สำหรับคนทั่วไปอาจจะต้องใช้วลีเตือนใจว่าอย่าตัดสินหนังสือจากเพียงแค่ปก หรือ “Don’t judge a book by its cover”
แต่เชื่อไหมว่ามันมีจริงๆนะครับกับคนที่ชอบดมหนังสือ บางคนก็ชอบกลิ่นหนังสือใหม่ๆ บางคนก็หลงเสน่ห์ไปกับหนังสือเก่าเก็บ
อันที่จริงในภาษาอังกฤษถึงกับมีคำที่ใช้เรียกกลิ่นของหนังสือที่มีเอกลักษณ์พิเศษเหล่านี้ว่า ‘BIBLIOSMIA’
ซึ่งหลายๆครั้งทีเดียวที่พวกเรานักดมหนังสือก็ทำมันไปโดยไม่รู้ตัว
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมตั้งใจจะไปซื้อหนังสือเล่มที่มาดหมายตาไว้ พอไปถึงร้านหนังสือผมรีบเดินปรี่ไปที่มันทันที หลังจากเสพความงดงามของปกและลูบไล้สัมผัสไปตามส่วนต่างๆ ผมก็เผลอหยิบมันขึ้นมาดมจนคนที่ยืนอยู่ข้างๆ ต้องหันมามองเลยทีเดียว
พอลองค้นคว้าหาข้อมูลก็พบว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็น ซึ่งอันที่จริงมันเป็นปรากฎการณ์ที่พบได้ทั่วไป ข้ามเชื้อชาติ ศาสนา หรือพื้นที่เสียด้วยซ้ำ…และนี่คือเหตุผลที่ว่า (บางข้อก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับด้วย)
=====
ขัดเซาะ เปราะบาง ย่อยสลาย เป็นกลิ่นหอมยวนใจ
=====
หากมนุษย์มีกลิ่นกาย ใยหนังสือจะมีบ้างไม่ได้
เคยไหมครับที่เวลาเดินเข้าไปห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยหนังสือใหม่บ้างเก่าบ้าง หรือการก้าวเท้าสาวเข้าไปในร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่มีอุ่นไอบรรยากาศบางอย่างทีลอยมาปะทะจมูก
กลิ่นของความรู้ ความรัก ความเข้าใจ ความจริง ที่โชยออกมาจากหนังสือเหล่านี้ย่อมมีที่มา!!!
เคยสังเกตไหมว่าหนังสือเล่มเก่ามักจะมีสีออกเหลืองๆ หรือดูอย่างหนังสือพิมพ์เก่าเก็บที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีกระดาษไป ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันก็มีสารหลายตัวแหละที่ทำให้หนังสือแต่ละเล่มเกิดกลิ่นจำเพาะขึ้นมา แต่สารตัวหลักๆ ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในเนื้อไม้เหล่านี้ก็คือ ลิกนิน (lignin) โดยสารตัวนี้พบได้ทั่วไปในกระดาษที่ใช้ทำหนังสือ โดยเฉพาะกระดาษที่ไม่ได้มีราคาสูงมากนัก
นอกจากนี้กลิ่นของกาว หมึก และส่วนประกอบต่างๆ ที่ผสมรวม ประกอบสร้างขึ้นมาเป็น ‘สารตั้งต้น’ ที่เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดปฎิกิริยาทางเคมีต่างๆ ทำให้เกิด ‘สารผลิตภัณฑ์’ สุดท้ายซึ่งเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์จำเพาะ…กลิ่นคล้ายๆ อัลมอนด์ผสมระคนกลิ่นวานิลลาหวานหอม
หนังสือใหม่ เรากำลังสูดดมสารตั้งต้น
หนังสือเก่า เรากำลังสูดดมสารผลิตภัณฑ์
ทุกครั้งที่เราเดินเข้าร้านหนังสือ
ทุกครั้งที่เรากำลังหยิบหนังสือขึ้นมาดม
เรากำลังเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนั้นๆ สภาพแวดล้อมที่มันถูกเก็บรักษามา รายละเอียดของวัถถุดิบที่ใช้แตกต่างกันย่อมให้ผลสุดท้ายต่างกัน
หากไม่ได้เก็บหนังสือเล่มเดียวกันไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกันมาโดยตลอด หนังสือเล่มนั้นๆ ย่อมไม่มีทางมีกลิ่นเหมือนกันเลย
แม้ว่าเราจะซื้อหนังสือเพราะเนื้อหาที่อยู่ข้างใน
แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ความงดงามของปก สัมผัสของกระดาษ หรือแม้แต่กลิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนั้นมีพลังน่าดึงดูดให้เราอยากได้มาครอบครองเช่นกัน
หนังสือเล่มใหม่มีกลิ่นสะอาด สดชื่น สดใหม่
ปล่อยนานไปย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นหวานหอมบำรุงฝัน
สำหรับคนรักหนังสือ ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่หนังสือเล่มที่รักจะขาดเสน่ห์น่าหลงไหล…
ครั้งหน้าที่คุณยกหนังสือขึ้นมาดม
หากใครถามว่ากำลังทำอะไรอยู่
ก็คงไม่ยากเกินไปที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้ัฟัง
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน