Loading

wait a moment

รู้มากใช่ว่าจะชนะ…เมื่อการยอมรับในความไม่รู้อาจสำคัญกว่าความรู้ [ประวัติศาสตร์ความไม่รู้ของมนุษย์ชาติ]

เครดิทภาพ สถาปัตยกรรม "The Thinker" ถ่ายโดย J. Smith for GPTMC

 

ครั้งหนึ่งสตีฟ จ็อบส์ เคยพูดไว้ว่า “อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ” (stay hungry stay foolish)

.

นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ระดับตำนานผู้นำพามนุษย์ชาติเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เคยเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นแค่ “เด็กน้อยที่เล่นเปลือกหอยตามชายหาด และแทบไม่ได้รู้หรือเข้าใจในความลับของธรรมชาติเลย”

.

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กเจ้าของ Facebook พูดไว้ว่า “ไอเดียมันไม่ออกมาดีสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรกหรอก แต่มันจะค่อยๆเริ่มแหลมคมและชัดเจนขึ้นเองเมื่อคุณเริ่มลงมือทำมัน ทั้งหมดที่สำคัญก็คือ คุณต้องเริ่มต้นแค่นั้นเอง”

.

ตอนที่มีคนถาม Elon Musk ชายผู้จะพามนุษย์ชาติไปอยู่อาศัยบนดาวอังคารว่าคุณเคยคิดว่าคุณจะล้มเหลวไหมตอนที่การทดสอบจรวด Falcon ของคุณเกิดการระเบิดซํ้าๆ ในช่วงแรกของการก่อตั้ง SpaceX เขาตอบว่า “ถ้าบางสิ่งสำคัญกับคุณมากพอ คุณก็จะลงมือทำมันอยู่ดี แม้ว่าจะมีโอกาสสูงที่มันจะล้มเหลวก็ตาม”

เบื้องหลังคำกล่าวของคนระดับโลกพวกนี้มีอะไรที่เหมือนกัน ?

 

The invention of wisdom.

ปัญญา…คำพูดยากๆหรูหรา และดูสูงส่ง และแน่นอนว่า ไม่มี “ปัญญา” ที่อยู่นอกเหนืออารยธรรมมนุษย์

พูดให้ง่ายกว่านั้น “ปัญญา” จึงเป็นสิ่งที่เราประดิษฐ์ขึ้น เป็นสิ่งนามธรรมจับต้องไม่ได้…แต่เป็นชุดความคิดความเชื่อที่สามารถนำทางเผ่าพันธุ์มนุษย์มาถึงทุกวันนี้

ก่อนที่เราจะถลำลึกลงไปในความหมายของคำว่าปัญญาไปมากกว่านี้ ผมอยากจะชวนไปดูปรากฎการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าทำไม สิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้จึงสำคัญกับเผ่าพันธุ์ของเรามากนัก และเราจะเริ่มจากคำถามอันเรียบง่ายว่า

“ทำไมปัญญาจึงสำคัญ ทำไมปัญญาจึงมีพลังพลิกโลก”

และคงจะไม่มีช่วงไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา จะเหมาะไปมากไปกว่าช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 1500 อีกแล้ว

 

หนึ่ง ลองจินตนาการว่าถ้าเราจับชาวนาคนหนึ่งในสมัยโบราณซักประมาณ ปี ค.ศ. 1000 ข้ามกาลเวลามาโผล่ ปี ค.ศ. 1500  นั่นคือการข้ามเวลามา 500 ปี ผู้อ่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ ชาวนาคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร…. จอบ พลั่วบ้านเรือน แน่นอนว่าชาวนาคนนั้นอาจจะรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่ได้เห็นรูปร่างของเกวียนเปลี่ยนไปนิดหน่อย  ระบบการเมืองและอาณาเขตการปกครองรวมถึงค่าเงิน ราคาสินค้าที่อาจไม่เหมือนเดิม ผู้คนแต่งตัวแปลกตาไปนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้ว อะไรๆก็คล้ายๆเดิม  ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีก็จริง แต่ไม่ได้มากมายจนเรียกได้ว่าพลิกฝ่ามือ

คราวนี้เอาใหม่…ลองจินตนาการอีกสถานการณ์หนึ่ง

สอง หลังจากปราบไฮดร้าได้สำเร็จ กับตันอเมริกาเครื่องบินตก ถูกแช่แข็งนาน 70 ปีกว่าจะถูกค้นพบอีกครั้ง หลงจากตื่นขึ้นมาในโลกปัจจุบัน หากใครดูหนังคงจะพอจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกับตันสตีฟ โรเจอร์ของเรา วิ่งประสาทแตกมาใจกลางไทม์ สแควร์ของมหานครนิวยอร์ก…ตึกระฟ้า รถยนต์วิ่งขวักไขว่ ป้ายไฟบิลบอร์ด สมาร์ทโฟน  ทุกอย่างเปลี่ยนไปมากในระยะเวลาอันสั้น ทำไมช่วงเวลาเพียง 70 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงราวๆ ปี ค.ศ.1940s-ปัจจุบัน โลกถึงได้พลิกไปมากถึงเพียงนั้น

 

กับตันถูกแช่แข็งไปเกือบ 70 ปี

.

ผู้อ่านคงจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าต้องมี “บางสิ่ง” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวที่ทำให้ศักยภาพในการพัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวกระโดดมากๆ ในช่วงท้ายๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์ จนกระทั่งวันนี้วงล้อของการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงหมุนไปด้วยอัตราเร่งที่มากกว่าที่เคยเป็นมาเสียด้วยซํ้า

น่าแปลกที่ “สิ่งนั้น” ไม่ใช่เพราะว่าคนยุคปัจจุบันมีมันสมองที่ลํ้าเลิศขึ้นจนคิดประดิษฐ์เทคโนโลยีอะไรได้มากมาย เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ยุคปัจจุบันยังคงมีชุดของรหัสพันธุกรรมที่ไม่ได้ต่างจากเมื่อ 70,000 ปีก่อนที่โลกได้ให้กำเนิดมนุษย์ที่ไม่ได้มีความแตกต่างทางชีวภาพจากพวกเราเลย

.

สิ่งนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ ทว่าคือชุดของความคิด ระบบวิธีการมองโลก

หรือ “ปัญญา” รูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1500 นั่นเอง

และชุดของปัญญาที่เรากำลังพูดนั้นก็คืออะไร เราต้องไปดูก่อนว่าก่อนหน้านั้นมนุษย์มีความเชื่ออย่างไรเกี่ยวกับความรู้

.

ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1500 มนุษย์ไม่ค่อยจะยอมรับเลยว่ามีสิ่งที่เผ่าพันธุ์ของเราไม่รู้ โดยมีสมมุติฐานสองข้อคือ

1.คำถามสำคัญๆที่เราไม่รู้ สามารถหาคำตอบจากผู้รู้หรือปราชญ์ในยุคนั้นๆ ซึ่งอาจหมายถึงคำอธิบายของศาสนา เช่น จุดกำเนิดของโลกทางศาสนาคริสต์

2.มีคำตอบของคำถามสำคัญๆ ในโลกหมดแล้วในระบบความรู้ของมนุษย์ชาติ แต่ถ้าเราเริ่มสงสัยในคำถามกระจ้อยร่อยไร้สาระ (ในสายตาของชุดปัญญาในยุคนั้น)  อย่าง ทำไมนกกระจอกเทศต้องมีปีกทั้งๆที่บินไม่ได้ ทำไมอุจาระต้องมีสีเหลืองในเมื่อเราไม่ได้กินอะไรสีนั้นเข้าไปซักหน่อย… คุณจะถูกตอกกลับโดยผู้รู้ว่า ไม่ใช่ไม่รู้หรอกนะ แต่มันไร้สาระเกินกว่าระบบความรู้ในสังคมหรือในศาสนาจะให้ความสนใจ  เลิกสงสัยเสียเถอะ!

นั่นหมายความว่าก่อนปี ค.ศ. 1500 เราเชื่อว่า “มนุษย์ได้รู้ทุกอย่างที่สำคัญไปหมดแล้ว”

 

เป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับคนในปัจจุบันที่ได้ยินเสมอๆ ว่า “เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง เราก็จะหยุดเรียนรู้”

มันคือความย้อนแย้งที่ว่า คนที่รู้และเข้าใจโลกมากที่สุดกับเชื่อว่าตัวเองไม่รู้อะไรมากที่สุด

ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองรู้และเข้าใจโลกมากที่สุด กับเป็นผู้ที่จริงๆแล้วแทบไม่ได้เข้าใจโลกเลย

.

ลองดูรูปสมการเพื่ออธิบาย law of general relativity นี้

 

 

บนดาวเคราะห์สีนำ้เงินในปัจจุบันนี้มีกี่คนที่เข้าใจสมการนี้…

โลก จักรวาล ธรรมชาติ ไม่เคยไม่ซับซ้อน

 

และ ณ จุดนั้นเอง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ Homo sapient ที่แยกสายออกมาเป็นอิสระของสายพันธุ์ตัวเองเมื่อ

200,000 ปีที่แล้ว เริ่มตระหนักรู้ชุด “ปัญญา” ใหม่…ที่ทรงพลังและอ่อนน้อม ในคราวเดียวกัน และปัญญาที่ว่านั้นก็คือ

“ปัญญา” ที่อนุญาตให้เรายอมรับว่า “เราไม่รู้อะไรเลย”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะเปลี่ยนโฉมหน้ามนุษย์ชาติไปตลอดกาล…เมื่อมีกลุ่มคนจำนวนมากเรื่อยๆที่ยึดถือแนวคิดอันถ่อมตนต่อโลกธรรมชาตินี้ เมื่อมีคนมากขึ้นเรื่อยๆ ยอมรับถึงความเดียงสาต่อโลกธรรมชาติรอบๆตัว ก็เป็นเวลาเดียวกันที่กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มตั้งคำถาม สังเกต ทดลอง พูดคุย ถกเถียง ประกอบสร้าง ชุดความรู้ใหม่ๆ โดยมีคณิตศาสตร์และความสงสัยใคร่รู้อันไม่หยุดหย่อนเป็นตัวถักทอศาสตร์ใหม่นี้ขึ้นมาในนามของ “วิทยาศาสตร์”

 

 

สำนักพิมพ์น้องใหม่นาม Salt Publishing ได้แปลหนังสือประวัตินิวตันที่อ่านสนุกที่สุด สามารถดูหนังสือได้ที่นี่

 

I do not know what I may appear to the world; but to myself I seem to have been only like a boy playing on the seashore, and diverting myself in now and then finding a smoother pebble or a prettier shell than ordinary, whilst the great ocean of truth lay all undiscovered before me.

ผมไม่รู้หรอกว่าโลกมองผมด้วยสายตาแบบไหน แต่สำหรับตัวผมเองแล้ว..ผมก็เป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่บนชายหาด วิ่งเล่นไปทางนู้นที ทางนั้นที…แล้วก็เผอิญไปเจอก้อนกรวดงามๆ หรือไม่ก็เปลือกหอยลายสวยพิเศษกว่าปกตินิดหน่อยๆ…ในขณะที่เบื้องหน้าเป็นมหาสมุทรแห่งความรู้แห่งความจริงอันลึกลับกว้างใหญ่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ และผมก็เป็นแค่เด็กน้อยไร้เดียงสาคนนั้น

– Isaac Newton –

 

การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ จึงเริ่มต้นขึ้น ณ จุดที่มนุษย์ชาติประกอบสร้าง “ปัญญา” รูปแบบใหม่ขึ้นมานั้นเอง

เมื่อมาย้อนมองดูภาพรวมทั้งหมดก็จะพบความสัมพันธ์พิเศษอย่างหนึ่งระหว่างความสัมพันธ์ของ

1.โลกภายใน โลกทางความคิด บ่อเกิดทางปัญญา

และ

2.โลกทางวัตถุ นวัตกรรม เทคโนโลยี พัฒนาการของมนุษย์ชาติ

ผลก็คือ:เมื่อขอบฟ้าของโลกภายในเปิดกว้าง ศักยภาพในการสรรค์สร้างก็ย่อมผลิดอกออกผล…สิ่งที่กับตันอเมริกาต้องทึ่งไม่ใช่แค่เพียงโลกวัตถุภายนอกที่แปรเปลี่ยน แต่เป็นรากที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้นที่อยู่ในหัวสมองของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างหาก

 

นี่คือความสัมพันธ์ที่เป็นปรากฎการณ์ระดับสายพันธุ์ของเรา แต่ถ้าเราพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าหลักการนี้ไม่ได้แตกต่างกันในการเอามาประยุกต์ใช้ในระดับบุคคล

โลกเปลี่ยน เมื่อความคิดของคนในสังคมเปลี่ยน

ถ้าเราอยากเปลี่ยน…มันก็เริ่มจากความคิดเช่นกัน

จากตัวอย่างของคนสองคน ชาวนา และกับตันอเมริกา…ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในโลกปัจจุบันอธิบายได้ด้วย

Moore’s law

ที่กล่าวไว้ว่าพลังของคอมพิวเตอร์และการเติบโตของเทคโนโลยีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกๆ 2 ปี

เราจะไม่พูดถึงกรณีของชาวนาในปี ค.ศ. 1000 เนื่องจากเป็นยุคที่มนุษย์ยังไม่ยอมรับ “ความไม่รู้” ของตัวเอง ทว่าในกรณีของกับตันอเมริกานั้นต่างออกไป…เพราะเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ไปแล้ว

เมื่อถึงจุดที่คอมพิวเตอร์มีพลังการคำนวนเทียบเท่าสมองมนุษย์…มันก็จะแซงหน้าเราไปอย่างรวดเร็ว เมื่อนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?

 

70 ปี นับตั้งแต่สงคราวโลกครั้งที่ II จนกระทั้งกับตันตื่นขึ้นในโลกปัจจุบัน: กับตันยังผวา

แล้ว 70 ปี ต่อจากนี้ ไปยังโลกอนาคตจะเป็นเช่นไร ?

คำตอบอย่างสั้นด้วยกฎของ Moore’s law บอกเราว่า “การเปลี่ยนแปลง” จะเร็วขึ้นอย่างมหาศาล

ถ้าเราเคยใช้เวลาคิดค้นวิจัยวัคซีนด้วยระยะเวลา  5 ปี ในยุคปัจจุบัน

เราจะใช้เวลาเวลาน้อยลงมาก ในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยพลังทวีคูณในการคำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 32 เท่า!!!

 

ชุดความรู้ ชุดปัญญา ชุดความคิด กรอบแว่นตาในการทำความเข้าใจโลกในยุคปัจจุบัน เริ่มมีปัญหาในการติดตามความเร็วของโลกที่หมุนไป หากพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ “คนเราจะตกยุคกันเร็วมาก” หากไม่เปิดใจยอมรับและเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยฐานคิดที่อ่อนน้อมว่า “โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว”

ปัญญาอนาคต: หนึ่งในหนังสือที่ชวนมาพูดคุยถึงชุดปัญญาที่จำเป็นในโลกสมัยใหม่ โดยเล่าผ่านแว่นตาของประวัติศาสต์ได้ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยอ่านมา ดูหนังสือได้ที่นี่

 

ในสังคมไทย…

ในยุคสมัยหนึ่ง สูตรสำเร็จของชีวิตอาจเป็นการตั้งใจเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

จบมามีงานทำที่ดีในสายอาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีงานรองรับแน่นอนอย่าง หมอ วิศวะ บัญชี นักกฎหมาย

 

ในขณะที่โลกยังคงหมุนไปด้วยอัตราเร่ง…

เทคโนโลยีใหม่เริ่มย่างกรายเข้ามา AI technology เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัด

อาชีพที่เราเคยเชื่อว่าต้องใช้มนุษย์เท่านั้นในการทำงานอย่างนักรังสีวิทยา ที่วินิจจัยฟิล์ม X-ray  ต้องฝึกฝนตัวเองเก็บประสบการณ์เป็นเวลาหลายปี เพื่อแยกแยะระหว่างชิ้นเนื้อปกติและเนื้อเยื่อมะเร็งระยะต่างๆ ที่อาจคุกคามต่อชีวิต

ล่าสุด AI technology +Machine Learning technology+Big data technology ทำให้เราสามารถสั่งการให้โปรแกรมสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจากฐานข้อมูลภาพ X-ray จำนวนมหาศาล…และมันก็ยิ่งแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ

 

รถยนต์ไร้คนขับ (driverless car) ที่พัฒนาโดยบริษัท google เริ่มให้ทุนหนาเตอะ กับ software engineer ที่มีค่าตัวสูงลิบลิ่ว

ความเท่นี้ท่านได้แต่ใดมา: เมื่อนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดาอธิบายศาสตร์ quantum computing เทคโนโลยีใหม่แห่งโลกอนาคต ดูคลิปเต็มได้ที่นี่

.

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเทคโนโลยีเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ จะเกิดอะไรกับคนที่ยึดอาชีพขับรถมาทั้งชีวิต ในโลกที่หมุนเร็ว จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า อาจไม่มีใครตอบได้เพราะโลกเป็นระบบที่นักปรัชญาเรียกว่า highly chaotic system ที่มีความกลลาหลอย่างใหญ่หลวง

 

และนี่เองคือจุดที่อาจถึงเวลาแล้วสำหรับปัญญาชุดใหม่ๆ…เราไม่อาจยึดถือสิ่งที่เคยคิดเคยเชื่อ….เราไม่อาจยึดเอาคำแนะนำของผู้อาวุโสมาเป็นสรณะ เข็มทิศชีวิต ได้อีกต่อไป (โดยไม่ตั้งคำถาม)

.

และนี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ตัวเล็กๆทุกคนจะเริ่มกลับมายอมรับถึงความไม่รู้ ยอมรับในความอ่อนหัด ว่าตัวเองคือผู้เข้าใจโลกดีแล้ว มันอาจถึงเวลาที่เราจะเริ่มออกตามหา “ปัญญา” ชุดใหม่ๆ …

ปัญญาที่บอกเราว่าถึงเวลาที่เราจะ “ปฎิวัติวิทยาศาสตร์” ในตัวเองอย่างแท้จริง

 

เมื่อรู้ ว่า “ไม่รู้” จึงเริ่ม “หาความรู้” เพื่อ “รู้” ให้มากขึ้นว่าตัวเอง “ยังรู้น้อยนัก”

 

คำกล่าวในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ ที่ว่า “Stay Hungry Stay Foolish” อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ (Steve Jobs Stanford Commencement Speech 2005)

 

ในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณอาจย้อนมาขอบคุณตัวเองที่วันนี้ที่ตัดสินใจประกอบร่าง สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่

ขอบคุณตัวเองที่กล้ามากพอที่จะตั้งคำถามสำคัญๆกับชีวิต ขอบคุณที่ไม่กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง

ขอบคุณตัวเองที่ Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่ บนโลกที่ไม่เคยหมุนช้าลง

มีผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI จำนวนมากทำนายว่า ในอนาคตอันใกล้นี้:ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงชีวิตของพวกเราเอง…เทคโนโลยี AI จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้กับมนุษย์ชาติ…เรากำลังอยู่ในรอยต่อที่สำคัญในประวิติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเราเคยมีการปฎิวัติเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และตอนนี้อาจถึงคราวของ AI สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ในความเร็ว มีความช้า

ในความช้า มีความเร็ว

จงหาสมดุลและที่ทางของตัวเองในโลกสมัยใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

.

แล้วย้อนมาขอบคุณตัวเองจาก “อนาคต” ที่เรากล้าเปลี่ยนตัวเอง “ในวันนี้” เหมือนที่เราเคยเป็นหนี้บรรพบุรุษที่ สร้างสรรค์ปัญญาในการยอมรับในความไม่รู้ เมื่อเกือบ 500 ปีมาแล้ว

 

ปล.จากหลักฐานที่ขุดพบของนักโบราณคดีจวบกระทั่งปัจจุบัน ได้ข้อสรุปว่าสายพันธุ์ของเราเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 แสนปีก่อนในทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทว่าเมื่อ 7 หมื่นปีก่อนสายพันธุ์ของเราได้รับการหยิบยื่นของขวัญจากการทอยลูกเต๋าของพระเจ้าอีกครั้ง เมื่อเกิดความบังเอิญของการกลายพันธุ์ทางสารพันธุกรรมทำให้มนุษย์มีศักยภาพทางสมองในการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมากขึ้นอย่างมหาศาล ในช่วงเวลาดังกล่าวเราเริ่มค้นพบหลักฐานการสร้างสรรค์ของศิลปะ ความเชื่อทางศาสนา เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงชุดของปัญญาโบราณ โดยเราเรียกปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ว่า การปฎิวัติของสมองทางความรู้ความคิด หรือที่เรียกว่า Cognitive revolution นั่นเอง


ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน


อ้างอิง

1.หนังสือ Sapiens a brief history of humankind

2. บทความ The AI Revolution: The Road to Superintelligence

3.หนังสือ Future : ปัญญาอนาคต

4. หนังสือ Rise of the Robots: Technology and the Threat of a Jobless Future

5.Moore’s law – Wikipedia

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน