Loading

wait a moment

อ่านหนังสือฮาวทูทั้งโลกคุณก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้…ถ้าคุณขาดสิ่งสิ่งเดียว (วิทยาศาสตร์พฤติกรรม 101)

เครดิทรูปภาพปกจากจากภาพยนต์เรื่อง MOANA จากค่าย Disney

พัฒนาตนเอง

Better Me: จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย…ที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เอาล่ะ! มายอมรับกันเถอะว่า เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวเองกันทั้งสิ้น

แต่มันก็คงไม่ง่ายนักอย่างที่เรารู้กัน…

ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวหรืองานวิจัยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่จะทำสำเร็จ ดูได้ง่ายๆจากกรณีของการตั้งปณิธานปีใหม่หรือ New Year’s resolution ที่มีมนุษย์จำพวกหนึ่ง (รวมถึงตัวผมเองด้วย) ทำเป็นประจำจนเป็นเหมือนธรรมเนียมประจำปีไปเสียแล้ว แต่มีการศึกษาที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมๆกัน

ผลสถิติออกมาว่า คนเกือบ 80% ล้มเลิกเป้าหมายที่ตั้งไว้ไปในสัปดาห์ที่ 6

นั่นหมายความว่าเรากำลังวางแผนโดยมีปลายทางเพื่อความล้มเหล็วไปอย่างนั้นหรอ???

และนั่นคือช่วงเวลาที่จิตวิทยาจะเข้ามาหาคำตอบ

 

จิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์

หลายๆ ครั้งเรารู้สึกเหมือนกับว่าตัวตนภายในของเราจะมี คนสองคนที่อยู่ข้างใน

 

คนแรก คนที่มีสิติ รู้คิด วางแผนระยะยาว คำนึงผลได้ผลเสีย

กับอีกคน ที่เน้นความว้าวในปัจจุบันขณะ เน้นความฟินเอาไว้ เรื่องของพรุ่งนี้ก็ปล่อยเอาไว้พรุ่งนี้สิ (วะ!)

 

ซึ่งความเป็นจริงที่น่าสนใจก็คือ  ???

อันที่จริงแล้ว เรามีสองตัวตนจริงๆ  เป็นสองตัวตนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกันเสียด้วย

และตัวตนเหล่านั้นก็มี “บ้าน” อยู่กันคนละที่ และบ้านที่พูดถึงก็คือ “สมอง” นั่นเอง

 

มาดูโครงสร้างสมองกัน

THE EVOLUTIONARY LAYERS OF THE HUMAN BRAIN
THE EVOLUTIONARY LAYERS OF THE HUMAN BRAIN

 

สมองกิ้งก่า สมองหนู สมองลิง เรามีมันทั้งหมดอยู่ในกะโหลกของเรา

ภาพสมองสุดซับซ้อน…

มองครั้งแรกอาจจะงงงวน รอยหยัก รอยโค้ง ก้อนใหญ่ก้อนเล็ก และสิ่งละพันอันละน้อยที่มาประกอบกัน

ไม่เลย, เราไม่จำเป็นต้องจดจำศัพท์แสงชื่อเรียกส่วนต่างๆ นับร้อยพันของสมองเหมือนนักศึกษาแพทย์

แต่แค่อยากจะให้สังเกตแค่ว่า…หากมองสมองเป็นเหมือนบ้านที่ให้ตัวตนของเราแต่ละแบบอยู่อาศัย

เราจะแบ่งประเภทของบ้านออกได้เป็น 3 หลัง อย่างคร่าวๆ

 

บ้านสมองกิ้งก่า—แค่รอดก็พอ

เก่าแก่ที่สุด จำเป็นในการดำรงชีวิตพื้นฐาน ควบคุม หัวใจเต้น หายใจ เป็นต้น

บ้านสมองหนู—สมองแห่งอารมณ์ ฟินไว้ก่อน พ่อสอนไว้

ใหม่ขึ้นมาอีกนิด มีระบบให้รางวัล (reward system) เน้นความฟินในปัจจุบัน ไม่สนเรื่องอนาคต…เนยแข็งอร่อยจัง  Yummy!

บ้านสมองลิง—สมองปราชญ์ ดึงสติ รู้คิด แต่ชอบพ่ายแพ้สมองอารมณ์

ถูกเพิ่มเข้ามาล่าสุดในสายวิวัฒนาการเลยทีเดียว มีความสามารถในการคิดใช้เหตุผล ประเมินความเสี่ยง

วางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้า

  ตัวตนในแต่ละบ้านกำลังก่อสงคราม !!! เป็นสงครามภายในที่ไม่เคยจบ

 

โฟรโด แบ๊กกิ้นส์
โฟรโด แบ๊กกิ้นส์: แม้ว่ามหากาพย์ The Lord of The Ring จะมีสงครามน้อยใหญ่มากมาย แต่แก่นใจความหลักของสงครามนั่นเกิดขึ้นข้างในใจ นั่นคือความดีและความเลว…จะโยนแหวนลงไปในไฟแห่งมอดอร์ หรือ จะเก็บแหวนแห่งอำนาจไว้กับตัวแล้วกลายเป็นอสูรร้ายคนถัดไป

ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองมาฟังอีกเรื่องราวเก่าแก่…

หมาป่าสองตัวที่ทุกคนล้วนมี

 

The Tale of Two Wolves
The Tale of Two Wolves: นิทานเก่าแก่ที่ทำให้เราเข้าใจประโยค “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือการชนะใจตนเอง”

 

มีเรื่องเล่าเก่าแก่ของผู้เฒ่าผู้หนึ่งที่กำลังสอนหลานเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ว่า

“ในตัวของเรามีสงครามภายในเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน”

“เป็นการต่อสู้อันร้ายกาจรุนแรงระหว่างหมาป่าสองตัว”

“ตัวแรกคือหมาป่าความชั่วร้าย—ความโกรธ ความอิจฉา ความทนทุกข์ทรมาณ ความหยิ่งทนง ความรู้สึกผิด ความละอายในตนเอง ความหลงตัวเอง การคิดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น และอีโก้”

“อีกตัวหนึ่งเป็นหมาป่าแห่งความดี—ความเพลิดเพลิน ความสงบ ความรัก ความหวัง ความผาสุข ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ ความงามความจริง ความศรัทธา”

“การต่อสู้อันดุเดือดนี้เกิดขึ้นในตัวเธอและในตัวทุกคนๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “

หลังฟังจบ หลานชายนั่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งก่อนถามว่า “แล้วใครชนะล่ะฮะคุณตา”

ผู้เฒ่าตอบว่า “ก็ตัวที่เจ้าให้อาหารมันนั่นแหละ”

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

แล้วเราจะมาพูดเรื่องนี้กันไปทำไม ?
นั่นก็เพราะว่า ให้ตายเถอะ ช่วงหลังมานี้เราพ่ายแพ้แก่ตัวเองบ่อยเกินไปแล้ว

เรามัวแต่ให้อาหารหมาป่าแห่งความชั่วร้าย…และมันก็แข็งแกร่งขึ้นทุกวัน

กี่ครั้งแล้วที่เราคิดว่าจะลดน้ำหนัก แต่พอเดินผ่านร้านชาไข่มุกตอนบ่ายๆ ก็อดไม่ได้ซักที

ทั้งที่ๆ คืนก่อนหน้าเขียนลงสมุดส่วนตัว วาวแผนเสียอย่างดิบดีว่าจะดูแลสุขภาพให้ perfect

มันก็ล้มเหล็วเสียทุกทีเพราะ ความตั้งใจหรือแค่ Willpower นั้นไม่เคยพอเพียงที่จะฆ่าหมาป่าเลวตัวนั้น

แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป…คำตอบคือ Limiting factor ของการพัฒนาตัวเอง

 

Limiting factor คือเหตุผลของการไม่บรรลุเป้าหมายของทุกสิ่งอย่าง

limiting factor
limiting factor

นํ้าในถังจะสูงได้ซักเท่าไหร่…ก็สูงได้เท่าซี่ไม้ที่ตํ่าที่สุดยังไงล่ะ

ถ้าอยากให้ระดับนํ้าสูงกว่านั้น…จงสนใจไม้ซี่ที่ตำ่ที่สุด

#ความรู้ในการพัฒนาตัวเองก็เช่นกัน

 

ในการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารที่ว่ายากเย็นสำหรับเด็กมัธยมต้นที่อยากเติบโตในสายทหาร เป็นที่รู้กันว่าข้อสอบข้อเขียนที่ว่ายากแล้ว แต่ถ้าหากไม่ผ่านการสอบด้านร่างกายก็ไม่สามารถผ่านด่านแห่งความฝันนั้นไปได้อยู่ดี

เราเรียกสิ่งที่จำกัดไม่ให้เราไปต่อได้ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ว่า limiting factor หรือปัจจัยลิมิตความสำเร็จ

ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ…

วิทยาศาสตร์ของนิสัยนั่นเอง (the science of habit)

 

เราแทบไม่เคยต้องคิดว่าต้องแปรงฟังตอนเช้า…

เราเดินทางไปโรงเรียนหรือที่ทำงานด้วยเส้นทางเดิมๆ…

เราก้มลงผูกเชือกรองเท้าด้วยการไขว้ขาแบบเดิม

ในแง่หนึ่งนิสัยทำให้เราทำไปโดยไม่ต้องเปลืองพลังสมองในการตัดสินใจ

และนิสัยนี่เองที่เราสามารถใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการฝึกให้เรา “เคยชิน” กับการป้อนอาหารหมาป่าฝ่ายดีและปล่อยให้หมาป่ายฝ่ายเลวอดตายไปโดยเราแทบไม่ต้องใช้ความพยายาม

the power of habit
the power of habit

 

The power of habit: พลังแห่ง ‘นิสัย’

หากจะมีหนังสือหนึ่งเล่มที่เป็น Non-Fiction อ่านสนุกและ practical เอาไปประยุกต์ใช้จริงได้ในแง่ของการปรับเปลี่ยนตนเอง

ผมคิดว่าหนังสือ The New York Times Best Seller ที่มีชื่อว่า The power of habit  จะต้องติดอันดับเป็นแน่

 

ย้อนกลับมาที่แนวคิด limiting factor ที่กล่าวไปต้นบทความ…หากเราลองพิจารณาหนังสือแนว Self-help  หรือ How to ที่อยู่บนชั้นหนังสือแทบทั้งหมด อาจมีคำมั่นสัญญา (promise) เมื่ออ่านจบแตกต่างกันไป เช่นเล่มนี้จะสอนให้คุณ (how to) ลดน้ำหนัก อีกเล่มสอนเรื่องการบริหารเงิน ส่วนอีกเล่มอาจจะสอนให้คุณรู้จักคิดฝันใหญ่

จะเห็นได้ว่าทุกเล่มล้วนมีสารและสาระที่จะนำเสนอ ‘วิธีการบางอย่าง’ ที่เป็น best practice ที่ผู้คนจะนำไปใช้ให้ชีวิตตัวเอง ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

.

.

Abraham Lincoln เคยกล่าวไว้ว่า (บางคนก็บอกว่าเขาไม่เคยพูดไว้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น)

“If I had four hours to chop down a tree, I’d spend the first two hours sharpening the axe”

ถ้าผมมีเวลา 4 ชั่วโมงในการตัดตั้นไม้ ผมจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงแรกในการลับขวาน

 

และถ้าโจทย์คือการเปลี่ยนชีวิตให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น หนังสือตระกูลนี้ก็เปรียบเสมือน แผนที่นำทาง เหมือนวิธีการที่เป็น best practice ที่ผู้เขียนได้เอาไอเดียเหล่านั้นมาขายกับคุณ…

.

หากโจทย์คือการสร้างสะพานแขวนเชื่อมเมือง หนังสือฮาวทูเหล่านี้ก็จะคอยบอกวิธีการกับคุณ

แต่โจทย์ของเราไม่ใช่การสร้างจรวด

ไม่ใช่การสร้างเมือง

ไม่ใช่การสร้างสะพาน

ทว่าโจทย์ของเราคือความเปลี่ยนแปลง

เดิมพันของเราคือชีวิต

และความท้าทายของเราคือการต่อสู้ระหว่างตัวตนสองแบบ

แบบที่จะต้านทานให้เราอยู่กับที่

และแบบผู้ชนะที่จะช่วยให้เราเติบโตในสนามของชีวิต

 

และ limiting factor ของเราก็คือ การลงมือทำนั่นเอง

 

“The best time to plant a tree was 20 years ago. The second best time is now.”

เวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวลาที่ดีรองลงมาคือ…ตอนนี้

– An old Chinese proverb –

 

เช่นนั้นแล้วจุดหลอก จุดตาย จุดพลาดของนักฝันที่จะเปลี่ยนชีวิตตนเองให้ดีขึ้นคือ การผัดวันประกันพรุ่ง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า procrastination เผื่อใครอยากศึกษาต่อ) และการไม่ลงมือทำ

เช่นนั้นแล้วเรามาเริ่มปลูกต้นไม้แห่งนิสัยที่ดีกันเถอะ…เริ่มปลูกมันตั้งแต่วันนี้ ยิ่งนานวันนิสัยเหล่านั้นจะยิ่งหลั่งรากลึก

เราแค่ลงแรงในการปลูกวันแรก แต่หลังจากนั้น สายลม แสงแดด และวันเวลาจะทำหน้าที่ดูแลตัวมันเอง

มันยากที่จะฝืนลุกไปวิ่งในเช้าวันแรก…แต่พอผ่านไปไม่นาน เราจะเสพติดการวิงออกกำลังกายเสียด้วยซํ้า

แล้วสุดท้ายการวิ่งก็จะเป็นเหมือนการลุกขึ้นมาแปรงฟันตอนเช้าเท่านั้นเอง

.

.

.

มาถึงตรงนี้จะเห็นชัดแล้วว่าทำไมการลงมือทำ is a key to change your life.

แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลงมือทำได้ล่ะ ในเมื่อแรงเสียดทานช่างมากมายเหลือเกิน ที่ตลกคือไม่ใช้แรงเสียดทานภายนอกด้วย ทว่ามาจากภายในตัวของคุณ คือหมาป่าตัวร้ายตัวนั้น เช่นนั้นแล้ว คุณจะชนะหรือจะแพ้ มันก็ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของคุณล้วนๆ และมันเริ่มจากการตัดสินใจ…

จะนอนต่อหรือจะลุกไปวิ่ง

จะปิดไฟเข้านอนหรือเอามือถูเฟสไปเรื่อยๆ

จะลุกขึ้นมาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือแค่ดู youtube เลื่อนลอยไปอย่างไร้จุดหมาย

จะหยิบนมถั่วเหลืองกล่องนี้หรือจะสั่งชาไข่มุกร้านนั้น

 

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ

แล้วการตัดสินใจขึ้นอยู่กับใคร ?

ก็สมองของคุณนั่นเอง

ก่อร่างสร้างนิสัย

synapse strengthening
synapse strengthening

นิสัยก่อกำเนิดได้อย่างไร…ลองดูภาพเซลล์ประสาทดังภาพสิ

เซลล์ประสาทด้านซ้ายบนถูกกระตุ้นด้วยนิสัยบางอย่างมาเนิ่นนานและส่งสัญญานต่อให้เซลล์ประสาทด้านขวามือ

ในทางกลับกันเซลล์ประสาทด้านซ้ายล่างที่จะถูกกระตุ้นเมื่อทำนิสัยใหม่ที่ดีไม่เคยถูกกระตุ้นมาก่อนเลย

ผลก็คือรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาทด้านซ้านบนกับเซลล์ประสาทด้านขวาจะแข็งแรงและส่งสัญญาณให้กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ในขณะที่รอยต่อของเซลล์ประสาทซ้ายล่างกับด้านขวาจะอ่อ่นแอ

นั้่นคือเหตุผลว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงนิสัยมันถึงยากนัก ซึ่งอันที่จริงอาจจะเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม้ได้เสียด้วยซํ้า

 

 

แต่ทว่ายังไม่หมดหวัง…ในหนังสือ The power of habit ได้มีการนำเสนอแนวคิดอย่างเป็นรูปธรรมว่าเราจะก่อร่างสร้างนิสัยใหม่ที่ดีมาแทนที่นิสัยเก่าแย่ๆที่ทำมานานปีได้อย่างไร “มันคือการ hack สมอง”

เพราะในความหม่นเทาของการเซ็งตัวเองในความล้มเหล็วในภารกิจจำพวก new years resolution

เรายังเห็นคนบางประเภท คนที่ได้ชื่อว่าเป็น Homo finisher (ยืมคำมาจากพี่นิ้วกลม) บนโลกใบนี้ ถึงจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับ loser แต่พวกเขามีอยู่จริง

 

คนประเภทที่…

เคยอ้วนปรินำหนักเกินแต่ปีถัดมาลงวิ่งมาราธอน

คนที่อกหักหมดอะไรตายอยากที่กลับมาดูแลตัวเองจนดูดี

คนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ เป็นคนที่มีเป้าหมายในหน้าที่การงาน

เขาทำได้อย่างไร ?

 

เราจะไปหาคำตอบกันในบทความหน้าในหัวข้อที่มีชื่อว่า the science of habit โดยผมจะทำหน้าที่พาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าได้ผลจริงมาแล้ว กับคนที่จัดว่าสุดโต่งเลวร้ายด้านพฤติกรรมอย่าง การติดเหล้า ติดการพนัน ติดบุหรี่ ที่สามารถกลับตัวกลับใจ ด้วยการมี mindset และความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

มาเติมจิ๊กซอตัวสุดท้ายที่จะทำให้ limiting factor ของคุณหมดไป กับความรู้ของวิทยาศาสตร์พฤติกรรมในบทความหน้า…มาเรียนรู้และเป็นผู้ชนะใจตัวเองไปพร้อมๆกัน ผู้เขียนเองก็เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเดินทางไกลนี้เช่นกัน ขอโห้โชคดี ว่าที่ homo finisher ทุกคน

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน