ทำไมการอ่านหนังสือไม่จบเล่ม อาจดีกับสมองมากกว่าที่คุณคิด

ไม่รู้มีใครเป็นเหมือนกันบ้าง กับการชอบอ่านหนังสือทีละหลายเล่ม แต่อ่านยังไม่จบซักกะเล่ม
.
อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย แต่วันนี้เราจะพาไปดูว่าอันที่จริงแล้วการอ่านหนังสือที่ละหลายๆเล่ม แม้อาจจะทำให้อ่านบางเล่มได้ไม่จบหรืออ่านได้ช้าลง ทว่ามองอีกมุมแล้วก็มีข้อดีหลายๆ อย่างเหมือนกันนะ


1.เกิดการผสานรวมของความรู้

 

สมองเราชอบเรื่องเล่าดีๆ และหนังสือซักเล่มที่ผ่านการร้อยเรียงออกมาล้วนถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่สองอย่างคือ
.
หนึ่ง ให้ข้อมูลบางอย่างกับเรา และ สอง สร้างเรื่องเล่าอันเป็นเหตุเป็นผลและน่าติดตาม
.
ในกรณีนิยาย ข้อมูลที่ให้อาจไม่ได้ยึดหลักความเป็นจริงและวิธีเล่าก็มีอิสระได้เต็มที่ ส่วนถ้าเป็นหนังสือความรู้อ่านสนุกๆ (พักหลังตลาดหนังสือบ้านเราเริ่มมีหนังสือกลุ่มนี้เยอะขึ้น) ก็จะเล่าเรื่องจากความเป็นจริง (Fact) ด้วยสำนวนลีลาที่ให้มุมมองแปลกใหม่บางอย่าง
.
ทั้งเนื้อหาและสำนวน ที่แตกต่างกันไปแต่ละเล่มนี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่เป็น “เชื้อ” กระตุ้นชั้นดีให้สมองได้สลับเปลี่ยนไปมา ความหมายของมันก็คือ การที่เราจะสามารถเพิ่มโอกาสให้การสร้างสรรค์ไอเดียที่สดใหม่ได้อย่างมหาศาลเลยครับ
.
ลองดูครับ ลองอ่านหนังสือที่แตกต่างแนว ลองขยายของฟ้าแห่งความสนใจให้กว้างขึ้น แล้วคุณจะได้มุมมองใหม่สดที่แหลมคมที่ไม่เคยตระหนักรู้ว่ามีมาก่อน


2.มีเวลาให้ตกผลึกทางความคิด

การสลับเล่มอ่านทำให้เกิดช่วงเวลาว่างที่ทำให้สมองของเราได้ขบคิด
.
รู้ไหมครับว่าข้อมูลต่างๆ ที่เราได้รับเข้าไปใหม่ในสมอง มันไม่ได้นอนแน่นิ่งอยู่ในหัวของเราเฉยๆ
.
เครือข่ายประสาทและการเชื่อมโยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน จะเกิดการ “แล่น” อยู่เบื้องหลังความคิดหลักในขณะที่เราทำสิ่งต่างๆ นั่นทำให้การที่เราให้สมองได้มีเวลาพัก หลังได้รับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา ได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ได้นอนหลับพักผ่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเชิ่อมโยงข้อมูลใหม่เข้ากับข้อมูลเก่าและเปลี่ยนมันให้เป็นความทรงจำระยะยาว
.
บางครั้งที่เราพยายามนึกอะไรบางอย่างให้ออก แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก หรืออย่างตอนที่เราพยายามขบคิดปัญหาบางอย่าง แต่แล้วอยู่ๆ ขณะอาบน้ำ เดินเล่นในสวน หรือตื่นขึ้นมาอีกวัน เรากลับนึกออก หรือเจอทางออกของปัญหาที่แก้ไม่ตกในตอนแรก คือคำอธิบายของปรากฎการณ์ที่สมองต้องใช้เวลาในการตกผลึกข้อมูลใหม่ๆ
.
เมื่อเราชะลอการอ่านหนังสือแต่ละเล่มให้ช้าลง เราย่อมมีเวลาดื่มด่ำกับมันมากขึ้น การอ่านหนังสือทีละหลายเล่มจึงเปิดโอกาสให้เราได้ฉุกคิดกับสิ่งต่างๆที่เราอ่านมากขึ้นนั่นเอง
.
นั่นเพราะบางทีจำนวนเล่มอาจไม่สำคัญเท่ากับศักยภาพที่หนังสือเล่มใดๆ จะทำให้เราเกิดการคิดต่อยอดเพื่อผสมผสานเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง ซึ่งเป็นการเติบโตจากภายในที่หนังสือได้ให้กับเรา

 


3.อ่านได้ตลอดไม่ว่าอารมณ์ไหน

จะว่าไป ข้อนี้เป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมการอ่านหนังสือทีละหลายๆ เล่ม ของคนหลายคนเลยก็ว่าได้
.
ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆ แต่ก็ใช่ว่าอารมณ์ของหนังสือแต่ละเล่มจะเหมือนกัน บางเล่มข้อมูลเยอะ มีความซับซ้อนของเนื้อหา ต้องอาศัยการคิดตามและใช้พลังสมองในการอ่านค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับช่วงเวลาที่เรารู้สึกเฟรชที่สุด ในขณะที่บางเล่มเหมาะกับการอ่านอย่างเนิบช้าผ่อนคลายก่อนนอน
.
เมื่อเราจัดหนังสือที่อ่านให้สอดคล้องต้องสัมผัสกับช่วงอารมณ์และระดับพลังงานชีวิตในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างกลมกลืน…เมื่อนั้นการอ่านจึงกลายเป็นศิลปะแห่งการรับรู้และเข้าใจตนเองโดยมีหนังสือเป็นเครื่องมือในการขยายช่วงเวลานั้นให้มีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้น
.
และแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถได้รับจากการอ่านหนังสือแค่ทีละเล่ม


4.ไม่ต้องฝืนอ่าน

 

ถ้าไม่ feel like it ก็ไม่ต้องอ่านต่อก็ได้
.
บางทีในขณะที่อ่านหนังสือซักเล่มหนึ่งเพลิดเพลินอยู่ดีๆ แล้วอารมณ์ก็เปลี่ยนกะทันหันเพราะมีอะไรมากระทบใจ….โดยปกติแล้ว เสียงในหัวเราจะกระซิบบอกว่า เราต้องมาอ่านต่อให้จบนะ (เว่ย) ถ้าไม่อ่านตอนนี้ อาจจะไม่ได้อ่านอีกแล้ว ไม่คุ้มเลยกับการอ่านค้างๆ คาๆ แบบนี้
.
แต่ไม่จำเป็นเลยครับ ไว้ฟีลมาเมื่อไหร่ค่อยกลับมาอ่านที่หลังก็ยังได้ บางทีเหตุผลที่เราหยุดอ่านหนังสือบางเล่ม ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนั้นเขียนได้ไม่ดี หรือไม่เข้ากับตัวเรา แต่เป็นเพราะสิ่งรบกวนจากภายนอกและภายในที่ทำให้เราไขว้เขวไป…โดยส่วนตัวจะใช้วิธีการแยกเก็บเล่มเหล่านี้ไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของชั้นหนังสืออย่างชัดเจน เพื่อที่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกถึงโมเม้นที่ใช่ เราจะได้กลับมาอ่านต่อได้ (ดีกว่ามันกระจัดกระจายจนเราหลงลืมไปว่าเคยอ่าน)
.
มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลยครับที่เราจะอ่านหนังสือทีละหลายเล่ม การอ่านมีความยืดหยุ่นได้มากกว่านั้น และถ้าเราบริหารเวลาที่ใช้ไปกับสิ่งเหล่านี้เป็น มันจะสร้างความแตกต่างกับเราได้มากเลยล่ะครับ เอาล่ะ!!! เล่มไหนที่ยังอ่านไม่จบแล้วยังอยากอ่านต่อ เอามากองไว้รวมกัน แล้วถามตัวเองว่าจะเริ่มจากเล่มไหนดี ไปอ่านหนังสือกันเถอะ

.
.
.
.
.
เครดิตภาพสมองแสนมหัศจรรย์ โดยนักวิทยาศาสตร์สมองทั้งสองท่านได้แก่ Dr. Greg A. Dunn และ Dr. Brian Edwards ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทอันซับซ้อนสวยงาม เปรียบได้กับข่ายใยของความรู้ที่เราสามารถต่อยอดงอกเงยได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันมีเชื้อไฟเป็นความรู้ต่างแขนงที่ซับซ้อนหลากหลายได้มาปะทะสังสรรค์กันเกิดเป็นมุมมองใหม่ที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอมาก่อน

ณภัทร สงวนแก้ว

ณภัทร สงวนแก้ว

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน