสิ่งที่มีความหมาย แต่มีกี่คนที่เริ่มวางแผนและลงมือทำมัน
ใครๆ ก็อยากจะประสบความสำเร็จ แต่มีกี่คนที่กล้าจ้องตากับจุดอ่อนและปัญหาของตัวเองเพื่อก้าวผ่านมัน

สุดท้าย การตั้งเป้าหมายใครๆก็ทำได้ 
แต่มีกี่คนที่จะยอมแลกอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายนั้น

เพราะนั่นคือความจริงของโลกที่ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ คำถามที่ถูกต้องและสอดคล้องกว่าไม่ใช่

“คุณอยากได้อะไร เป้าหมายของคุณคืออะไร” แต่เป็น “อะไรบ้างที่คุณยอมแลกมาเพื่อเป้าหมายนั้น”

หากคุณมองหาอาชีพในฝันที่คุณมีความสุข 100 % กับงาน คุณจะหามันพบไหม…แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น “งานอะไรที่เรารู้สึกว่า นี่แหละ!!! งานนี้แหละที่มีคุณค่า มีความหมาย มีความสุข และเป็นเป้าหมายที่ฉันยอมที่จะแลกหลายๆสิ่งเพื่อมัน” นี่แหละครับความเป็นจริง…

งานในฝันของคนหนึ่งคนอาจจะเป็นฝันร้ายของอีกคน…ยกตัวอย่างเช่นการเป็นนักเขียน นักเล่าเรื่อง คุณจำเป็นต้องทำการบ้านหนักมากในสิ่งที่คุณจะเขียน คุณต้องเข้าใจและรู้ลึกรู้จริง ไม่เช่นนั้นสิ่งที่คุณเขียนออกมามันจะสะท้อนออกมาเองว่ามันไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มเติม และก็เป็นแค่บทความที่ใครๆก็เขียนได้…ในท้ายที่สุดแล้ว คุณก็ต้องทำงานหนักในทุกขั้นตอนอยู่ดี…แต่นี่ก็คืองานที่ผมเลือก คืองานที่ผมทำแล้วรู้สึกว่าชอบและได้ใช้ศักยภาพ ความถนัด ความสนใจ

มันมี pain มันมีปัญหา ในทุกเป้าหมายที่คุณเลือกเดิน แต่ถ้ามันเป็นความเจ็บปวดที่เราเลือกเองแล้วว่ามีคุณค่า…มันจะกลายเป็นความเจ็บปวดที่มอบความสุขให้เราอย่างเหลือเชื่อ

เคยมีคนถาม Elon musk ว่า คุณเคยท้อบ้างไหมตอนที่การทดสอบจรวด Falcon รุ่นใหม่ของคุณเกิดการระเบิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คุณเคยคิดบ้างไหมว่าคุณจะล้มเหล็ว…Elon Musk ตอบไปว่า

“อันที่จริงผมคิดจริงๆนะว่า มีโอกาสสูงมากที่โปรเจกนี้ของผมจะล้มเหล็ว แต่ถ้าสิ่งใดมีคุณค่า ความหมาย และสำคัญกับคุณมากพอ คุณก็จะลงมือทำมันอยู่ดีแม้ว่ามีโอกาสสำเร็จเพียงหยิบมือ”

 

ก็เท่านี้แหละครับผมสำหรับลักษณะของเป้าหมายที่ดี ผ่าน deep reflection และการทำการบ้านพร้อมกับการเผชิญหน้าความกลัวที่อยู่ในความฝันของผู้เขียนเอง…
แต่ก็อย่าให้ความกลัวนั้นมาหยุดยั้งเราจากเป้าหมาย…เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายที่ดีเป็นอย่างไร บทความหน้าเราจะมาศึกษากันต่อว่า “วิธีการเลือกและตั้งเป้าหมายที่ดี” ควรจะต้องมีกรอบความคิดอย่างไรบ้าง

จงออกไป struggle กับโจทย์ยากในชีวิตที่คุณเลือกเอง…แด่ผู้เดินทางไกลทุกคน

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน