Loading

wait a moment

บนกำแพงบริษัท Facebook เพ้นท์คำขวัญอะไรติดไว้ [Done is better than perfect]

ถ้าให้ผู้อ่านเลือกระหว่างให้งานเสร็จ (Done) กับให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ (perfect) คุณจะเลือกอะไร ?

คุณอาจจะหยุดคิดซักพัก คำตอบของคุณอาจจะออกมาเป็นซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แต่เมื่อพนักงาน Facebook เงยหน้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปที่ผนังกำแพงบริษัทพวกเขาก็จะตอบออกมาแบบไม่ต้องคิดเลยว่า

“Done is better than perfect”

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ หากคุณเดินเข้าไปที่สำนักงานใหญ่ Facebook ประมาณช่วงปี 2010 ก็จะเห็นประโยคที่ว่าละเลงอยู่บนผนังกำแพงออฟฟิศ แนวคิดนี้ยังถูกตอกยํ้าให้ชัดเจนขึ้นในงานปาฐกถาของ Mark Zuckerberg ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาดเมื่อปี 2017 ที่ว่า

“Ideas don’t come out fully formed. They only become clear as you work on them. You just have to get started.”

“ไอเดียมันไม่ออกมาดีสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรกหรอก แต่มันจะค่อยๆเริ่มแหลมคมและชัดเจนขึ้นเองเมื่อคุณเริ่มลงมือทำมัน ทั้งหมดที่สำคัญก็คือ คุณต้องเริ่มต้นแค่นั้นเอง”

-Mark Zuckerberg

Mark Zuckerberg’s Commencement address at Harvard.

ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าแค่ทำออกมาให้เสร็จแต่ไม่ต้องดีก็ได้อย่างนั้นหรือ?
ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ วันนี้ผู้เขียนจึงจะมาพูดถึงปรัชญาเบื้องหลัง concept ที่ฟังแล้วอาจดูขัดใจไปบ้าง

ทำไม Done is better than perfect

1.Perfectionism เป็นภาพสะท้อนความกลัว (Perfectionism Kills Creativity)

Mark Zuckerberg ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เขากับเพื่อนๆ ทำในหอพัก Kirkland House ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะเป็นจุดกำเนิดของ Facebook ที่เรารู้จักกันในวันนี้ (ภาพจากภาพยนต์ The Social Network 2010 )

ไม่ผิดที่เราจะคาดหวังให้ผลงานที่เราทำออกมาให้ดีที่สุด แต่การคาดหวังให้ผลงานออกมา perfect ตั้งแต่ครั้งแรกอาจทำให้เกิดภาวะทางจิตวิทยาที่เรียก Fear paralysis หรือความกลัวว่าผลงานที่ออกมาจะไม่ดีมากพอกับที่ตั้งใจ ซึ่งความกลัวนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักอันดับตั้นๆ ของสิ่งที่ฉุดรั้งเราไว้จากความสำเร็จในแทบทุกมิติในชีวิตนั่นก็คือ การผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination) ลองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้า

เรามีความฝันซักอย่างหนึ่ง แต่เรามีข้ออ้างกับตัวเองตลอดเวลาด้วยโครงสร้างประโยคว่า

ถ้า (สิ่งนี้) เกิดขึ้น…….(สิ่งนี้) ถึงจะเกิดขึ้นได้

เช่น จะทำธุรกิจได้ ต้องมีเงินทุน ต้องมีประสบการณ์ ต้องมีคอนเนคชัน ต้องมี บลาๆๆ

นี่คือสิ่งที่ Mark Zuckerberg และ Steve Jobs เข้าใจดีและไม่ตกหลุมพรางที่ว่านี้

มาร์ค ไม่เคยคิดว่าแค่โปรแกรมเรทความฮอทของสาวๆ ในแคมปัส ที่เขาสร้างขึ้นบนหอพักมหาวิทยาลัยฮาร์วารดจะกลายมาเป็น Facebook

จอบส์ ไม่ได้รู้หรอกว่าศาสนาเซนและการท่องแสวงหาความเข้าใจทางจิตวิญญาณนสมัยวัยหนุ่มในอินเดีย รวมถึงวิชาออกแบบตัวอักษรที่เขาลงเรียนเล่นๆ ก่อนลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการประกอบร่างสร้างโปรดักส์ในเครื่อ Apple ของเขา

You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards. So you have to trust that the dots will somehow connect in your future. You have to trust in something – your gut, destiny, life, karma, whatever. This approach has never let me down, and it has made all the difference in my life.

คุณไม่สามารถเชื่อมต่อจุดในชีวิตเมื่อมองไปข้างหน้าได้หรอก (เราไม่รู้อนาคต) เราสามารถทำมันได้เมื่อมองย้อนหลังมาเท่านั้น…เช่นนั้นแล้วคุณจำเป็นที่จะต้องมี “ความเชื่อ” ว่าจุดเหล่านั้นจะหาทางเชื่อมตัวกันเองในอนาคต คุณต้องมีความเชื่อในอะไรซักอย่าง สัญชาติญาณ โชคชะตา ผลกรรมที่หนุนนำ อะไรซักอย่างหนึ่ง….วิธีคิดแบบนี้ไม่เคยจะทำให้ผมผิดหวัง และมันคือสิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตผมมาโดยตลอด

– Steve Jobs –

นี่คือวิธีคิด (mindset) ของคนที่ไม่รอให้ปัจจัยทุกอย่าง “ถึงพร้อม” คนที่ไม่รอให้ทุกอย่าง “perfect” เพื่อที่จะลงมือทำสิ่งที่พวกเขาต้องการ

เพราะพวกเขา สามารถก้าวข้าม “ความกลัว”และมองว่า “ไม่เพอร์เฟค” ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงาน

สิ่งที่เขาทำก็คือ “ลงมือทำ” ภายใต้สภาวะที่จำกัดนั้น

เมื่อกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวและการเดินทางหมื่นลี้เริ่มจากการก้าวเท้าก้าวแรก

การลงมือทำ “ในทุกวัน” จึงสำคัญกว่าการทำให้งานออกมา perfect แค่ครั้งเดียว แต่ไม่สมํ่าเสมอ

2.สิ่งที่ทำให้งานสำเร็จเกิดจากอุปนิสัยแห่งการลงมือทำในทุกวัน

วงจร “กิจวัตร” ประกอบไปด้วย หนึ่ง สิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม สอง ตัวกิจวัตรที่เราทำด้วยความเคยชิน สาม รางวัลในการกระทำนั้น…เช่น ความกระหายนํ้าและความอ่อนล้าอาจเป็นสิ่งกระตุ้น (Cue) ให้เราเดินเข้าเซเว่นไปซื้อนํ้าอัดลม (Routine) และได้ความเย็นซาบซ่านสดชื่นของสาละลายนํ้าตาลอัดแก๊ส (Reward)

ในหนังสือ The power of habit ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเสนอเกี่ยวกับพลังของ “กิจวัตร” ได้ทีที่สุดเล่มหนึ่งทำให้เราเข้าใจว่า ที่เราคิดว่าการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดเป็นผลมาจาก “สมองที่มีเหตุผล” แต่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมองก็เผยออกมาแล้วว่า เวลาส่วนใหญ่ตั้งแต่ลืมตาตื่นตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอนเราทำไปด้วยโหมด “autopilot” หรือทำไปโดยไม่รู้ตัวโดยแทบไม่ต้องคิด แต่เป็นความเคยชินในทุกๆวัน ซึ่งหลายๆ ครั้งปัจจัยที่ทำให้เราทำงานหนึ่งสำเร็จคือการสร้าง “อุปนิสัยของการลงมือทำ” นั่นคือการเรียนรู้ที่จะลงมือทำงานโดยไม่มีข้ออ้าง ไม่ต้องรอให้ปัจจัยทุกอย่างถึงพร้อม…เพราะจริงๆแล้วความ perfect เป็นแค่ภาพมโนคติในความคิดที่เราอยากจะไปให้ถึง

ทำไมการลงมือทำจึงสำคัญที่สุด อ่านได้ในบทความ “อ่านหนังสือฮาวทูทั้งโลกคุณก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้…ถ้าคุณขาดสิ่งสิ่งเดียว (วิทยาศาสตร์พฤติกรรม 101)”

แต่ในท้ายที่สุดแล้วในทางปฎิบัติ เรากลับเข้าใกล้อุดมคตินั้นด้วยการลงมือทำทีละเล็กละน้อยเพื่อที่จะเอา feedback มาปรับให้งานของเราดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะ…

3.เรียนรู้จาก Feedback และความล้มเหลว เพื่อนำมาเรียนรู้และเติบโตอย่างหาญกล้ากว่าที่เคย

แผนภาพจากหนังสือ Principle ของ Ray Dalio

ในหนังสือระดับ Masterpiece ที่เขียนโดยนักธุรกิจที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากศูนย์ (self-made billionaires) นาม Ray Dalio ที่ชื่อ Principles ได้กล่าวถึง “หลักการ” ในการเพิ่ม “คุณภาพ” ในการตัดสินใจ ดังแผนภาพด้านบนที่บ่งบอกลำดับการพิชิตเป้าหมาย (goal setting) ไว้ว่าในกระบวนการทำความฝันให้เป็นจริงประกอบไปด้วย

1.การตั้งเป้าหมายที่หาญกล้า (audacious goals)

2.ความล้มเหลว (Failure)

3.เรียนรู้จาก feedback (learning principles)

4.พัฒนา (improving)

5.ท้าทายเป้าหมายให้สูงขึ้น (more audacious goals)

Principles by Ray Dalio: หนึ่งในหนังสือที่ทำให้ผมคิดต่อยอดได้ดีมาก ทั้งเรื่องกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตและการทำงาน

หากสังเกตดีๆจะเห็นว่า “ความล้มเหลว” เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนพิชิตเป้าหมาย…ความล้มเหลว (Failure) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเป้าหมายที่กล้าหาญ (audacious goals)

นี่คือวิธีคิดของหนึ่ง CEO ของกองทุนเฮดฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดของโลก…สิ่งที่น่าคิดคือ ความล้มเหลวจะต้องตามมาด้วยขั้นตอนของการเรียนรู้ (learning principles) เพื่อที่สุดท้ายเราจะได้พัฒนากรอบความคิดหรือผลงานที่ตอบโจทย์ของเป้าหมายของเรามากยิ่งขึ้น (improving) เพื่อที่จะกล้าที่จะเดินตามฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม (more audacious goals)

อ่านเพิ่มเติมเรื่องลักษณะของการตั้งเป้าหมายที่ดีได้ในบทความ “กรอบความคิดวิธีการตั้งเป้าหมาย 101: เป้าหมายที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไร ?”

เมื่อถอยออกมาดูภาพกว้างเราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าการคาดหวังให้ผลงานออกมา perfect มันขัดแย้งกับ “ธรรมชาติ” ของการพัฒนาและการเรียนรู้จากลงมือทำ นั่นก็เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยง….สิ่งที่เรียกว่า Shitty First Drafts ได้

4.Shitty First Drafts เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

creative process

เพิ่มเติม 1: นิยามคำว่า “งานสร้างสรรค์” ที่ผู้เขียนกล่าวถึง ไม่ได้หมายถึงงานศิลปะ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เท่านั้น แต่จะกินความหมายที่กว้างไปกว่านั้น คืองานที่ต้องอาศัยความคิดในการ “ทำสิ่งใหม่” ที่ต่างจากที่เคยทำมา เป็นต้นว่า การวางแผนการตลาดในไตรมาสใหม่, การเขียนบทความที่โดดเด่นแตกต่าง, การทำเพจเฉพาะทางที่ไม่เคยมีคนทำ, การคิดพล๊อตหนังสั้นที่แหวกแนวความคิดความเชื่อในสังคม…สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความย่ากอยู่ในตัวเพราะเรากำลังทำสิ่งที่เรา “ไม่รู้”

เพิ่มเติม2: Shitty First Drafts เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้คนทำงานสามารถ “ก้าวข้าม” นิสัยรักความเพอร์เฟค (perfectionism) โดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ แต่ก่อนอื่นเราไปดูก่อนว่าทำไม “ดราฟท์แรกที่ห่วยเป็นขี้” ถึงเป็นเรื่องที่สุดแสนจะปกติ

ใน TED Talks ที่มีชื่อว่า The surprising habits of original thinkersAdam grant ศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์วาดสุดอินดี้ นำเสนอไว้ว่ากระบวนการสร้างสรรค์งานของคนเราไม่ว่าจะหน้าใหม่หน้าเก่ามีอยู่ 6 ขั้น

ช่วงที่ 1 โห ไอเดียนี้แหละโxตรเจ๋ง เราคิดได้ไงวะ

ช่วงที่ 2 เอ๋ อันที่จริง ไอเดียนี้มันก็ออกจะแปลกๆ อยู่นะ จะเวิร์คป่ะวะ

“ช่วงที่ 3 โถ่เว้ยย ไม่มีใครเค้าทำกันอย่างนี้ ไอเดียนี้มันโxตรห่วย”…(idea doubt)

“ช่วงที่ 4 จะทำต่อดีป่ะวะ ไม่ใช่งานห่วยละ แต่เราเองนี่แหละห่วย ไม่เก่งพอที่จะทำออกมาให้ดี”…(self doubt)

ช่วงที่ 5 เอ้อ ทำๆไป มันก็พอได้อยู่นะ ไม่ได้น่าเกลียดอะไร เดี๋ยวปรับอีกหน่อยมันก็ดีขึ้นเอง

ช่วงที่ 6 เฮ้ยยย ไปๆ มา มันก็เจ๋งดีนี่หว่า ค่อยยังชั่ว กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ภูมิใจๆ

จุดที่น่าสนใจ ที่ไม่ว่าจะเป็นนักสร้างสรรค์หน้าเก่าหรือใหม่จะต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือช่วงที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมามันเป็นไอเดียที่ไม่เข้าท่า (ช่วงที่ 3) และต่อมาเราก็เริ่มที่จะ “โทษตัวเอง” ว่า เราเองนี่แหละที่ไม่เจ๋งพอ ไม่เก่งพอ ไม่มีคุณสมบัติมากพอ (ช่วงที่ 4)

หลายคนตกม้าตายตรงช่วงนี้ ทว่านักสร้างสรรค์ระดับโลกกลับก้ามผ่านมันอย่างสง่างาม

(อ่านได้เพิ่มเติมในบทความ—อะไรคือสิ่งที่แยกระหว่าง นักสร้างสรรค์ระดับโลกและคนธรรมดาทั่วไป)

อันที่จริงแล้ว “ภารกิจ” ของเราไม่ใช่การกระโดดข้ามขั้นตอนที่ 3-4 ไป แล้วไม่ต้องรับรู้ถึงความรู้สึกด้านลบเหล่านี้เลย แต่โจทย์หลักของเราคือการยอมรับความจริงว่าในการเดินฝ่าม่านหมอกแห่งความไม่รู้ (to make the unknown known) เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความสงสัยในตัวไอเดียและความสงสัยในตัวเองนี้ได้ (idea & self doubt) แต่เราสามารถที่จะก้าวผ่านมันได้ด้วยความคิดว่าไม่เป็นไรหาก draft แรกของผลงานของเราจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้นแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปได้

จงลงมือทำ…แม้สิ่งที่ออกมาจะเป็น Shitty First Drafts นั่นก็เพราะเราสามารถปรับปรุง สลักเสลา ขัดเกลาให้เนื้องานดีขึ้นได้เสมอ แต่อย่าให้ความกลัว่าผลงานจะออกมาไม่ perfect หยุดยั้งเราจากการลงมือทำ รวมถึงการก้ามข้าวความสงสัยในศักยภาพของตัวเราเองในการสร้างสรรค์ผลงาน ( self doubt)

To make the unknown known

ซึ่งจะว่าไปแนวคิดเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใน Teaser Trailer ของภาพยนต์เรื่อง Interstellar (2014) กับ quotes ที่ทรงพลังด้านล่างนี้

“We’ve always defined ourselves by the ability to overcome the impossible. And we count these moments. These moments when we dare to aim higher, to break barriers, to reach for the stars, to make the unknown known. We count these moments as our proudest achievements. But we lost all that. Or perhaps we’ve just forgotten that we are still pioneers. And we’ve barely begun. And that our greatest accomplishments cannot be behind us, because our destiny lies above us.”

ตลอดเวลาที่ผ่านมา (ของเผ่าพันธุ์มนุษย์) เรากำหนดและยึดถือความเป็นตัวตนของเราผ่านความสามารถในการพิชิตความเป็นไปไม่ได้ และเรานับช่วงเวลาเหล่านี้ ช่วงเวลาที่เราหาญกล้าที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ กล้าที่จะเป็นอะไรที่มากกว่า กล้าออกจากกรงขังที่จำกัดเราพุ่งทยายสู่นภาท่ามกลางดวงดาว…เพื่อเปลี่ยนม่านหมอกแห่งความไม่รู้ให้พราวพร่างสดใสกระจ่าง…แล้วเราก็คิดว่า นี่แหละ! เป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจที่สุดของพวกเรา…แล้วทั้งหมดก็พังทลาย และนั่นอาจเป็นเพราะเราหลงลืมไปแล้วว่าเราเป็นเพียงผู้บุกเบิก (pioneers) เราเพิ่งจะเริ่มต้น….และความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราไม่สามารถอยู่เบื้องหลังเราได้ เพราะโชคชะตาอนาคตที่เรืองรุ่งมากกว่า…อยู่สูงขึ้นไปบนนั่้น

บทสรุป:ความ perfect เป็นสิ่งสมมุติ…แต่การพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดจากการลงมือทำจริง

เครดิทภาพจาก: jamesclear.com/growth-curves

เมื่อเรารู้แล้วว่าการลงมือทำเป็น “วิธีการเดียว” ที่จะช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

คำถามที่น่าคิดคือ การลงมือทำด้วย “ท่าที” แบบไหนจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ “เร็วขึ้น” และ “มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงเชื่อแล้วว่าการลงมือทำเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาให้ผลงานออกมาดีขึ้น

ทว่าจุดพลาดที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดก็คือการคิดว่าแค่การลงมือทำไปตรงๆ ก็เพียงพอแล้วเดี๋ยวก็เก่งขึ้นเอง ผลงานดีขึ้นเอง

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะศาสตร์ทาง “จิตวิทยาแห่งการเรียนรู้” บอกเราไว้ว่า

1.เราจะเริ่มเรียนรู้ เมื่อเราตระหนักว่า “สิ่งนั้น” เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ และหลายๆครั้งเราก็ไม่รู้ได้ง่ายๆหรอกว่า “ช่องว่างของความรู้” นั้นคืออะไร

ปล. การยอมรับในความไม่รู้ ช่วยให้เรารู้มากขึ้นอย่างมหาศาลได้อย่างไรสามารถอ่านได้ในบทความ “รู้มากใช่ว่าจะชนะ…เมื่อการยอมรับในความไม่รู้อาจสำคัญกว่าความรู้ [ประวัติศาสตร์ความไม่รู้ของมนุษย์ชาติ]”

2.ทั้งบทความนี้พยายามจะบอกว่า “การลงมือทำ”นั้นสำคัญ แต่อันที่จริงแล้วเราสามารถแบ่งมันออกได้เป็น โซนแห่งการทำงาน (performance zone) และโซนแห่งการเรียนรู้ (learning zone)…ซึ่งการไม่สามารถแยกแยะทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันได้จะทำให้เราเกิดภาวะ “อิ่มตัวของพัฒนาการ”

เราจะ “ลงมือทำ” อย่างจำเพาะเจาะจงในส่วนที่เรายังขาด และก้าวข้าม ความอิ่มตัวในการพัฒนาผลงานได้อย่างไร???

ติดตามอ่านในตอนต่อไปในหัวข้อ การฝึกฝนอย่างจดจ่อ (deliberate practice) และพัฒนาเติบโตอย่างไม่หยุดยังเพื่อให้เข้าใกล้ความ perfect ในหัวข้อ หากเข้าใจในสิ่งนี้ คุณจะเติบโตได้ไม่มีวันสุด (2 type of growth)


ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน