หลายๆ ครั้งผมพบว่าตัวเองรู้สึกตื้อตันว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ก็เลยมานั่งคิดแล้วก็รวบรวมเป็นรายการขึ้นมา แต่ละข้อจะเปรียบเหมือนแว่นตาวิเศษที่ช่วยเพิ่มมิติให้กับนักเขียน ผมพบว่าหลังจากเขียนบทความนี้จบไอเดียผมพุ่งกระฉูด ได้เรื่องใหม่ๆ ที่อยากเขียนเต็มไปหมด หากผู้อ่านมีไอเดียเสนอแนะเพิ่มเติม ช่วย comment แบ่งปัน เพื่อผมจะได้ปรับปรุงเพิ่มเติมให้บทความนี้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไป เชิญอ่านได้เลยครับ
======
1.งานตัวเอง
======
-กลับไปดูงานเขียนเก่าๆ ที่ตัวเองเคยเขียนแล้วดูว่าสามารถแตกหน่อทางความคิดอะไรได้บ้าง เผลอๆ จะรวมเล่มงานเดียวกันได้เพราะมีความเชื่อมโยง รวมถึงการเขียนงานแนวที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว
-อ่านงานตัวเองแล้วใช้จินตนาการไปตามท้องเรื่องระหว่างทางอาจเกิดไอเดียใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
-ลองพยายามเชื่อมโยงความคิดจากงานเขียนที่แตกต่างกันว่ามันสามารถเอามาปฎิสนธิกันได้หรือไม่
-Sleep on it หลังจากใช้วิธีต่างๆ แล้ว ปล่อยข้ามคืนอาจจะทำให้คิดออกก็ได้
======
2.อ่านงานเพื่อนนักเขียน
======
-อ่านงานเขียนของคนอื่นแล้วดูว่าเราสามารถต่อยอดทางความคิดอะไรได้มากขึ้น อาจได้ไอเดียใหม่
-ลองแนวการเขียนใหม่ๆ ไม่แน่ว่ามันอาจเป็นแนวใหม่ที่เราชอบและถนัด หรือเอามาประยุกต์เพิ่มสีสันให้งานของเราเองได้
======
3.อารมณ์ที่คุกกรุ่นอยู่ภายใน
======
-นักเขียนเป็นมนุษย์ emotional หลายๆ คนเป็นอย่างนั้น นอกจากนี้ยัง sensitive เราสามารถเอาสิ่งที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นจุดอ่อนเอามาเป็นจุดแข็งได้ อารมณ์ที่เรารู้สึกอาจจะเป็นความเจ็บปวดภายในที่เราพยายามหลีกเลี่ยงแต่ไม่แน่ว่าหากเรากล้าพอที่จะเผชิญกับมันจะทำให้เราได้ไอเดียใหม่ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจความหวัง ความฝัน ความกลัวของตัวเองได้ดีมากขึ้น ที่สำคัญอารมณ์เหล่านี้มีลักษณะเป็น universal คือใครๆก็รู้สึก มันสามารถจับความรู้สึกคนได้ในวงกว้าง
-ทำหน้าที่เป็นนักจับอารมณ์ที่คนอื่นอาจรู้สึกได้น้อยกว่าเรา หรือรู้สึกแต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร
-หลายๆ ครั้งความรู้สึกนั้นมันมากมายแต่เรายังไม่สามารถใส่เนื้อหาเข้าไปได้ ก็สามารถจดเก็บไว้ก่อน เมื่อไร่ที่เราได้ไอเดียค่อยนำมาเชื่อมโยงกัน เราก็จะได้งานเขียนที่มีความกลมกล่อมไปด้วยสาระและรสชาติของความเป็นคนไปพร้อมๆกัน
======
4.เรื่องที่เรารู้
======
– ทุกคนล้วนมีเรื่องที่เราชอบ ทำให้เราเสพมันมากเป็นพิเศษทำให้เกิดความรอบรู้ไปโดยไม่รู้ตัว ลองเอาสิ่งเหล่านั้นมาเล่า และเชื่อสิว่าเราจะเขียนได้อย่างสนุกเลยทีเดียว
-หากสิ่งนั้นมันค่อนข้างโกอินเตอร์เราก็ดูว่าจะสามารถเอามาเชื่อมโยงกับบริบทของคนไทยได้ไหม เช่นนักเขียนหลายๆคนที่นำเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเล่าได้อย่างออกรสชาติ
=======
5.เรื่องที่เราเรียนมา
=======
-เราสามารถนำสิ่งที่เราเรียนมาโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี อย่างน้อยจะเป็นตัวรับประกันว่าเรารู้ดีกว่าคนอื่นที่อยู่ต่างสาขาอย่างแน่นอน ถ้าเราสามารถหาจุดขายและทำให้มันน่าสนใจได้ ก็จะเป็นการเพิ่มคุณค่าของสิ่งที่เราเรียน ทำให้เราต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมระหว่างเขียนช่วยให้เราแตกฉานในสิ่งที่เราเรียนอยู่มากขึ้นก็ได้
-เล่าประสบการณ์ในการเรียนก็ได้เช่น เพจที่มีหมอมาเล่าความโหด มัน ฮาของการเรียนในคณะแพทย์
======
6.จากผู้คนและมิตรภาพรอบตัว
=====
-ครอบครัว เพื่อนฝูง คนที่เรามีปฎิสัมพันธ์ด้วยสามารถเป็นชนวนของความคิดหรืออารมณ์บางอย่าง ทำให้เรานำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนได้
=====
7.ความรักโรแมนติก
=====
-ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยรักโรแมนติกก็อยู่ในตัวเรากันทุกคน มันเป็นอะไรที่มีความเป็นพื้นฐานมากเข้าถึงผู้คนในหมู่มากได้ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะนำเสนอมุมที่ยังไม่มีใครเสนอ หยิบมันมาสะท้อนด้วยแว่นตาทางคุณค่าต่างๆ ของเราก็จะสามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่แปลกใหม่ได้
-เมื่อมีความรักเราก็อยากเขียน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดกับตัวเอง แรงบันดาลใจมีแล้ว ที่เหลือก็แค่ใส่เนื้อหาเข้าไปในอารมณ์นั้น
– ดัดแปลงรูปแบบการเขียนได้หลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็น เรียงความเศร้าเหงาซึ้ง นิทาน เรื่องสั้น การ์ตูน หรือวลีกลอนสั้นๆ สองสามบรรทัด
======
8.งานดองเก่าเก็บ
======
-แม้แต่นักเขียนที่เก่งที่สุดก็ยังมีงานที่เขียนไม่จบ ปลายตันหาทางออกไม่ได้ดองเก็บเอาไว้ เราสามารถเค้นเอาแนวคิดหรือความรู้สึกในงานนั้นออกมาปรุงเป็นงานชิ้นใหม่ได้ หรือไม่แน่บางทีอาจเห็นทางออกเขียนต่อไปได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่แรก
======
9.ตีความสื่อ
======
-สื่อกระแสหลักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หนังสือ เราสามารถเอามาวิเคราะห์วิจารณ์ผ่านแว่นคุณค่าส่วนตัวของเราเองจนได้ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเราเอง
-เสพเพื่อเป็นต้นทุนทางความคิดใช้อ้างอิงในงานเขียนอื่นๆของเราได้ในกรณีที่สื่อนั้นมีความนิยมจนกลุ่มผู้อ่านของเรานึกภาพตามได้
-รายการสารคดีคุณภาพที่นำเสนอไอเดีย เช่น วัฒนธรรมชุบแป้งทอด, หนังพาไป, พื้นที่ชีวิต ทำให้เราได้ไอเดียหลายๆ อย่างโดยไม่ต้องไปประสบกับตัวเองก่อน
======
10.ข่าวทันเหตุการณ์
======
-คัดกรองนำเอาข่าวที่ทันสมัยและกำลังอยู่ในความสนใจมาเล่า ทั้งนี้ต้องระวังว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าจะมีคนหยิบยกมาเล่าเยอะเช่นกัน เราจึงต้องหาแง่มุมพิเศษที่คนอื่นมองไม่เห็น
-หาเรื่องที่เราเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆ เช่นคนที่เรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาก็จะสามารถให้มุมมองและข้อมูลที่เฉียบคมในกรณีน้ำมันรั่วได้ดี
======
11.TED talk
======
-รายการนี้ชอบเป็นการส่วนตัวไม่ขอพูดอะไรมาก ใครที่เปิดเข้าไปดูจะได้ทำการเปิดโลกทัศน์ต่อไอเดียเจ๋งๆ เต็มไปหมด
จบลงไปแล้วกับ 11 วิธีที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ รวมพลังไอเดียเพื่อสร้างสรรค์งานเขียนที่มีคุณค่าและสดใหม่ มีคุณค่าต่อผู้อ่าน หากคิดประเด็นไหนออกเพิ่มเติมจะมาอัพเดทเพิ่มเรื่อยๆ ครับ
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน