Loading

wait a moment

เขียนคำ ‘ขอบคุณ’ กันไปทำไม: การเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกภายใน  [Gratitude journal]

Photo9-960x640

 

เพราะความรู้สึก “ขอบคุณ” คือหนึ่งของขวัญที่ดีที่สุดที่คุณให้ตัวเองและโลกใบนี้
=====

ใช่, ชีวิตเราอาจจะมีความฝันใหญ่โตที่หากเราทำได้สำเร็จเราคงคิดว่าเราคงมีความสุขมากๆ แต่ความจริงชีวิตของเราถูกประกอบขึ้นจากวันธรรมดา วันที่คุณนั่งรถไปทำงานตอนเช้า เจอรถติด เจอดราม่าในที่ทำงาน
กลับบ้านด้วยความเปียกปอนจากฝนที่เทโดยไม่บอกกล่าว ไหนจะเรื่องความรักที่ไม่สมหวัง สุขภาพที่ไม่ได้ดั่งใจ

แต่นี่คือความเป็นจริงของชีวิต

ใครหลายๆคนต้องเคยเจอแบบฝึกหัดลองจิตลองใจประเภทที่ว่า

 

คุณเห็นอะไรเมื่อมองไปยังแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว
บางคนก็บอกว่ามีเหลืออยู่ตั้งครึ่งหนึ่ง
บางคนก็บอกว่าเหลืออยู่แค่ครึ่งแก้วเองหรือ

 

หรือให้มองกระดาษที่มีจุดสีดำอยู่หนึ่งจุดเล็กๆ
แล้วก็บอกเป็นนัยๆว่าคนเรามักจะเลือกที่จะมองเห็นจุดสีดำนั้นแม้ว่า “พื้นที่ส่วนใหญ่” ของหน้ากระดาษจะเป็นสีขาวก็ตาม

 

วันนี้ผมเลยเกิดคำถามว่า ถ้าเราเริ่มรู้สึกอยู่ลึกๆแล้วว่าบางทีเราก็ไม่ได้เก่งกาจสามารถ ไม่ได้เข็มแข็ง ไม่ได้ทรงพลังหรือควบคุมทุกอย่างได้ขนาดนั้น

 

ถ้าเราเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง
ที่ชีวิตย่อมมีเรื่องราวดีร้ายปนกันไป

 

ถ้าการเติบโตกำลังค่อยๆสอนว่า เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่หลายครั้งผลลัพธ์ก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเข้ามาประกอบด้วยเช่นกัน

วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำเทคนิคหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในทางการศึกษาวิจัยเชิงจิตวิทยาว่าสามารถที่จะฝึกจิตใจของเราให้ ‘มองโลก’ ด้วยทัศนคติที่งดงามยิ่งขึ้น

โลกเปลี่ยนไป เมื่อใจเปลี่ยนแปลง

และการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้
จากการเขียนบันทึกที่มีชื่อเรียกว่า
Gratitude journal หรือ การเขียนขอบคุณสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตนั่นเอง
=====
มาดูตัวอย่างการเขียนง่ายๆ ของผมกันก่อน
ว่าในวันนี้มีเรื่องน่ายินดีอะไรบ้าง
มีความทรงจำใดที่ควรแก่แก่การจัดเก็บและเตือนตัวเองว่าโลกนี้ก็น่าอยู่หากเราเลือกที่จะมอง
=====
1.ได้ทำอาชีพที่อยากทำ
2.สร้างนิสัยออกกำลังกายทุกวันได้สำเร็จ
3.ได้กลับมาคุยกับเพื่อนเก่าที่ห่างหายไปนาน
4.ได้ช่วยลุงคนแปลกหน้าขึ้นรถเมย์กลับบ้านได้ถูกสาย
5.มีหัวหน้าที่เข้าอกเข้าใจ
6.คุณลุงร้านผลไม้แถมมะม่วงเพิ่มหนึ่งลูกโดยไม่คิดเงินเพิ่ม

ง่ายๆเท่านี้เองครับ จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว เราโชคดีแค่ไหนในทุกวันนี้

อันที่จริงแล้ววิธีคิดของกิจกรรมนี้มีความคล้ายคลึงกับหลักการของ ‘พอเพียง’ ของในหลวงรัชการที่ ๙ มากๆ
และสอดคล้องกับวิธีการมองโลกอันเรียบง่ายที่ว่า

 

การมองไปยังอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญก็จริง
แต่บางทีการลองนั่งนิ่งๆ แล้วดูว่าที่มีอยู่ก็โชคดีเท่าไหร่
ยังมีคนที่ยากไร้อีกมากมายบนโลกที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้บ่นคร่ำครวญ…เป็นชีวิตที่ยากจะมองหาเรื่องดีๆอย่างแท้จริง

มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับประโยชน์ของการ ‘รู้สึกขอบคุณ’ ที่เรามีต่อสิ่งต่างๆในชีวิตของเราทั้งด้านร่างกาย ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนรอบข้าง และสุขภาพจิตที่ได้รับการยกระดับให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

เราจะมาดูกันว่าต้องใช้วิธีคิดแบบไหนในการเขียน
Gratitude journal ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง อ้างอิงจากเว็บไซต์ Greater Good Magazine ดังต่อไปนี้

=====
1.อย่าเขียนไปงั้นๆ

=====

ควรเอาใจใส่ความรู้สึกในขณะที่เขียนให้มากๆ ว่าเรากำลังคิดอะไร เรารู้สึกอย่างไรระหว่างเขียน ผู้คนหรือเหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไรบ้าง
เรารู้สึกขอบคุณอย่างไรต่อสิ่งเหล่านั้น และเราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้ในฐานะผู้ให้กับคนอื่นได้อย่างไรบ้าง

 

จงเขียนด้วยความเบิกบาน เขียนด้วยความสุข
ไม่มีอะไรต้องรีบ…การทำเช่นนี้บ่อยๆจะฝึกให้เรามองเห็นแง่งามของสิ่งต่างๆที่ถูกผสมรวมอยู่ในชีวิต แต่เราไม่เคยเห็นเพราะเร่งรีบเกินกว่าจะหยุดมอง

======
2.เขียนให้ ‘ลึกสุดใจ’

======

ลงรายละเอียดในระดับดีเทลด้วยยิ่งดี
ถึงแม้เราจะเขียนไปเพียงประโยคสั้นๆ แต่จงนึกถึงสิ่งเหล่านั้นให้ลึกจนซึมซาบไปทั่วหัวใจ

การเขียนน้อยเรื่องแต่ลึกซึ้งจะมีผลเชิงบวกมากกว่าการเขียนถึงหลายข้อแต่เป็นเรื่องตื้นเขินที่ไม่มีผลต่อหัวใจเท่าไหร่

 

 

=====
3.ขอบคุณที่หัวใจของ ‘ผู้คน’

=====

เหตุการณ์ใดๆ ที่เรามองว่าดีที่ทำให้เรามีความสุข อันที่จริงแล้วล้วนมีบุคคลที่อยู่เบื้องหลังแทบทั้งนั้น

มองให้ลึกพอ แล้วคุณจะเห็นว่าใครที่ต้องขอบคุณ
แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการกินอาหารในศูนย์อาหารตามห้าง เราไม่ต้องเก็บจานก็เพราะมีคนที่ทำแทนเรา

ชีวิตคือการเกี่ยวเนื่องโยงใยของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทำให้เราได้มีชีวิตที่สุขสบายในทุกวันนี้ เมื่อเราลดอีโก้ในตัวลง เราจะเริ่มเห็นความงดงามของความพันธ์ในหมู่มวลมนุษย์

=====
4.หัดมองสิ่งที่เรามีอยู่

=====

ในระหว่างการนึกถึงเรื่องที่จะเขียนขอบคุณ
หัดมองว่าถ้าเราตัดอะไรออกจากชีวิต เราจะเป็นอย่างไร เช่นการงานที่ทำ ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ โอกาสและความสะดวกสบายในชีวิต…ถ้าเราตัดสิ่งเหล่านี้ออกจะเป็นอย่างไร…นี่คือการฝึกมองให้เห็นคุณค่าที่มีอยู่

ลองเลือกที่จะเขียนโดยใช้วิธีคิดลักษณะนี้แทนที่จะโฟกัสไปกับส่วนของชีวิตที่มันดีมากๆและเราอยากจะต่อเติมขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด อันจะกลับทำให้เรารู้สึก ‘ขาดแคลน’ มากกว่า ‘เติมเต็ม’

=====
5.เลือกเขียนสิ่งที่เซอร์ไพรซ์

=====

เพราะมันจะมีพลังในการกระตุ้นความรู้สึกขอบคุณได้ดี

=====
6.เขียนแต่พอดี

=====

อ้างอิงจากงานวิจัยพบว่า คนเรามีความสามารถในการรู้สึกเฉยๆ กับสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เลยแนะนำว่าไม่ต้องเขียนขอบคุณแบบนี้ทุกวันก็ได้ หากมันจะเป็นการเค้นเพื่อเขียนออกมา แต่ให้เราเขียนเมื่อเรารู้สึกขอบคุณต่อสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

โดยแนะนำอยู่ที่ประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นั่นเอง

 

====
ขอขอบคุณ
====

การอ่านและการเขียนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
เราอ่าน—เพื่อรับบางสิ่งเข้ามา
เราเขียน—เพื่อปลดปล่อยและทบทวนบางสิ่งในจิตใจ

 

เทคนิคการเขียน Gratitude journal
นี้อาจจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับใครหลายคน
แต่เชื่อสิว่า…ลึกๆแล้วมันไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน
มันคือการฝึกให้เห็นคุณค่าของน้ำครึ่งแก้วที่เหลืออยู่
มันคือการเลือกที่จะละทิ้งความสนใจจากจุดดำแล้วมองที่ว่างขาวแห่งความเป็นไปได้

 

เราอาจเปลี่ยนโลกทั้งใบไม่ได้
แต่เราเลือกแว่นตาที่จะมองโลกได้
มันไม่ใช่การหลอกตัวเองให้เห็นแต่สิ่งดีๆ
แต่เป็นการเลือกรับแง่งามของชีวิตเข้ามาในจิตใจ
เมื่อเราได้รับพลัง เมื่อเรามีความสุข เมื่อเราสดใส
เราก็จะอยากมอบสิ่งดีๆเหล่านั้นกลับไปให้ผู้อื่นบ้าง

 

ขอบคุณมากจริงๆในทุกสิ่งที่ให้มา
และคนแรกที่ผู้เขียนอยากจะขอบคุณก็คือผู้อ่านทุกคนครับ

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน