Loading

wait a moment

DEEP WORK ทักษะการทำงานที่ขาดไม่ได้ ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน

เอาล่ะครับถ้าต้องรอจนอะไรๆ มัน perfect ก็คงจะไม่ได้เริ่มกันพอดี
วันนี้ผมตั้งใจจะมาอธิบายแนวคิดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังมากๆ อย่างหนึ่งนั่นก็คือ

DEEP WORK

Deep work หรือที่การทำงานด้วยสมาธิจดจ่อเต็มร้อย…แต่ก่อนที่ผมจะเล่าถึงแนวคิดและวิธีการนำไปประยุกต์ใช้นี้ ผมอยากให้คุณลองจินตนาการตามเหตุการณ์สมมุติต่อไปนี้ดู

เรื่องสมมุติที่เป็นจริง

ในเช้าวันหนึ่งในขณะที่คุณนอนหลับเต็มอิ่มมาทั้งคืน ตื่นมาด้วยความสดใส และในฐานะที่คุณทำงานเป็นนักเขียนออนไลน์ วันนี้คุณจึงตั้งใจไว้แล้วว่า จะต้องคลอดผลงานคุณภาพสูงออกมาให้ได้ซักหนึ่งชิ้นคุณจึงตัดสินใจว่าวันนี้แหละฉันจะโฟกัสงานนี้งานเดียวและทำมันออกมาให้ดีที่สุด

ทว่า !!! ทันที่ที่คุณนั่งหย่อนก้นลงในเก้าอี้ที่คุณเคย เพื่อนแผนกข้างๆที่ติดกันก็เริ่มที่ส่งเสียงเม้าท์มอยหอยสังข์อันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เวลาที่เจ้านายไม่อยู่หรือไปเข้าประชุม (เรื่องแต่งล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องจริงแม้แต่นิดเดียวครับ)

คุณจะทำอย่างไรครับในเหตุการณ์แบบนี้ ใส่หูฟังก็ได้ คุณบอกตัวเองอย่างนั้น คุณเข้า Youtube เพื่อเปิดเพลงบรรเลงที่ใช้ตอนทำงานเป็นประจำ….เอาล่ะ เริ่มสัมผัสได้ถึงพลังสมาธิ คุณเข้าสู่ in the zone เรียบร้อยแล้ว
.
ในขณะที่คุณกำลังเขียนงานอย่างเข้าได้เข้าเข็ม โทรศัพท์ออฟฟิศก็ดังขึ้น

“น้องลงมารับเสื้อบริษัทที่ HR ด้วยนะคะ ก่อนเที่ยงค่ะ”

หลังจากลงไปเอาเสื้อขึ้นมาเสร็จ…คุณมองกลับไปที่หน้าจอ Microsoft word อีกครั้ง นี่เราเขียนไว้ถึงตรงไหนแล้ววะเนี่ย เมื่อเช้ายังไอเดียพลุ่งพล่านอยู่เลย ถ้างั้นขอนั่งเล่น Facebook ผ่อนคลายเรียกอารมณ์ก่อนแล้วกัน เดี่ยวฟีลการทำงานก็มาเอง

เวลาครึ่งชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก
“นี่ใกล้จะเที่ยงแล้ว ยังทำงานได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย” คุณบอกกับตัวเองในใจ
จึงกลับมาจดจ่อกับงานอีกครั้ง….เอาล่ะคงไม่มีอะไรกวนสมาธิฉันอีกแล้วนะ

พูดยังไม่ทันขาดคำ Line กลุ่มที่ทำงานก็เด้งขึ้นมาแจ้งเตือน คุณคลิกเข้าไปดูและอดไม่ได้ที่จะต้องแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับโปรเจกใหม่ในทีม

ภาพจาก HBR

ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เพียงประสบการณ์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่มันคงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะอินตามเรื่องราว (เหล่านี้)

เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ อาจนำพาความสะดวกสบายมาให้ในการประสานงานต่างๆ แต่แน่นอนว่ามันเป็นดาบสองคม นี่ยังไม่นับรวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานในออฟฟิศที่หลายๆครั้งไม่เอื้ออำนวยให้เรามีพลังได้จดจ่อกับงานที่สำคัญ ยาก และเรียกร้อง พลังสมาธิจากเรามากที่สุด

ถ้าผมจะบอกว่าที่เรารู้สึกว่า…
เราไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นออกมาได้
ที่เรารู้สึกในหลายๆครั้งในตอนเย็นว่า วันนี้เราแทบไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไปเลย
เราทำงานเล็กงานน้อย งานหยุมงานหยิมไปมากมายแต่กลับเป็นงานที่ไม่ได้สร้างความแตกต่างในชีวิต

เรามีแผนการมากมายที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำเพราะหา quality time ไม่ได้

นั่นอาจเป็นเพราะคุณไม่รู้จักสิ่งที่ผมเรียกว่าหลักการประสานพลังอย่างชาญฉลาดอันประกอบไปด้วยหลักการ 2 ข้อย่อย ที่บอกกับเราว่า

หลักการผสานพลัง

1.เราไม่สามารถทำทุกสิ่งในเวลาที่จำกัดได้ แต่เรามีเวลาเพียงพอเสมอที่จะทำสิ่งที่สำคัญที่สุดของเรา ซึ่งอันที่จริงมันคือการจัดลำดับความสำคัญนั่นเอง

2.เราควรมี quality time ที่สามารถโฟกัสได้อย่างสุดหัวใจในงานที่สำคัญที่สุดในข้อ 1 เพื่อให้เราสามารถดึงศักยภาพและส่วนที่ดีที่สุดของสมองเรา เพื่อคลอดผลงานที่โดดเด่นออกมา ผมขอเรียกช่วงเวลาเหล่านี้ว่า ช่วงเวลา “เข้าฌาน” โดยขอยืมคำมาจากศัพท์พระ ในกรณีที่คนเข้าสู่สภาวะจิตที่ไม่ซุกซนเหมือนกับลิง แต่อยู่และรับรู้กับปัจจุบันขณะอย่างสมบูรณ์

อย่างที่เขาบอกมาว่า สำหรับคนที่สำคัญ เราจะมีเวลาให้เสมอ ลองนึกดูว่าต่อให้คุณยุ่งซักแค่ไหน แต่ถ้าคุณกำลังหลงรักสาวคนหนึ่งอย่างจัง คุณคงไม่ลืมที่จะแชทไปหาถามไถ่ทักทายหรอกใช่ไหม หรือในช่วงโรแมนติกระหว่างการออกเดท คุณก็คงไม่หยิบมือถือขึ้นมาเล่น แต่เลือกที่จะจดจ่ออยู่กับหญิงสาวตรงหน้า สบตาหวานชื่น

แล้วทำไมคุณไม่ลองเอาหลักการสองข้อนี้มาใช้กับการทำงานบ้างล่ะครับ ?

หากให้ผู้อ่านลองนึกย้อนหลังไป 3 เดือนแล้วถามตัวเองว่า ในช่วงเวลา 60 วันทำงานที่ผ่านมา เรามีช่วงเวลาที่เราได้ใช้หลักการผสานพลังนี้กี่วัน …30 วัน 20 วัน หรือไม่ถึง 5 วัน

คำตอบที่ว่าอาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมหลายๆครั้งเรารู้สึกว่างานที่ทำมันช่างว่างเปล่า นั่นเพราะ

หนึ่ง เราไม่เคยถามตัวเองเลยว่างานที่สำคัญที่สุด ยากที่สุด ท้าทายที่สุดที่เราทำสำเร็จไปคืออะไร (ข้อที่หนึ่งของ-หลักการประสานพลัง)

สอง เราไม่เคย “ออกแบบ” ให้ตัวเองได้มีเวลาที่จะโฟกัสกับการงานได้อย่างเต็มที่จนเข้าสู่สภาวะลื้นไหลที่เรียกว่า flow (เขียนอธิบายเรื่องนี้ในอนาคต)

ในหนังสือ Deep Work: Rules for Focused Success in a Distracted World ที่เขียนโดยคุณ Cal Newport ได้เสนอไว้ว่า การทำ Deep work แม้จะเป็นอะไรที่มีประโยชน์มากๆ แต่ว่าก็เป็นกิจกรรมที่เรียกร้องพลังสมองอย่างมาก และเราควรจะต้องมีเวลาพักเบรกให้สมอง อยู่เป็นพักๆ เพื่อให้เราสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้อย่างยาวนานมากขึ้น ซึ่งเคล็ดลับเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่าผู้คนที่ประสบความสำเร็จมากมายในอดีตเคยใช้

ในเวลาที่ต้องขบคิดปัญหายากๆซับซ้อน ไอสไตน์ จะมีเวลาพักเบรกเพื่อหันไปทำงานอย่างอื่นที่ใช้พลังสมองน้อยกว่า

อีกกรณีก็เป็นที่รู้กันว่าตอนไอแซก นิวตัน ยังเป็นเด็กๆ แม่ของเขาต้องคอยเอาอาหารเข้ามาเสริฟชายน้อยเพราะเขามักจะหมกมุ่นอยู่กับการขบคิดปัญหาต่างๆ จนลืมโลกรอบตัวไป

ชาลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการก็เป็นอีกคนที่ใช้เวลาอย่างลำพังเพื่อขบคิดในขณะที่เขาเดินไปตามทางเดินในสวนละแวกบ้านของเขา

นี่คือพลังของการโฟกัสในการทุ่มพลังความสนใจทั้งหมดไปกับการงานที่สำคัญที่สุด

The sand walk หรือที่ที่รู้จักกันในนาม ‘Darwin Thinking Path’ เป็นทางลัดเลาะเลียบเคียงรายล้อมด้วยธรรมชาติของชนบทอังกฤษ…ดาร์วินใช้ในการครุ่นคิดและต่อยอดข่ายความรู้ต่างๆ ที่ผลสุดท้ายกลายมาเป็นแนวคิดที่พลิกมุมมองที่เรามีต่อสิ่งมีชีวิตและสายพันธุ์มนุษย์ของเราเองในนามของ ‘ทฤษฎีวิววัฒนาการ’

หลังจากที่นักเขียนหนุ่มผู้นี้เข้าใจในคุณค่าของหลักการผสานพลัง (ทำหนึ่งสิ่ง+ทำอย่างตั้งใจ)
เขาจึงตัดสินใจที่จะลงมือแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

สำหรับคนทั่วไปที่ทำงาน นี่คือสิ่งที่จำเป็น เป็นเรื่องที่สำคัญ
เพราะลองนึกว่าหากงานที่คุณกำลังทำอยู่ มีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์
ที่ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือคิด วิเคราะห์ที่ต้องใช้สมาธิอย่างสูง เราจะเสียเวลาที่สามารถนำมาทำสิ่งดีๆ ได้มากมายขนาดไหนถ้าหากมัวปล่อยให้สิ่งต่างๆมารบกวนจิตใจ

เมื่อชายหนุ่มนักเขียนคิดได้อย่างนั้น เขาจึงลงมือก้าวผ่านความกลัว และตัดสินใจคุยกับเจ้านายเพื่อตกลงในเรื่องการจัดสภาพล้อมใหม่ในการทำงาน เนื่องจากงานที่เขาทำมีลักษณะการใช้สมองที่แตกต่างจากงานแอดมินรูทีนทั่วไปที่มีลักษณะเป็น shallow work ที่ต้อง multitask หลายๆ อย่างพร้อมกัน

เก็บไปคิดต่อ

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปอย่างสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ดังนี้

1.ทำน้อยสิ่ง แต่เลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุด

2.หลีกเลี่ยงกับดักของเทคโนโลยีที่ชอบแย่งความสนใจจากงาน ปิด facebook ปิดการแจ้งเตือนไลน์ ปิดโทรศัพท์เมื่อต้องการเข้าสู่ภาวะโฟกัสสูงสุด

3.การสลับการทำงาน (multitasking) อาจมีประโยชน์ในการทำงานในบางครั้ง แต่เราควรมีเวลาให้ตัวเองได้มีช่วงเวลา “เข้าฌาน” บ้าง

4.ช่วงเวลาที่เรา “ทุ่มสุดตัว” กับงานดังกล่าว ใช้พลังงานสมองปริมาณมาก ควรมีช่วงเวลาให้เราได้พักเพื่อฟื้นฟูพลังเพื่อให้ทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในโลกปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) เรามี Airbnb เรามี GrabTaxi แม้แต่ความคิดเห็นหรือ content ก็เปิดให้เข้าถึงได้ฟรีๆ บนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ มาตรฐานของผลงานถูก “ยกระดับให้สูงขึ้น” หากสิ่งที่คุณทำไม่ได้โดดเด่น แปลกและแตกต่างจากคนอื่นๆ ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจถูกหลงลืมและลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว

นั่นทำให้ทักษะในการ “ประสานพลัง” กลายเป็นทักษะจำเป็นที่จะเปิดโอกาสให้เราได้สร้างผลงานที่ล้ำค่า และยากที่จะถูกทำซ้ำ และนั่นคือเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน หากคุณหา สิ่งเดียวและทำมันอย่างสุดใจได้…ที่นั่นเอง ที่ความแตกต่างจะถือกำเนิดขึ้น

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน