Loading

wait a moment

5 วิธีการที่คนฉลาดๆ ใช้ “ทำลาย” ความสำเร็จของตัวเอง

ก็รู้แหละว่าตัวเองพอจะหัวดีอยู่บ้าง
ก็รู้แหละว่าเข้าใจอะไรได้ง่าย
ก็รู้แหละว่าเป็นคนที่เรียนรู้อะไรได้รวดเร็ว

 

แต่ทำไมรู้สึกว่าตัวเองใช้มันได้อย่างไม่เต็มขีดศักยภาพเสียที
บทความคุณภาพวันนี้จะพาไปสำรวจเหตุผลเหล่านี้กัน

=====
1.บาลานซ์จุดแข็ง-จุดอ่อน ไม่ดีพอ
[Smart people sometimes devalue other skills]
=====

 

คืออย่างนี้ครับ…ความสำเร็จทางโลก ทางธุรกิจหรืออะไรก็ตามแต่ในชีวิตจริงมันเรียกร้องอะไรหลายอย่างมากเหลือเกิน ต่างจากความสำเร็จในโลกการศึกษาที่คุณสามารถโฟกัสพลังสมองของคุณให้เต็มที่ก็เพียงพอจะให้ผลลัพธ์ออกมาดี

 

การทำงานเป็นทีม
การต่อรอง
การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน

 

หลายคร้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน งานชิ้นใหญ่ๆ ที่เราตั้งเป้ากันเอาไว้ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวได้

 

คนที่ “Smart” ย่อมมีทักษะที่จะทำงานออกมาให้ดีอย่างครบถ้วน
แต่คนที่ “Wise” คือคนที่เข้าใจว่าจะขอความร่วมมือได้จากใครแม้ตัวเองจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะทำได้

 

ในหนังสือ PRINCIPLE ที่เขียนโดยสุดยอดปรมาจารย์ Ray Dalio บอกไว้ว่าเราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า blind spot โดยเฉพาะคนฉลาดๆ เก่งๆ ที่จะมีอีโก้สูงจนไม่สามารถเห็นจุดบกพร่อง จุดอ่อน ในงานที่ตัวเองทำ หนักเข้าคือไม่ฟังความคิดเห็นของใคร…หวังว่าพวกเราทุกคนจะตระหนักถึงข้อนี้เอาไว้บ่อยๆ นะครับ

 

=====
2.ต้องทีมเวิร์คอีกแล้วหรอ…เพลียจริงๆ
[Teamwork can be frustrating for very smart people]
=====

 

หากใครเคยดูหนังชีวประวัติของ Steve Jobs ท่านศาสดาของบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน [Jobs (2013)] ในหลายฉากหลายตอนสื่อถึงบุคคลิกที่แข็งกร้าว มาตรฐานสูง ละนั่นทำให้จ๊อปแกชอบทำงานคนเดียวโปรเจกเดี่ยวๆ หรือไม่ก็เป็นทีมที่ตัวเองเลือกขึ้นมาเอง แล้วมีอำนาจควบคุมอย่างเสร็จสรรพ

 

ใช่ครับ, คนเก่งๆ ฉลาดๆ หลายคนเป็นซะแบบนี้
ก็ในเมื่อคุณมีความมั่นใจสูงและเชื่อมือตัวเองมากกว่าใคร
ทำไมต้องปล่อยให้ผลงานตกไปถึงคนที่คุณมองว่าไม่เก่ง (คิดเองสินะ)

 

อันที่จริงนิสัยเหล่านี้มันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาชั่วข้ามคืน แต่ได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็กๆ คนเก่งๆ พวกนี้เข้าใจเนื้อหาได้ไวกว่า หยิบจับ concept ใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ได้ว่องไวกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน..แล้วนิสัยเหล่านี้ก็ติดตัวมาจนโต

 

ปัญหาที่แท้ทรูเกิดขึ้นเมื่อ ภารกิจ การงาน โปรเจก ในวัยผู้ใหญ่มันคนละสเกลกับโครงงานวิทยาศาสตร์ตอนป.4

 

มันต้องอาศัยการวาง Action Plan
มันต้องอาศัยการร่วมมือของหลายหน่วยงาน/หลายแผนก/หลายความถนัดและทักษะ และมันยากที่จะทำได้ด้วยตัวคนเดียว (แต่ก็มีหลายอาชีพแหละที่เหมาะกับพวกชอบลุยเดี่ยว)

 

[วิธีแก้]
ความตระหนักคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง…แค่ตระหนักและชื่นชมความสามารถที่แตกต่างหลากหลายที่จะนำความสวยงามมาสู่ผลงานที่จะเกิดขึ้น…ท่องไว้คับ ลดอีโก้ และเรียนรู้ที่จะกระจายงานให้เป็น

=====
3.ยึดติดความฉลาดของตัวเองมากเกินไป
[Smart people often attach a lot of their self-esteem to being smart]
=====

 

ถ้าไม่คาดหวัง = ไม่ผิดหวัง
แต่เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่คนเก่งๆ จะไม่คาดหวังในความฉลาดของตัวเอง…สิ่งที่จะตามมาคือในชีวิตของเราเลือกไม่ได้หรอกครับที่จะอยู่เฉพาะแต่เวทีที่เราสามารถแสดงความฉลาดของเราได้เต็มที่ได้ตลอดเวลา

 

เคยมีคนยกตัวอย่างคำถามตลกๆ ว่า

“ถ้าคุณจะต้องไปติดเกาะเป็นระยะเวลา 1 เดือน คุณจะพาใครไปด้วยระหว่างนายพรานที่ช่ำชองหรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”

 

พี่เอ๋ นิ้วกลม Roundfinger เคยเขียนเล่าในเพจของตัวเองว่าในแต่ละปีเขาจะมี “เป้าหมายบ้าๆ” ผสมอยู่บ้าง เป็นเป้าหมายหรือภารกิจที่จะพาตัวเขาออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย…อย่างที่รู้ว่าคนเขียนเก่งไม่ได้แปลว่าจะพูดเก่ง…แต่ในปีนั้นพี่เอ๋ลองท้าทายตัวเองด้วยการไปรับบทพิธีกรซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยหรือถนัดแม้แต่น้อย

 

มีคนเก่งหลายคนจำนวนมากที่ยึดติดสุดๆ กับความฉลาดของตัวเอง ฝากชีวิตและความหวังไว้กับมัน แต่โดยไม่รู้ตัว…กลไกการป้องกันตัวของพวกเขาได้กีดกัน “เวทีบ้าๆ” ที่พวกเขาไม่ถนัดออกไปจากชีวิต
เขาไม่อาจรับได้เลยที่จะให้ตัวเองรู้สึกโง่บ้างเป็นครั้งคราว

 

จะดีกว่าไหมที่เราสามารถภูมิใจในความฉลาดของตัวเองไปพร้อมกับชื่นชมความสามารถอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลาย…ความฉลาดไม่ได้มีแบบเดียว ยอมเปิดพื้นที่ทดลองให้กับเวทีใหม่ๆที่ตนเองอาจไม่ถนัด

 

จงเป็นไอน์สไตน์ที่ไม่เกี่ยงที่จะขอความช่วยเหลือจากพรานเมื่อถึงคราวติดป่า
อีโก้กินไม่ได้…แต่พรานสามารถช่วยล่าหาอาการมาให้คุณได้นะครับ

 

=====
4.คนฉลาดขี้เบื่อ
[Smart people get bored easily]
=====

 

“Being smart is not exactly the same as being curious, but if you have both these qualities you might find yourself becoming easily bored “

“การเป็นคนฉลาดกับการเป็นคนช่างสงสัยใคร่รู้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ถ้าคุณมีทั้งสองข้อนี้อยู่ในตัวแล้วล่ะก็…คุณจะรู้ตัวเลยว่า คุณนี่ขี้เบื่อง่ายมากๆ”

 

ด้วยความที่เรียนรู้อะไรได้ค่อนข้างรวดเร็ว แถมถ้าใครที่มีความ “เป็ด” สนใจใคร่รู้ไปเสียทุกอย่าง ไอนี่ก็น่ารู้ ไอนั่นก็น่าศึกษา ก็ไม่ยากนักที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนที่รักการเรียนรู้

 

ทว่า บนโลกใบนี้มีการงานที่หลากหลาย….บ้างใช้ความคิดสร้างสรรค์ บ้างมีลักษณะซ้ำๆ เป็น routine ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนของคนขี้เบื่อเลยทีเดียว เพราะบางทีความสนุกของพวกเราอาจอยู่ในช่วงเรียนรู้ทำความเข้าใจ พอเราเก็ทแล้วว่าภาพรวมมันทำงานอย่างไร พอถึงเวลาที่ต้องลงมือทำก็เบื่อไปก่อนเสียแล้ว

 

หลายงานต้องการความสม่ำเสมอถึงจะเห็นผล
หลายงานต้องการลองผิดลองถูกโดยการทำอะไรคล้ายเดิมซ้ำๆ
หลายครั้งความสำเร็จคือการสั่งสม “จิ๊กซอ” อดทนต่อไปทีละนิดเพื่อสุดท้ายประกอบเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

แม้เราอาจมีความคิดบรรเจิด ไอเดียเลิศล้ำ แต่ท้ายที่สุดเราต้องไม่สับสนว่าผลลัพธ์ย่อมเกิดจากการลงมือทำจริงไม่ใช่การคิด

 

มีหลายงานที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้คิดสร้างสรรค์อะไรตลอดเวลา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่ามีบางขั้นตอนที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “ทู่ซี้” ทำมันไปอย่างนั้นไม่ว่าจะซ้ำซาก อึด ถึก ทน ละน่าเบื่อเพียงใด

 

จำไว้ว่า “Some Boredom Are Worth Melting For”
แทนที่จะล้มเลิกทันทีเมื่อเจอความเบื่อ ลองปรับมุมมอง ถอยออกมาดูไกลๆ เพื่อประเมินดูว่า “ความเบื่อ” นั้นสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ บางทีความสำเร็จไม่ได้มาจากไอเดียบรรเจิดเพียงอันเดียว แต่เกิดจากการสั่งสมความสำเร็จเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

 

ทั้งนี้ก็ไม่ได้บอกว่าให้ละทิ้งความรักในการเรียนรู้ออกไป เพราะอันที่จริงมันคือสมบัติที่ล้ำค่ามากๆ เพียงแต่เราอาจจะเริ่มฝึกตัวเองให้ทนกับความเบื่อบ้าง เช่น การตั้งเป้าหมายเล่นๆกับตัวเองว่าในหนึ่งอาทิตย์จะลองสละเวลาทำเรื่องน่าเบื่อแต่เกิดปรโยชน์ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น 5 ชั่วโมงเป็นต้น….สำหรับผมคือการจัดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อย (เห็นไหมครับว่าไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่เลย)

 

======
5.บางครั้งคนฉลาดเชื่อว่าการคิดให้มาก คิดให้หนัก สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
[Smart people sometimes see in-depth thinking and reflection as the solution to every problem.]
======

ด้วยความที่คนฉลาดสามารถคิดอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลมีตรรกะซับซ้อนได้หลายชั้น เขาจึงเชื่อว่าเจ้าตัวความคิดนี่แหละที่เป็นพระเจ้าที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่างหากคิดให้ลึกมากพอ

 

ปัญหาคือเมื่อจมดิ่งกับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เรา “ละเลย” กับทางเลือกอื่นๆที่อาจจะเวิร์คไม่แพ้กัน

 

เรื่องนี้ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรงกับตัวเองตอนคิดโปรเจกงานอยู่ตัวหนึ่ง วางแผนออกมาซับซ้อนครอบคลุมมาก แต่พอเอาไปปรุึกษากับทีมก็โดนทักว่าทำไมไม่ใช้วิธีนี้ล่ะ ง่ายกว่าตั้งเยอะ ให้ผลเหมือนกัน

 

นั่นแหละครับท่านผู้ชม พอคิดได้เก่ง คิดได้มาก คิดได้ลึก Research ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเป็นกระบุง ก็อาจทำให้พลาดอะไรที่ดูง่ายๆไปได้ หากเป็นคนทั่วไปอาจ give up ยอมแพ้ กับความซับซ้อนและไปหาอะไรที่ได้ผลแต่ง่ายกว่าตั้งนานแล้ว

 

[วิธีแก้]
– ให้ลองสังเกตตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มคิดมากเกินไปจนฟุ้ง

– ลองดูว่าเมื่อไหร่ที่เราควรจะหยุดคิดและลงมือทดลองทำจริงเพื่อรับ feedback จริงซึ่งดีกว่าการนั่งเทียนคิดเองเป็นไหนๆ

– คุณภาพของความคิด(ที่จะนำไปสู่การลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ)ไม่ใช่ว่าคุณคิดได้ลึกและซับซ้อนแค่ไหนแต่คือการมองปัญหาได้อย่างรอบด้านและตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ลองลดอีโก้ในความฉลาดของตัวเองแล้วพูดคุยกับคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

 

 

ก่อนจาก

ครบกันไปแล้วกับหลุมพรางความสำเร็จของคนฉลาด ซึ่งอันที่จริงมันไม่เกี่ยวหรอกว่าคุณฉลาดหรือไม่ฉลาด ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่าความฉลาดของมนุษย์ไม่ได้มีแค่คิดเลขเร็ว แก้สมการเก่ง ความจำดี นั่นเพราะความฉลาดนั้นมีหลากหลาย จะให้ไปวัดความสามารถของปลาจากการปีนต้นไม้มันก็ไม่ถูกจริงไหม ขอเราเพียงเปิดใจและเอาเทคนิคเหล่านี้ประยุกต์ใช้ก็คงทำให้ใครหลายคน “ปลดล๊อค” ตัวเองได้แล้ว

ลองถามตัวเองว่ามีข้อไหนบ้างที่ตัวเราเองมักจะพลาดบ่อย???

 

ที่เรายังไม่สำเร็จเท่าที่ควรอาจไม่ใช่เพราะเราฉลาดไม่พอ
แต่เป็นการเข้าใจว่าความฉลาดไม่ใช่ทุกอย่างของความสำเร็จ

 

ด้านล่างคือการสรุปข้อเตือนใจทั้งหมด 5 ข้ออีกครั้ง

1.ลดอีโก้ของตัวเองลง ความฉลาดมีหลากหลาย ตระหนักถึงจุดอ่อนของตัวเองและเรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือหรือรับฟังจากมุมมองที่แตกต่าง

 

2.เข้าใจว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาจากความร่วมมือร่วมใจ อย่าอุปงานไว้ทำคนเดียวแต่เรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือหรือใช้คนให้ตรงกับงานตามความถนัด แล้วคุณจะไม่ต้องเหนื่อยทำอะไรเองทุกอย่างและได้ผลลัพธ์มากขึ้นจากการประสานพลังของทีม

 

3.อย่ายึดติดในความเก่งของตัวเอง ทดลองทำอะไรที่ตัวเองไม่ถนัดบ้างเพื่อลดอีโก้ ตั้งเป้าหมายบ้าๆเพื่อความกระชุ่มกระชวยของหัวใจและเปิดพื้นที่ใหม่ในการเรียนรู้ นั่นคือการสร้างความฉลาดใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยรู้ตัวว่ามีมาก่อนให้งอกเงย

 

4.จำไว้ว่า “Some Boredom Are Worth Melting For”
แทนที่จะล้มเลิกทันทีเมื่อเจอความเบื่อ ลองปรับมุมมอง ถอยออกมาดูไกลๆ เพื่อประเมินดูว่า “ความเบื่อ” นั้นสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่

 

5.บางปัญหาแก้ได้ด้วยการลงมือทำไม่ใช่การคิด รู้จักหยุดตัวเองเมื่อคิดมากเกินไป ไม่ทำให้ปัญหาซับซ้อนเกินความจำเป็น หาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เรียบง่าย และหลายครั้งมาจากการลดอีโก้ความฉลาดของตัวเองเพื่อขอความคิดเห็นจากคนอื่น

 

ทันทีที่เราตระหนักว่าความฉลาดไม่ใช่ทุกสิ่ง ความฉลาดก็จะไม่เป็นตัวลิมิตความสำเร็จอีกต่อไป…mindset ที่ดี ความรู้ที่มีคุณภาพจะช่วยให้คุณไปไกลได้ไกลกว่าคำว่าความฉลาด หากชอบบทความลักษณะนี้ฝากกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนทีนะครับ…ขอบคุณมากครับ

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

เครดิทภาพและอ้างอิงเนื้อหา: จากบทความระดับคุณภาพจากเว็บไซต์ Harvard Business Review ที่ชื่อ “5 Ways Smart People Sabotage Their Success”

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน