Loading

wait a moment

5 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกการงานและอาชีพก่อนปี 2022 [Future Of Jobs]

ณภัทร สงวนแก้ว

อ้างอิงจากบทความใน World Economic Forum https://bit.ly/2VXsnzL

โลกการงานในอนาคตได้ย่างกรายเข้ามาเป็น “โลกความจริง” ของคนทำงานและบริษัทนับล้านๆ ทั่วโลก สิ่งน่ารู้ที่ได้รายงานไว้ล่าสุดในเอกสาร ‘Future of Jobs Report’ คาดการณ์ไปถึงสิ่งที่น่าจะเกิดกับพวกเราทุกคนในปี 2018-2022 ไว้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 20 ภาคเศรษฐกิจ และ 12 ภาคอุตสาหกรรม และต่อไปนี้คือสิ่งที่พวกเราควรจะรู้ไว้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมันได้อย่างเต็มที่

 

1.ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบดิจิตอล (Automation, robotization and digitization) ส่งผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน

มือถือพร้อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) การวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analytics) และคลาวด์เทคโนโลยี (cloud technology) ได้ก้าวเข้ามาเป็นเทคโนโลยีหัวหอกสำคัญที่บริษัทต่างๆ ยินดีที่จะศึกษาและพร้อมรับมาใช้ในการทำงานระหว่างปี 2018 – 2022
.
นอกจากนี้ยังมีอีกมากที่มองว่าการเอาระบบการเรียนรู้ของเครื่องกล (machine learning) และเทคโนยีความจริงเสมือน (augmented and virtual reality) มาใช้เป็นการลุงทุนในอนาคตทางธุรกิจ
.
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไป ในช่วงแรกนี้การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์แบบที่เราเห็นๆ กันตามภาพยนต์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นแค่ความสนใจของกลุ่มคนหรือคณะวิจัยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
.
ทว่าที่ร้อนแรงขึ้นมากจริงๆ กลับเป็นพวกหุ่นยนต์อัตโนมัติตามโรงงาน (Stationary robots) ที่น่าจจะเป็นกลุ่มของหุ่นยนต์ที่มีการนำไปใช้มากที่สุดก่อนช่วงปี 2022 โดยถูกใช้งานแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม

 

2.ยังมีอนาคตที่สดใสสำหรับตำแหน่งงาน

(ท่ามกลางการพังทลายของตำแหน่งงานเดิมๆ)

ภายในปี 2022 จะมีการเติบโตของตำแหน่งงานใหม่ๆ สำหรับพนักงานบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกราวๆ 16-27% ในขณะที่ ‘เนื้องาน’ ในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบจากจากเทคโนโลยีเดิมๆ ที่ล้าสมัยและถูกแทนที่ลดลงราวๆ 31-21%
.
ถ้าให้พูดในเชิงตัวเลขตรงๆ จะมีตำแหน่งงาน 75 ล้านตำแหน่งในปัจจุบันที่ถูกทดแทนอันเป็นผลมาจากการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ในสามขั้วระหว่าง มนุษย์-เครื่องจักร-อัลกอริทึม ในขณะเดียวกันก็มีงานใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมากถึง 133 ล้านตำแหน่งงาน
.
ตัวอย่างอาชีพใหม่ๆ เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts), นักพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์, ผู้เชี่ยวชาญระบบการซื้อขายออนไลน์และโซเชียลมีเดีย…เหล่านี้ล้วนเป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีเป็นรากฐานหรือไม่ก็ต่อยอดเอาเทคโนโลยีมาใช้ทั้งสิ้น
.
ถึงจะพูดอย่างนี้ แต่งานอีกแบบที่จะเติบโตเช่นกันกลับเป็นตำแหน่งงานที่อาศัย ‘ความเป็นมนุษย์’ เช่น งานบริการลูกค้า, การขายและการตลาด, งานฝึกอบรมและพัฒนาคน, ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาองค์กร (Organizational Development Specialists) รวมไปถึง ผู้จัดการบริหารนวัตกรรม (Innovation Managers.)

 

3.อัตราส่วนการช่วยกันทำงานระหว่าง

มนุษย์-เครื่องจักร-อัลกอริทึม

จะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

พนักงานเตรียมตัวประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของขั้วการทำงานของ ‘มนุษย์-เครื่องจักร-อัลกอริทึม’ ได้เลย เมื่อมองดูในมุมของชั่วโมงการทำงาน ปัจจุบันแรงงานจากคนคิดมากถึง 71% ของชั่วโมงทำงานทั้งหมด ในขณะที่เครื่องจักรและอัลกอริทึมรวมกันเพียง 29%
.
แต่การคาดการณ์ในปี 2022 ค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานจากมนุษย์น่าจะขยับลดจาก 71% เหลือแค่ประมาณ 58% (เกือบแค่ครึ่งเดียว) แล้วงานที่เหลืออีก 42% จะถูกโอนถ่ายไปให้เครื่องจักรและอัลกอริทึมทำแทน ถ้าลองย้อนกลับมาดูในปัจจุบัน เราจะพบว่าไม่มีงานไหนเลยที่จะถูกทำแทบทั้งหมดจากเครื่องจักรและอัลกอริทึม
.
แต่ในปี 2022 จะต่างออกไป เพราะคาดว่า 62% ของงานประมวลผลข้อมูลในองค์กร การสืบค้นข้อมูล และระบบการจัดการขนส่ง (transmission tasks) จะเป็นหน้าที่ของเครื่องจักรแบบสมบูรณ์
.
ลองย้อนกลับมาดูจุดตั้งต้นในปัจจุบัน เราจะพบว่าการเพิ่มบทบาทของเครื่องจักรที่มาช่วยพวกเราทำงานได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างชัดเจนในหลายภาคส่วน เช่น กระบวนการตัดสินใจต่างๆ งานแอดมิน งานค้นหาข้อมูล
.
แม้แต่ประเภทงานที่เราคิดว่าเป็นงานที่ถูกทำโดยมนุษย์ อย่าง การสื่อสาร การมีปฎิสัมพันธ์ การบริหารจัดการและให้คำแนะนำ ก็เริ่มที่จะถูกเครื่องจักรเข้ามาทดแทนบ้างแล้วไม่มากก็น้อย

 

4.งานใหม่ๆ ย่อมเรียกร้องทักษะใหม่ๆ

 

ภายในปี 2022 เหล่า ‘กลุ่มทักษะ’ ที่พวกเราต้องใช้ทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมองในระดับโลก ค่าความเสถียรของทักษะ (skills stability)*** จะมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคืออัตราส่วนของทักษะหลักที่ใช้ทำงานแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลงคือประมาณ 58%เท่านั้น (ผู้แปล: ทักษะที่เหลืออีก 42% ในปัจจุบันจะไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป)
.
***[ผู้แปล: skills stability เป็นค่าที่บอกเราว่าทักษะเดิมๆ ที่ใช้ทำงาน จะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใดเมื่ออนาคตเดินทางมาถึง เช่น ถ้าบอกว่างานใดงานหนึ่งมี skills stability ต่ำ แสดงว่าทักษะที่ใช้ทำงานในตำแหน่งงานนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะล้มหายตายจากไป]
.
นั่นแปลว่าคนทำงานจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการ ‘เคลื่อนไหล’ ของทักษะในโลกการทำงานมากถึง 42% ภายในปี 2022
.
ในส่วนของทักษะที่จะกลายเป็นทักษะทองคำ ได้แก่ การคิดเชิงวิเคราะห์ การเรียนรู้โดยการลงมือทำจริง (active learning) จนไปถึงทักษะอย่าง การออกแบบเชิงเทคโนโลยี (technology design)

ทักษะเหล่านี้มักจะเน้นไปที่ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ
.
ถึงอย่างนั้นความสามารถทางเทคโนโลยีก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสมการทักษะแห่งอนาคตใหม่เท่านั้น…เราจะเห็นว่าทักษะมนุษย์หลายๆ อย่าง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม (originality and initiative) การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การโน้มน้าวและต่อรอง จะยังคงรักษาคุณค่าเอาไว้หรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในโลกอนาคต
.
ความละเอียดรอบคอบ ความยืดหยุ่นปรับตัว (resilience) และการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน [ผู้แปล: ทักษะเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่เครื่องจักรและอัลกอริทึมยังทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ภายในอนาคตอันใกล้ในระดับ 3-5 ปีนี้]
.
มิติต่างๆของมนุษย์อย่าง EQ ความเป็นผู้นำ และการสร้างผลกระทบเชิงสังคม วิธีคิดเชิงบริการ ยังคงเป็นที่ต้องการและเพิ่มค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

 

5.เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อีกต่อไป

 

ว่าโดยค่าเฉลี่ยแล้ว พนักงานจะต้องการเวลา 101 วันในการฝึกฝนและปัดฝุ่นทักษะต่างๆ
.
ปรากฎการณ์ ‘การถ่างออกของช่องว่างทักษะ’ ที่เกิดขึ้นในหมู่คนทำงานทั่วไปหรือแม้กระทั่งผู้บริหารองค์กรระดับสูง อาจทำให้เกิดความไม่ลื่นไหลในการวางแผนบริหารพัฒนาองค์กรได้
.
โดยความรุนแรงของภาวะนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและพื้นที่ภูมิศาสตร์ ทำให้ราวครึ่งหนึ่งหรือสองในสามของบริษัทต่างๆ ต้องหันมาใช้วิธีการทำสัญญาจ้างคนภายนอก เช่น พนักงานชั่วคราว ฟรีแลนซ์ เพื่ออุดช่องโหว่ของทักษะ
.
การวางแผนทรัพยากรมนุษย์อย่างรัดกุมถี่ถ้วน ทั้งการฝึกฝนทักษะใหม่และปัดฝุ่นทักษะเดิม ( reskilling and upskilling) จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญในการบริการจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว

 

เพิ่มเติม: บทความนี้เป็นบทความที่แปลจากบทความต้นฉบับที่มีชื่อว่า ‘5 things to know about the future of jobs’ ที่เขียนโดยคุณ Vesselina Stefanova Ratcheva และ Till Leopold ซึ่งเผยแพร้บนเว็บไซต์ weforum.org เนื่องจากเป็นเว็บไซต์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าประสงค์เพื่อเผยแผ่ความรู้ ทางผู้แปลจึงสืบทอดเจตนาดั้งเดิมของผู้ผลิตบทความต้นฉบับ ซึ่งบทแปลนี้จึงได้หยิบยืมภาพประกอบมาใช้โดยตรงโดยไม่ได้ตัดต่อแต่งเติมแต่อย่างใด หากผู้อ่านสนใจเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในเรื่องอนาคตของโลกการงานสามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่มีชื่อว่า ‘The Future of Jobs 2018’ ที่จัดทำโดย The World Economic Forum ได้ที่นี่ https://bit.ly/2PNl6A7

 

เครดิตภาพจาก Deloitte Insights หมวด technology and the future of work

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว
ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน