Loading

wait a moment

ทำไมมนุษย์ถึงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดอย่างที่เราคิด

วันนี้ผมจะชวนเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกทุกคนมาดูกราฟอันหนึ่งครับ มันเป็นหนึ่งในกราฟที่ผมชอบมากเพราะมันทำให้เราถ่อมตัวในความรู้ของตัวเราเอง

คุณฉลาดแค่ไหน

มาเริ่มจากคำถามกันก่อนดีกว่า
คุณคิดว่าคุณฉลาดแค่ไหนกันครับ ???
ใครโดนคำถามแบบนี้เข้าไปก็คงจะจุกอยู่ข้างในไม่น้อย
ใครเล่าอยากจะคิดว่าตัวเองไม่ฉลาดจริงไหมครับ
.
แล้วถ้าถามใหม่เป็นว่า…
คุณคิดว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Homo sapiens)
เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดไหมครับ ???
.
ลองมองไปรอบๆ ตัว มือถือที่คุณใช้อ่านบทความนี้อยู่ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ตู้เย็น หนังสือเป็นหมื่นล้านเล่มที่อยู่ในห้องสมุด ส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ สร้างระเบิดนิวเคลียร์ แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนนี้ มีระดับสติปัญญาขนาดไหนถึงสามารถมีพลังในการควบคุมธรรมชาติจนสามารถครอบครองโลกได้อย่างทุกวันนี้
.
.
เอาล่ะครับ ในเมื่อมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดนัก
ถ้าอย่างนั้นผมขอยกตัวอย่างอะไรซักหน่อย
เป็นตัวอย่างที่อาจจะดูแปลกพิลึกไปบ้าง
แต่มันจะช่วยให้คุณเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน

ชิมแปนซี Vs ไอสไตน์

Janet McConnaughey/AP
สมมุติว่าผมจับนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์คนหนึ่ง พร้อมกับลิงชิมแปนซีอีกหนึ่งตัวไปปล่อยที่ป่าดึกดำบรรพ์แห่งหนึ่งที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศน์ถักทอเป็นสายใยซับซ้อน…คุณคิดว่าคนผู้มีสติปัญญาผู้นี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ในป่าแห่งนี้ได้กี่วัน ระหว่างคนกับลิงใครจะตายก่อน
.
จริงอยู่ว่าในหนังฮอลลีวูดหลายๆ เรื่องพระเอกติดเกาะของเราจะเอาตัวรอดด้วยทักษะต่างๆ นาๆ เขาสร้างบ้านได้ ต่อเรือเป็น ทำหอกไม้ ทำธนูล่าสัตว์
.
แต่นั่นเพราะเขาเคยเห็นสิ่งเหล่านั้นมาก่อนใช่ไหม แล้วถ้าเราลบความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างอุปกรณ์ต่างๆ จากหัวสมองของเขา แล้วให้เขาคิดค้นขึ้นมาเองแบบออริจินอลจะมีโอกาสแค่ไหน จะใช้เวลาเท่าไหร่ หรืออาจไม่มีวันคิดขึ้นมาได้เลยด้วยซ้ำ ?
.
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อเรามองไปยังเทคโนโลยีเก่าแก่หลายๆ อย่างในอดีต ยกตัวอย่างเช่น ธนูสักคัน เราจะพบว่าไม่ใช่ทุกวัฒธรรมในอดีตของมนุษย์จะคิดค้นอาวุธนี้ขึ้นมาได้ การกระจายตัวของกลุ่มสังคมที่พบการใช้ธนู “มักจะ” อยู่ในภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อชนเผ่าหรืออารยธรรมสองชนเผ่ามีปฎิสัมพันธ์กันไม่ว่าจะทางบวกอย่างการค้าขาย หรือทางลบ อย่างการก่อสงคราม ก็จะเกิดการถ่ายเททางความรู้ในการทำธนูเกิดขึ้น
.
ไม่ใช่คนทุกกลุ่มในพื้นที่ต่างๆ ของโลกจะสามารถ “คิดค้น” ธนูขึ้นมาได้ และก็มีแนวโน้มว่าชุมชนที่มีการใช้ธนูก็ไม่ได้คิดค้นมันขึ้นมาโดยพวกเขาเองแต่มาจากชุมชนข้างเคียง
.
ดูไปรอบๆ ตัวสิครับ ปากกา หมึก คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้จักดี แต่เอาเข้าจริงถ้าให้เราอธิบายกลไกการทำงานของมันอย่างละเอียดเราทำได้ไหม ? แต่ถึงเราจะส่ายหน้าเป็นคำตอบ เราก็ยังใช้ชีวิตต่อไปได้ ยังอ่านโพสนี้อยู่บนอินเตอร์เน็ต ยังทำสิ่งต่างๆ อย่าปกติแม้ว่าเราแทบไม่ได้เข้าใจการทำงานหรือวิธีการที่มันถูกสร้างขึ้นมาเลยสักนิด
.
สื่งเหล่านี้มันเป็นไปได้ยังไง
.
ก็เพราะโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของคนที่เก่งด้านนั้นๆ อีกนับร้อยนับพันทั่วโลกในสาขาที่แตกต่างหลากหลาย แม้เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ไม่เคยรู้จัก และอาจอยู่อีกฟากโลกหนึ่งเสียด้วยซ้ำ
.
ยกตัวอย่างแท่นพิมพ์กูเทนเบิร์กที่มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ที่ทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารและการสั่งสมความรู้ของมนุษย์ชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
แต่รู้ไหมครับว่าแท่นพิมพ์กูเทนเบิร์กไม่ใช่เทคโนโลยีการพิมพ์แรกของโลกที่ถูกคิดค้นขึ้น
.
กลไกการพิมพ์ลักษณะคล้ายๆ กันก็ถูกคิดค้นขึ้นมาในจีนแล้วก่อนหน้า …อีกทั้ง 90% ของเทคโนโลยีแท่นพิมพ์นั้นก็หยิบจับเอาเทคโนโลยีดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วมาใช้ ทว่าเป็นอีก 10% ที่เหลือต่างหากที่โยฮันเนิส กูเทินแบร์คได้คิดค้นต่อยอดขึ้นมา

ความหมายของกราฟ

สิ่งเหล่านี้สามารถถูกอธิบายได้ด้วยกราฟของบทความนี้
#เส้นแกนตั้ง คือ ความรู้ ความฉลาด ประสบการณ์ ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
 
#เส้นแกนนอน หมายถึงระยะเวลาที่ผ่านไป
.
ส่วนแถบแท่งเทียนสีฟ้าแต่ละแท่ง คือความรู้ ที่ถูกสร้างขึ้นในรุ่นใดรุ่นหนึ่ง
.
ในกรณีที่มนุษย์ไม่มีการจัดเก็บหรือถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นต่อไปเลย พูดอย่างง่ายว่าความรู้ก็จะหายไปเมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ในชนเผ่าได้เสียชีวิตไป ถ้าหากเป็นเช่นนั้น กราฟแท่นเทียนความรู้สีน้ำเงินของรุ่นถัดไป ก็ควรจะเริ่มขึ้นจากศูนย์ หรือที่ฐานล่างสุดของกราฟ
.
แต่ในโลกความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ในโลกที่โยฮันเนิส กูเทินแบร์ค ไม่ได้คิดค้นแท่นพิมพ์ขึ้นจากศูนย์
ในโลกที่ห้องสมุดมีหนังสือมากมายเกินกว่ามนุษย์คนใดจะอ่านได้หมด
ในโลกที่มีการถ่ายทอดความรู้ในการสร้างธนู
แม้แต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็ยังมีภาพเขียนถ้ำให้ลูกหลานได้ศึกษา
.
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกราฟแท่งเทียนแท่งที่สองจากทางซ้าย หรือคนรุ่นที่สองของเผ่าถึงไม่ได้เริ่มจากศูนย์ นั่นเพราะมนุษย์เรียนรู้จากกันและกัน ตัวเราคนเดียวไม่สามารถคิดได้ทุกอย่าง แต่ทุกช่วงเวลา ‘ยูเรก้า’ ที่ไอเดียใหม่ๆ ที่มีใครคนหนึ่งคิดได้ ข้อมูลนั้นย่อมจะถูกถ่ายทอดไปให้คนอื่นๆ ในกลุ่มสังคม
.
มนุษย์แต่ละคนไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น แต่เป็นเพราะเราทุกคนทั้งหมดต่างหากที่ฉลาด ใครซักคนในเผ่าเมื่อเกือบหมื่นปีมาแล้วอาจจะบังเอิญค้นพบวิธีการสังเกตหมู่ดาวบนท้องฟ้าเพื่อเอามาทำนายช่วงเวลาที่ฝูงสัตว์จะอพยพกลับมาอีกครั้งในฤดูกาลหน้าแล้วถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่นๆ ในเผ่า แม้ว่าระบบนั้นจะซับซ้อนและไม่ใช่ทุกคนจะคิดขึ้นมาเองได้ แต่เมื่อระบบนี้ถูกกระจายไปในเผ่า แม้แต่คนที่ฉลาดน้อยที่สุดในเผ่าก็ยังสามารถเอาระบบนี้ไปใช้ประโยชน์กับชีวิตตนเองและครอบครัวได้
.
และไม่ใช่เพียงแต่ทุกคนในเผ่าจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ แต่ในคนในอนาคตรุ่นต่อไปเมื่ออารยธรรมขยายเติบโตขึ้น จากหมู่บ้านเล็กๆ เป็นชุมชน เป็นเมือง ความรู้การดูดาวจึงไม่เคยหายไปและอาจถูกต่อยอดกลายเป็นศาสตร์อื่นๆ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าในเวลาต่อมา
.
ความฉลาด หรือโมเม้นต์ยูเรก้าบางอย่างของคนเพียงคนเดียวหรือคนกลุ่มเล็กๆ ในอดีตจึงสามารถเพิ่มความฉลาดมวลรวมให้กับมนุษย์ชาติทั้งผองได้ในเวลาต่อมา
รูปถ่ายของเที่ยวบินแรกที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของพี่น้องไรต์เมื่อ 17 ธันวาคม 2446
ย้อนกลับไปที่คำถามเริ่มต้นของบทความ
 
คุณคิดว่านักฟิสิกส์ผู้ปราดเปรื่องผู้นั้นกับลิงชิมแปนซีใครจะรอดใครจะตายก่อนกัน ???
.
โดยส่วนตัวผมเชียร์ข้างลิงชิมแปนซี โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่านักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นเป็นเด็กเนิร์ดๆ ที่ตลอดชีวิตอยู่ในระบบการศึกษามาตลอด เขาเรียนแคลคูลัสที่คิดค้นโดยนิวตัน ใช้เครื่องมือดูดาวจากการประดิษฐ์ของอดีตนักวิทยาศาสตร์ผู้ล่วงลับ แถมยังไม่เคยออกแค้มป์ปิ้งในป่ามาซักครั้งเดียวตลอดชีวิต ถ้าอย่างนั้นผมขอเชียร์ลิงดีกว่า
.
ใช่, เมื่อมองไปรอบตัวเราอาจจะรู้สึกว่ามนุษย์ช่างฉลาดนัก แต่ในระดับบุคคลเราต้องมีความถ่อมตัวมากกว่านั้น สิ่งพิเศษของเผ่าพันธุ์เราที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอาจไม่ใช่สมองที่ฉลาดเฉลียว แต่เป็นความสามารถในการร่วมมือในการทำสิ่งต่างๆ การถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน การสะสมและต่อยอดจากผู้ที่มาก่อนหน้า เราเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่มีการร่วมมือร่วมใจกันอย่างยืดหยุ่น แมลงหลายชนิด เช่นผึ้ง ก็มีการทำงานเป็นทีม แต่ผึ้งไม่สามารถสั่งสมและถ่ายทอดความรู้ได้ และมันไม่ยืดหยุ่นพอที่จะมีความสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวแบบที่มนุษย์ทำได้
.
ผึ้งจึงต้องอยู่ในที่ของผึ้ง แต่มนุษย์เราอยู่ได้แม้กระทั่งในทะเลทราย หุบเขาหนาวเหน็บ กระจายไปทุกส่วนของโลก แม้กระทั่งคิดฝันไปตั้งอาณานิยมบนดาวอังคาร
.
ถ่อมตัวความรู้ที่มี และเรียนรู้จากผู้อื่นให้มากขึ้น ย่อมเป็นก้าวแรกที่ดีที่จะทำให้เราเห็นโลกตามความเป็นจริง โลกที่กว้างขวาง โลกที่ถูกสร้างด้วยคนตัวเล็กจ้อยที่สามารถรวมพลังกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
 
โดย ณภัทร สงวนแก้ว (แอดหนุ่ย)
เครดิตภาพจากเว็บไซต์ wait but why
ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว
ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน