Loading

wait a moment

5 เหตุผลที่การอ่านหนังสือเล่มเหนือกว่าการอ่านออนไลน์ [อ้างอิงจากงานวิจัย]

ต้องบอกก่อนว่าผู้เขียนเองไม่ได้ขุดลึกไปถึงขั้นที่ว่าอ่านงานวิจัยต้นฉบับด้วยตัวเอง แต่อ้างอิงจากบทความ The Reading Brain in the Digital Age: The Science of Paper versus Screens. บนเว็บไซต์ scientificamerican.com ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

 

เอาล่ะมาดูกันว่าระหว่างการไถหน้าจออ่าน Facebook News Feed หรือแม้กระทั่งการอ่าน E-book ผ่านแท็บเล็ต มือถือ หรือแม้กระทั่งเครื่องอ่านหนังสืออย่าง Kindle ทำไมมันถึงไม่สามารถเทียบเคียงกับการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ แบบจับต้องได้

 

ใบ้ให้ว่ามันเกี่ยวข้องกับสิ่งเล็กน้อยๆ ที่เราคาดไม่ถึงอย่าง
– การพลิกหน้ากระดาษหลังอ่านจบ
– รูปเล่ม หน้าตา นํ้าหนักของหนังสือ
– ตำแหน่งของประโยค เนื้อหา ข้อความที่อยู่ตำแหน่งต่างๆของหน้ากระดาษ
– สภาวะจิตใจและสิ่งรบกวนที่แตกต่างกันของการอ่านทั้งสองชนิด

=====
วิทยาศาสตร์ของสมองในการอ่าน
=====

 

คุณอาจจะคิดว่าการอ่านหนังสือนั้นเป็นอะไรที่เก่าแก่และเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากๆ แต่ความจริงแล้วการอ่านนั้นเพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับอารยธรรมมนุษย์เมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรเกิดขึ้น และมาบูมมากๆในความหมายของการอ่านหนังสือในปัจจุบันในยุคสมัยแห่งการปฎิวัติอุตสาหกรรมและก่อกำเนิดแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กที่ทำให้การผลิตหนังสือปริมาณมากๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง

 

นั่นหมายความว่าเป็นเวลานับหมื่น นับแสนปีที่เราวิวัฒนาการขึ้นมาในในฐานะสายพันธุ์ Homo sapiens ที่เราไม่เคยมีการอ่านหนังสืออยู่ในชีวิตประจำวันเลย หรือพูดอย่างง่ายๆว่า มนุษย์ถ้ำยุคหินไม่อ่านหนังสือกันหรอกนะครับ

 

ซึ่งประเด็นก็คือสมองของเรานั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการอ่านโดยเฉพาะตั้งแต่กำเนิด นั่นทำให้เราต้องใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตในวัยเด็กฝึกท่อง กอ ไก่ ถึง ฮอ นกฮูก ฝึกสะกดคำ ฝึกเขียน ฝึกอ่านตามคุณครูเป็นระยะเวลาหลายปีเลยทีเดียว

 

จะนักเขียนรางวัลซีไรต์หรือนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมล้วนเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องฝึกเขียน ฝึกอ่าน ฝึกสะกดคำแบบง่ายๆในตอนเด็กมาก่อนทั้งนั้น

 

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ…สมองของมนุษย์ในระหว่างการอ่านหนังสือนั้นมันไม่สามารถแยกได้ออกหรอกครับว่านั่นคือข้อมูลนามธรรมที่ลอยอยู่บนหน้ากระดาษ

 

ในชั่วขณะที่เราอ่านคำว่า “มานีจับปูอยู่ในนา” เราไม่ได้แค่เห็นภาพมานีที่กำลังแช่เท้าเปียกๆ ก้มลงจับปูในหัวเราเท่านั้น

แต่เรายังมีสมองอีกส่วนหนึ่งที่ “เห็น” ประโยคเหล่านั้นเหมือนกับว่ามันเป็นของที่จับต้องได้อย่างหนึ่ง นั่นคือส่วนโค้ง ส่วนเว้า การเว้นวรรค ลายเส้นตัวอักษรของประโยค “มานีจับปูอยู่ในนา” นั่นเอง

 

เราทุกคนล้วนไม่ได้เกิดขึ้นมาบนโลกด้วยวงจรประสาทที่สามารถเข้าใจตัวหนังสือตั้งแต่เกิด ความสามารถในการอ่านจึงถูกสร้างจากการสั่งสอนและฝึกฝนของคนแต่ละคน

 

มีสมองหลายส่วนที่ร่วมกันทำงานเพื่อให้ “การอ่านเป็นไปได้” และหนึ่งในนั้นก็คือสมองที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ควบคุมของวัตถุในพื้นที่สามมิติ
หรือพูดให้ง่ายคือสมองเราตีความตัวอักษรหรือประโยคที่เราอ่านไม่แตกต่างจากวัตถุอื่นๆในชีวิตประจำวัน

เหมือนที่เราสามารถแยกแยะรูปร่างของกล้วยออกจากส้มได้ และเป็นความสามารถเดียวกับที่ทำให้คนเล่นรูบิคจดจำได้ว่าสีที่กำลังค้นหาถูกหมุนไปอยู่ที่หน้าไหน แม้จะไม่ได้เห็นได้ด้วยตา แต่ก็จำได้จากความสามารถในการมองภาพในหัวเป็นสามมิตินี่เอง

 

=====
แล้วทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าทำไมหนังสือเล่มจึงตอบโจทย์หลายๆอย่างในมิติของการทำงานของสมอง…เราอ่านมันได้เข้าใจมากกว่า จำได้มากกว่า เพลิดเพลินมากกว่า
=====

 

ไปดูกันว่าธรรมชาติของสมองเหล่านี้ส่งผลให้การอ่านหนังสือเป็นเล่มเหนือกว่าการอ่านในรูปแบบดิจิตอลอย่างไรบ้าง

 

=====
1.เข้าใจได้มากกว่า
=====

สิบคนอ่าน
สิบวัตถุประสงค์ในใจ

 

ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าแท้จริงแล้วการอ่านก็อาจไม่ได้มีความสูงส่งกว่าการเสพสื่อรูปแบบอื่นเหมือนกับที่สังคมพยายามให้ภาพนั้นกับมัน เช่นเดียวกับ ภาพยนต์ การฟังละครเวที การดูคลิปใน Youtube
นั่นคือการรับ input ของข้อมูลเข้าสู่สมอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไปเพื่อการเรียนรู้หรือการหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้งานเสมอไป

 

แต่ความจริงอีกชุดก็คือมีผู้อ่านจำนวนมากเช่นกันที่ใช้การอ่านเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการหาความรู้หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
คนกลุ่มนี้จึงต้องการ 2 สิ่งที่สำคัญคือ

1) ความเข้าใจ (knowing)
2) การจดจำได้ (remembering)

ซึ่งสองสิ่งนี้อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน…บางคนเข้าใจแต่จำไม่ได้ว่าไปรู้มาจากแหล่งไหน รู้ตัวอีกทีความรู้เหล่านั้นก็เป็นหนึ่งเดียวกับตัวตนของเขา และมีผลไปยังวิธีคิดและตัดสินใจต่างๆ ในขณะที่การจำได้อาจไม่ได้หมายถึงความเข้าใจเสมอไป

 

ในปี 2003 Kate Garland ได้มีการศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัย University of Leicester จำนวน 50 คน โดยให้อ่านเนื้อหาวิชา introductory economics ซึ่งจะมีกลุ่มที่อ่านโดยจอคอมพิวเตอร์ และอีกกลุ่มที่อ่านจากหนังสือที่จับต้องได้

 

หลังจากนั้นจึงให้ทำแบบทดสอบ
ผลออกมาว่าคะแนนไม่ได้แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม
แต่พอพูดถึงระดับความเข้าใจลึกๆ…นั้นมีความแตกต่าง

 

แล้วพวกนักวิจัยอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร ?

 

เรามาดูกันก่อนว่านักจิตวิทยาอธิบายความแตกต่างของสองคำนี้ว่าอย่างไร…ถ้าเราบอกว่าเราจดจำสิ่งหนึ่งได้มันหมายถึงความสามารถในการดึงข้อมูลที่จดจำออกมาใช้ได้ เช่น เราจดจำได้ว่าเด็กและโค๊ชที่ติดถ้ำมีจำนวน 13 คน เกิดการช่วยเหลือจากหลายฝ่าย แม้แต่ Elon Musk ก็ยังมาร่วมแจมในวันท้ายๆ…การที่เราจำได้ว่าอะไร ที่ไหน อย่างไร และรู้ว่าเรารู้สิ่งนั้นมาจากไหนจะเรียกว่าการจดจำได้

 

ในขณะที่การรู้หรือการเข้าใจนั้นหมายความว่าเรารู้ว่าข้อมูลนั้นๆ เป็นความจริง เราเห็นด้วยกับข้อมูลดังกล่าวและรู้อยู่แล้วว่าเรารู้สิ่งนั้น
เช่นถ้าให้พยายามอธิบายว่าทำไมถึงใช้วิธีการช่วยเหลือเด็กด้วยวิธีที่ใช้ เหตุผลและเบื้องหลังที่ทำแบบนั้นเพราะอะไร ทำไมเรือดำน้ำจิ๋วของ Elon Musk ส่งมาใช้การไม่ได้

 

ซึ่งหลายๆครั้งในการสอบนั้น เพียงเราจำได้ก็สามารถทำข้อสอบได้ถูกต้องแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองกลุ่มจึงมีคะแนนที่ไม่ได้แตกต่างกัน

มองดูผิวเผินอาจจะคิดว่าการจำได้นั้นก็เพียงพอแล้วหรือเปล่า ไม่ต้องรู้หรือเข้าใจมากก็ได้ในการอ่านหนังสือเพื่อไปทำแบบทดสอบ แต่ความเป็นจริงก็คือการจำได้นั้นมีจุดอ่อนที่มันจะหายไปตามกาลเวลาถ้าไม่ได้รับการหยิบยกมาใช้บ่อยๆ เพื่อตอกยํ้าเป็นความทรงจำระยะยาว ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจนั้นแม้ว่าเราอาจจะจำรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยๆ ไม่ได้ทั้งหมดแต่เราก็จะสามารถประมวลผลจากสาเหตุและผลลัพธ์และความเกี่ยวข้องกันของข้อมูลจนหาคำตอบได้ แม้ว่าโจทย์จะมีการพลิกแพลงเพียงใด

 

หากเราอาศัยแต่เพียงการจดจำ เราอาจตอบข้อสอบหรือคำถามนี้ได้แบบนกแก้วนกขุนทองแต่จะไม่สามารถเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นและคงยากที่จะนำความรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์เป็นอะไรได้

 

มีการตีความการทดลองต่อว่า…
นักศึกษาที่อ่านผ่านการคอมพิวเตอร์มักจะพึ่งพาการจดจำมากกว่าความเข้าใจ ส่วนกลุ่มที่อ่านจากหนังสือจะใช้ทั้งความจำและความเข้าใจในการทำข้อสอบพอๆกัน โดยเหตุผลคือกลุ่มที่อ่านจากหนังสือมักจะไม่ต้องเสียเวลาในการพยายามนึกให้ออก แต่จะรู้ตำตอบเหล่านั้นในทันทีทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการจดจำระยะสั้นเหล่านั้นมากนัก

 

แล้วอะไรทำให้เราเข้าใจมากกว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่ม ?

=====
2.การอ่านหนังสือเล่มสอดคล้องกับการทำงานของสมองมากกว่า
=====

 

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นบทความว่าสมองมีการรับรู้ตัวอักษรไม่แตกต่างจากวัตถุ นั่นทำให้การอ่านบนหนังสือที่มีการแยกหน้าซ้ายขวา มีบน มีล่าง มีเหลี่ยมมุมเช่น หน้าบนซ้าย ทำให้สมองของเราสามารถยึดโยงความหมาย ความเข้าใจของเนื้อหา เข้ากับพื้นที่ของหน้ากระดาษได้ดีขึ้น

 

มีหลายงานวิจัยที่มายืนยันแนวคิดนี้โดยทำขึ้นในปี 2013 โดย Anne Mangen ที่มหาวิทยาลัย University of Stavanger มีการแบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม…เช่นเคย นั่นก็คือกลุ่มที่ให้อ่านจากหนังสือเล่ม และกลุ่มที่อ่านเป็นไฟล์ pdf ในคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นก็ให้ทำการทดสอบความเข้าใจ

 

แต่ที่น่าสนใจคือระหว่างการทดสอบจะให้ดูเนื้อหาเหล่านั้นไปด้วยได้ระหว่างการทดสอบ

กลุ่มอ่านจากหนังสือก็เปิดหนังสือ
กลุ่ม pdf ก็อ่านจากคอมพิวเตอร์

 

ผลปรากฎว่ากลุ่มที่อ่านจาก pdf ทำคะแนนได้ย่ำแย่กว่ากลุ่มที่อ่านจากหนังสือนิดหน่อย (นี่ขนาดว่าเปิดเนื้อหาสอบได้ ยังมีส่วนต่างของคะแนน)

ผู้วิจัยได้สรุปผลการทดลองว่า ถึงแม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะเปิดเนื้อหาดูได้ระหว่างสอบ แต่ก็ยังมีส่วนต่างของคะแนนอาจเป็นเพราะว่ากลุ่มที่อ่านจาก pdf จะมีความยากลำบากจากการค้นหาข้อมูลที่ต้องการเพื่อนำมาตอบข้อสอบได้ยากกว่ากลุ่มที่อ่านจากหนังสือเล่ม

 

ด้วยธรรมชาติของการอ่านแบบดิจิตอลที่มีข้อความเรียงยาวตั้งแต่ต้นจนจบเป็นแถบยาวเหมือนไม่สิ้นสุดทำให้สมองของเราเกิดความรู้สึก “หลง” ใน “ตำแหน่งแห่งหน”

 

อ่านมายาวเท่าไหร่แล้ว
เราอยู่ในหัวข้อย่อยอะไร
จะจบประเด็นส่วนเนื้อหาที่อ่านแล้วขึ้นเรื่องไหม่ที่ไหน
ไม่มีหน้าซ้ายขวา บนล่างเป็นตัวอ้างอิง

 

ในขณะที่ถ้าเป็นหนังสือเล่มเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยมือของเราเอง จะเปิด จะพลิก จะเปลี่ยนหน้า ด้วยความง่ายของการ “สำรวจ” เนื้อหาเหล่านี้ ทำให้เราแยกแยะส่วนเริ่มส่วนจบของเนื้อหาแต่ละประเด็นได้อย่างชัดเจน

 

ทำให้เราเชื่อมโยงความเข้าใจและภาพในหัวเข้ากับส่วนต่างๆของหนังสือได้อย่างเป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับการทำงานของสมองได้มากขึ้น ทำให้เรามีพลังงานไปโฟกัสกับเนื้อหาและเข้าใจมันได้ดียิ่งขึ้น

=====
3.จำได้มากกว่า
=====

หลายๆครั้งเลยทีเดียวที่เราจะสามารถจำได้ไปอย่างอัตโนมัติเลยว่าสิ่งที่เราอ่านมาจากส่วนไหนของหนังสือเล่มไหน

 

ความหนาของหนังสือ อยู่ส่วนต้น ส่วนกลาง หรือส่วนท้ายเล่ม
อยู่หน้าซ้ายหรือขวา บนหรือล่าง อยู่ต่อจากหัวข้ออะไร

 

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่จะมีการอ้างอิงหนังสือบางเล่มบ่อยๆจนเราสามารถนึกภาพในหัวได้เลยว่าเนื้อหาอะไรอยู่ส่วนไหนของหนังสือ

ปรากฎการณ์ที่สมองของเราเชื่อมโยงระหว่าง “พื้นที่” บนหน้ากระดาษที่จับต้องได้ เข้ากับ “ความหมาย” ของเนื้อหาเข้าด้วยกันมีส่วนช่วยอย่างมากในการจดจำเนื้อหาที่เราอ่านซึ่งเป็นอะไรที่การอ่านแบบดิจิตอลไม่สามารถให้กับเราได้

=====
4.haptic dissonance— อ่านเป็นเล่มมันฟินกว่า
=====

ภาพประกอบจากหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind หน้า 139 แสดงให้เห็นถึงจุดกำเนิดทางภาษาของอารยธรรมมนุษย์ในช่วงเริ่มต้นที่มีลักษณะตัวอักษรเป็นภาพ…ซึ่งเน้นย้ำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “ภาพภายนอก” หรือตัวอักษร ที่สะท้อนออกมาเป็น “ภาพภายใน” ที่สมองของเรารับรู้

 

ไม่รู้ว่าเคยเป็นไหมครับเวลาที่เราซื้อหนังสือเล่มใหม่แสนรักที่เรารอคอยมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการ กอด จูบ ลูบคลำ มันราวกับเป็นคนรักเสียอย่างไรอย่างนั้น

 

อันที่จริงภาษาอังกฤษเรามีคำเรียก “เสน่หาทางกลิ่น” ของหนังสือด้วยล่ะครับว่า ” BIBLIOSMIA” หรือกลิ่นหอมของหนังสือซึ่งเชื่อเถอะว่ามีคนเสพติดมัน และผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

 

มีงานศึกษาจำนวนมากที่พบว่าความฟินจากประสบการณ์ทางการสัมผัสหนังสือด้วยรูป รส กลิ่น เสียง ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อความชอบในการอ่านหนังสือมากกว่าที่เราคิด

 

ทุกครั้งที่เราอ่านจบหน้าแล้วพลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
มันมีเสียงเล็กๆ ของกระดาษที่เสียดสี

 

ทุกครั้งที่เรากลับมาบ้านแล้วเห็นรูปร่างสีสันของปกหนังสือ
มันกระตุ้นความรู้สึกของการอยากหยิบมาเปิดอ่าน

 

ในขณะที่เราพกพาหนังสือไปไหนมาไหน
มันมีรูปร่าง นํ้าหนักเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนั้นๆ

 

หรือแม้กระทั่งบางคนยังรู้สึกชอบและเพลิดเพลินไปกับการเลือกซื้อหาหนังสือเล่มใหม่ๆ และลืมตัวที่จะหยิบขึ้นมาดมทุกครั้ง

 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่การอ่านในรูปแบบดิจิตอลไม่สามารถให้กับเราได้
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักอ่านจำนวนมากมองว่าเป็นเสน่ห์ที่จับต้องได้ของการอ่านหนังสือเล่ม…การศึกษาเรียกแรงเสียดทานที่ทำให้นักอ่านจำนวนมากเลือกที่จะอ่านหนังสือเล่มมากกว่าการอ่านในรูปแบบดิจิตอลว่า “haptic dissonance”

 

ในท้ายที่สุดกิจกรรมทางการอ่านก็ยังเป็นมากกว่า
การ input ข้อมูลเข้าสู่สมอง
บางคนอ่านและสะสมปกหนังสือที่ตนเองชอบ
บางคนใช้หนังสือเป็นการสะท้อนตัวตนผ่านประเภทหนังสือที่อ่าน
เรารักหนังสือไม่เพียงเพราะเนื้อหาที่อยู่ภายในมันสอดคล้องต้องสัมผัสกับตัวตนของเราเท่านั้น แต่เรายังมองมันว่าเป็นเพื่อนคู่กายที่สามารถจับต้องมองเห็นได้อีกด้วย

 

=====
5.มีสมาธิในการอ่านมากกว่า
=====

 

มีงานศึกษาวิจัยในปี 2011 ที่ Technion–Israel Institute of Technology พยายายามจะหาคำตอบว่าระหว่างการอ่านผ่านดิจิตอลและการอ่านหนังสือเล่มให้ผลแตกต่างอย่างไรบ้างในการเรียนรู้และจดจำ

 

อาสาสมัครที่เป็นนักเรียนถูกแบ่งออกเป็นสองสถานการณ์ โดยสถานการณ์แรกจะให้อ่านเนื้อหาภายใต้ระยะเวลาจำกัดเพียง 7 นาที และสถานการณ์ที่สองจะมีอิสระในการอ่านอย่างไม่กำหนดเวลา

 

จากนั้นจึงให้ทำแบบทดสอบ…พบว่า
ในสภาวะที่มีการกำหนดเวลา นักศึกษาในกลุ่มที่อ่านแบบดิจิตอลและอ่านเป็นเล่มจะทำคะแนนได้พอๆกัน ในขณะที่สภาวะให้อ่านอย่างอิสระนั้น กลุ่มที่อ่านหนังสือ.เล่มจะทำแบบทดสอบได้คะแนนมากกว่าถึง 10%

 

คำเฉลยของปรากฎการณ์นี้ที่เป็นไปได้คือสิ่งที่เราค่อนข้างรู้กันลึกๆ อยู่แล้ว…นั่นคือสภาวะจิตใจที่แตกต่างกันของการอ่านบนสอง platform

ลองนึกว่าการที่เราจะอ่านหนังสือซักเล่ม มันค่อนข้างเรียกร้องอะไรหลายๆอย่าง เริ่มจากการคิดว่าจะอ่าน การเคลียธุระภารกิจแสนวุ่นมากมายในแต่ละวันให้เสร็จ จนกระทั่งเราหยิบหนังสือเล่มนั้นมาอ่านอย่างสงบเพียงลำพัง…มันเป็นกิจกรรมที่ต้องทำเพียงอย่างเดียวด้วยพลังโฟกัสอย่างเต็มที่

 

ในขณะที่การอ่านบนดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นบทความออนไลน์ที่โผล่มาในโซเชียลมีเดียหรือการเข้าเว็บบล๊อคโปรดที่ชอบตามอ่านอยู่เป็นประจำ

ถึงแม้ว่าเราจะอ่านเนื้อหาเหล่านี้ด้วยความชอบหรือความสนใจส่วนตัวก็จริง แต่เรามักจะมี “ท่าที” ของการอ่านเนื้อหาเหล่านี้ด้วยความ “ไม่ซีเรียซจริงจัง” มากนัก อีกทั้งธรรมชาติของการอ่านบนโลกดิจิตอลยังมีลักษณะของการ “Multitasking” ในการอ่านเป็นอย่างมาก เช่น เดี๋ยวอ่าน เดี๋ยวตอบอีเมลล์ เดี๋ยวค้นหา Keyword หรือเปิดลิงค์ใหม่

 

โดยรวมแล้วการอ่านหนังสือเล่มจึงสร้างปรากฎการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า

“Metacognitive Learning Regulation”

หรือสภาวะทางจิตใจก่อนการอ่านที่มีการตั้งเป้าหมายไว้ในหัวอย่างชัดเจนว่าเรากำลังจะอ่านเพื่อเรียนรู้สิ่งใด การทบทวนอ่านซํ้าในส่วนที่ไม่เข้าใจ หรือการจดบันทึกโน๊ตย่อต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นเมื่อเราอ่านบนช่องทางดิจิตอล

 

สรุปมาได้ 5 ข้อดีของการอ่านหนังสือเล่ม

1.เข้าใจได้มากกว่า
2.สอดคล้องกับการทำงานของสมองมากกว่า
3.จำได้มากกว่า
4.อ่านเป็นเล่มจับต้องได้มันฟินกว่า
5.มีสมาธิในการอ่านมากกว่า

 

ใจความหลักจริงๆที่ผู้เขียนอยากจะสื่อไม่ใช่ว่าเราจะต้องอ่านเฉพาะหนังสือเล่มเท่านั้น เพราะโดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็ใช้เวลาไปกับการอ่านบทความออนไลน์มากกว่าหนังสือเสียด้วยซ้ำ

 

แต่การที่เรารู้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้เราสามารถปรับการอ่านของเราให้สอดคล้องกับสมองได้มากขึ้น เช่น จดโน๊ตไปด้วยระหว่างการอ่าน การเริ่มต้นอ่านด้วยเป้าหมายในจิตใจ การทบทวน การอ่านอย่างมีสมาธิ ก็จะสามารถทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพของการอ่านแบบดิจิตอลได้

 

ไม่ว่าจะอ่านจากไหน แหล่งใด ขอให้เราอ่านอย่างมีความสุขและตอบโจทย์ชีวิตของเราเองโดยไม่ต้องให้ใครมากำหนด…

แม้การอ่านจะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียว แต่เราก็ไม่เคยต้องโดดเดี่ยวเมื่อได้รู้ว่ามีเพื่อนนักอ่านอีกมากมายที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน