ความในใจของคนที่ดูเงียบๆ รักสันโดษ ชอบอิสระ ทำอะไรคนเดียว อยากบอกให้คุณรู้ [Introvert ตอนที่ 1]
เอาล่ะครับ เรามาเริ่มกันอย่างนี้ก่อนดีกว่า
คือผู้เขียนสังเกตเห็นว่ายังมีคนจำนวนมากเลยทีเดียวที่ยังไม่เข้าใจว่า introvert คืออะไร แล้วทำไมผมถึงเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้น่ะหรอครับ นั่นก็เพราะว่าจริงๆแล้ว introvert เป็นรูปแบบหนึ่งของบุคคลิกภาพที่กินสัดส่วนประชากรมากถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว (จะว่ามากก็มาก แต่ก็ถือเป็นคนส่วนน้อยอยู่ดี)
ตัวอย่างคนดังที่เป็น Introvert ก็ได้แก่มหาเศรษฐีติดอันดับโลกและนักคิดผู้โด่งดังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น
Elon Musk ที่ชอบเก็บตัวอ่านหนังสือเงียบๆคนเดียวในห้องสมุดสมัยเด็กๆ
Bill Gates ที่เป็นต้นแบบของความเนิร์ดแห่งยุคสมัย
Isaac Newton ที่ตลอดชีวิตเก็บตัวเงียบแทบไม่สุงสิงกับใครแถมยังตายไปพร้อมกับพรหมจรรย์ที่รักษามาท้งชีวิต
Charles Darwin บิดาของทฤษฎีทางชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลผู้ค้นพบความลับของธรรมชาติที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” ก็ยังชอบใช้เวลาเดินครุ่นคิดอย่างสัยโดษตามสวนรอบๆ บ้าน
ถึงแม้พวกเราจะมีน้อย แต่ก็พบว่ามี introvert จำนวนมากเลยทีเดียวที่เป็นนักอ่าน ผมจึงเลือกที่จะลองมาเล่าให้ฟังว่า อะไรคือ introvert การเข้าใจตัวเองนี้จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร และเราจะมาเริ่มจากคำถามพื้นฐานก่อนว่า…
Introvert คืออะไร ?
ในเช้าวันเสาร์อันแสนผ่อนคลาย หลังจากนอนเต็มอิ่มมาทั้งคืน
วันนี้เป็นวันว่างสุดแสนชิว คุณอยากจะใช้เวลาไปกับการทำอะไรครับ
อยากไปปาร์ตี้ คอนเสิร์ต ไปพบป่ะผู้คนใหม่ๆ ทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ
หรือว่า…คุณอยากจะใช้เวลานี้ไปกับความสงบ สันโดษ อย่างการนั่งอ่านหนังสือ ไปนั่งร้านกาแฟ ทำงานอดิเรก นัดเจอเพื่อนฝูงกลุ่มเล็กๆ
ถ้าคำตอบของคุณเป็นข้อสอง
ก็เป็นไปได้มากทีเดียวว่าคุณน่าจะเป็น Introvert ล่ะครับ
เหรียญย่อมมีสองด้าน…และคำนี้ก็เป็นคำที่มีความหมายในเชิงเปรียบเทียบเหมือนกับสีขาวและดำ…Extrovert จึงเป็นคำที่มีควาหมายในทางตรงข้ามกับ Introvert นั่นเอง
ศัพท์ในทางจิตวิทยา
ถ้าเราทำการจัดกลุ่มคนหนึ่งร้อยคนตามระดับ
ความเป็น Introvert-Extrovert
ทางซ้าย—คนที่เป็น Extrovert สุดขั้ว ชอบเข้าสังคม
ทางขวา—คนที่เป็น Introvert สุดขั้ว ชอบสันโดษ
เราจะพบว่าคนส่วนมากทีเดียวจะอยู่ “ตรงกลาง”
หรือที่เราเรียกว่า “Ambivert” ซึ่งเป็นคนที่มีบุคคลิกสายกลาง
คำถามคืออะไรทำให้คนคนหนึ่งมี “บุคคลิกภาพที่แตกต่าง”
และเราจะรู้ได้ชัดเจนอย่างไรว่าเราเป็น Introvert หรือไม่
นิยาม Introvert ที่เป็นวิทยาศาสตร์
ที่ผมชอบที่สุด
ลองคิดดูเล่นๆ ว่าอะไรทำให้คนหนึ่งคนเลือกที่จะนั่งอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ เพียงลำพัง แต่อีกคนชอบที่จะออกไปปาร์ตี้ที่คราครํ่าไปด้วยผู้คนเยอะๆ
อะไรทำให้คนหนึ่งคนชอบถ่ายทอดความคิดโดยการเขียน แต่อีกคนกลับรู้สึกสะดวกใจที่จะใช้การพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก
อะไรทำให้หนึ่งคนเหนื่อยอ่อนเมื่อต้องพบปะมีปฎิสัมพันธ์กับคนเยอะๆ จนต้องหาเวลาไปชาร์ตพลังเพียงลำพัง แต่อีกคนกลับรู้สึกว่าอยู่กับตัวเองเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหงอยเหงาจนอยากจะไปพบเจอผู้คนที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น สดชื่น มีพลัง
นี่คือ “ความต่าง” ที่เราสังเกตุเห็นได้ในตัวเองและคนที่เรารู้จัก
การเข้าใจเบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราใจกว้างและไม่ด่วนตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป…
และทั้งหมดมันเริ่มมาจาก “สมอง”
สมองแตกต่าง พฤติกรรมจึงแตกต่าง
หากเราเอารูปสมองของมนุษย์มากางดู
มองเผินๆ เราจะเห็นโครงสร้างสมองเหมือนไอติมโคนซ้อนกันหลายๆ ชั้น
ส่วนโคน—เป็นก้านสมอง
ไอศครีมชั้นล่างๆ—เป็นสมองที่เก่าแก่ควบคุมระบบอัตโนมัติของร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ
ไอศครีมชั้นบนๆ—เป็นสมองที่เจริญงอกงามในมนุษย์ ใช้ในการคิดเชิงเหตุผล
ตั้งแต่ลืมตาตื่นเช้าจนเข้านอน
กี่คลื่นเสียง เฉดแสง ที่เข้าสู่การรับรู้ทางประสาทสัมผัส
จากสิ่งที่มากระทบตากระทบใจต่างๆ
จะถูกแปลงเป็น “กระแสประสาท” ไหลเวียนเข้าสู่สมอง
เพื่อความง่าย เราสามารถจินตนาการได้ว่า
สิ่งเร้าที่เรารับเข้ามาก็เหมือนกับคลื่นลมพายุ
สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน ไหลวน ถ่ายทอดเข้าไปในสมองของเราทุกคน
ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์เราจะมีข่ายใยประสาทที่มีชื่อเรียกยากๆว่า
Reticular Activating System (RAS) ซึ่งอยู่บริเวณ “โคนไอศครีม”
ซึ่งจะมีหน้าที่เปรียบดัง “สันเขื่อน” ที่จะทำหน้าที่คัดกรอง
“คลื่นลม” ที่มาจากมหาสมุทรภายนอก ให้อยู่ในปริมาณที่พอดีๆ
ซึ่งจุดนี้แหละครับที่สมองของคนที่เป็น Introvert หรือ Extrovert จะทำงานได้ไม่เท่ากัน…หรือพูดง่ายๆว่าคนเราถูกกระตุ้นด้วย “สิ่งเร้า” ภายนอกได้ยากง่ายต่างกัน
Extrovert—เขื่อนแข็งแกร่งทำให้มีระดับความไวต่อสิ่งกระตุ้นตํ่า
Introvert—เขื่อนบางเบาทำให้มีระดับความไวต่อสิ่งกระตุ้นสูง
นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่เป็น Introvert ถึงรู้สึก ‘หมดพลัง’ เมื่อต้องไปทำกิจกรรมที่ต้องเจอคนเยอะๆ…ซึ่งไม่ต่างจากเขื่อนง่อนแง่นที่ถูกพายุถล่มซํ้าเติม
บางทีแค่หนังสือดีๆ ซักเล่ม
เพื่อนสนิทสองสามคน
คำสนทนาที่มีความหมายกับคนรัก
การนั่งลูบพุงแมวน้อยน่ารักก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ Introvert มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งเร้าที่น่าตื่นเต้นรุนแรงจากภายนอก (ซึ่งอาจมากเกินไป)
ทั้งหมดที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่ากัน
เราสามารถมองสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยความเข้าใจ
มองด้วยสายตาของ ‘ธรรมชาติ’ ที่ไม่ได้ออกแบบให้คนเราเหมือนกัน
มันจึงเป็นความสวยงามบนความแตกต่างหลากหลายของ ‘เพื่อนมนุษย์’
หลังจากเรารู้ความหมายของ Introvert รวมถึงเหตุผลเบื้องหลังของมัน
ในตอนต่อไปผู้เขียนจะชวนไปดูว่า “ความไวต่อสิ่งกระตุ้น” เหล่านี้จะพาพวกเราชาว Introvert ไปสู่อะไร มีนิสัยแบบไหน แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตัวเองเป็น Introvert (บทความตอนที่ 2)
ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำถามว่าเราในฐานะที่เป็น Introvert จะปรับตัวและใช้จุดแข็งของเราอย่างไรได้บ้างในประเด็นที่มีชื่อตอนว่า
“พลังของคนเงียบในโลกที่ไม่เคยหยุดพูด” (บทความตอนที่ 3)
รอติดตามนะครับ
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน
เครดิทภาพ: จากภาพยนต์ The Perks of Being a Wallflower ซึ่งพระเอกหนุ่มน้อยก็เป็น Introvert เหมือนกัน