Loading

wait a moment

ทำ “น้อยสิ่ง” เพื่อให้ได้ “ทุกสิ่ง” [Pareto principle: 80/20 Rule]

หากทวิตเตอร์ สามารถพิมพ์ยาวเท่าไหร่ก็ได้คงไม่ใช่ทวีตเตอร์

หากเพจ “สรุป”  ไม่สั้นมันก็คงไม่เร้าใจ

หากสตีฟจ๊อปไม่เคยได้ฝึกตนในหนทางแห่งเซ็น ดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ในเครือ Apple คงไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น

ทั้งหมดทั้งหมดนี้หลอมรวมกลายเป็นหลักการที่เรียกว่า

“less is more”

หรือคุณค่าของสิ่งเล็กๆ สิ่งที่เป็นส่วนน้อย แต่กลับสร้างผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่

 

นั่นจึงเป็นโจทย์ของบทความในวันนี้ว่าจะทำอย่างไรให้บทความนั้น สั้น กระชับ อ่านง่ายแต่ผู้อ่านกลับได้อะไรกลับไปประยุกต์ใช้อย่างมหาศาล….ผมจึงขอเริ่มจากคำท้าทายชวนคิดว่า…เป็นไปได้ไหมที่

ผลลัพธ์มากถึง 80% มาจาก การลงทุน ลงแรง ลงเวลา หรือความพยายามเพียง 20% เท่านั้น

ซึ่งประวัติศาสตร์การค้นพบนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะถูกสร้างขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีในปี 1896 ทว่าในปัจจุบันมันกับแพร่หลายไปในหลายวงการ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารเวลาและการพัฒนาตนเอง

ลองพิจารณาจากข้อเท็จจริงเหล่านี้ดูก่อนครับ

1.คนที่รวยที่สุดในโลกเพียง 20% ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งมากถึง 80%

2.โปรดักส์ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท (80%)  มาจากโปรดักเพียงไม่กี่ตัว (Google อาจขยันสร้างนวัตกรรมมากมาย แต่รายได้หลักของบริษัทก็ยังคงมาจาก Google search ที่มีโมเดลรายได้มาจากการโฆษณาออนไลน์)

3.สองข้อพอก็แล้วกัน เพื่อการทำน้อยให้ได้มากอย่างเป็นรูปธรรม

มาถึงตรงนี้ก็อาจจะเกิดคำถามว่าแล้วยังไง คุณและผม เป็นคนตัวเล็กๆ หน่วยหนึ่งในสังคม จะสามารถเอาหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้ชีวิตมันดีขึ้นได้อย่างไร สำหรับผู้เขียนเองคิดว่ามี 3 เรื่องหลักๆ ที่หากนำหลัก less is more ไปใช้ จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง

1.การใช้เวลา (eat that frog)

2.การทำงาน

3.สองข้อก็พอ…ล้อเล่นครับ!!! เรื่องการตัดสินใจ (เขียนในโอกาสต่อไป)

สำหรับบทความนี้จะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ โดยยกเรื่องการทำงานมาก็แล้วกันครับ

.

ทำงานหนักแล้วจะสำเร็จ แม้แต่ นักกล้ามชื่อดังผู้เป็นเจ้าของสถิติชนะการประกวด Mr. Olympia รายการแข่งขันเพาะกายอันดับหนึ่งของโลก  7 สมัยอย่าง Arnold Schwarzenegger ยังบอกกับเราไว้ว่า

there is absolutely no way around hard, hard work. Just remember, you can’t climb the ladder of success with your hands in your pockets.

มันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการทุ่มเททำงานหนัก ขอให้จำเอาไว้ว่า คุณไม่สามารถป่ายปืนบันไดแห่งความสำเร็จได้ ถ้ามัวแต่เอามือล้วงกระเป๋าไว้อย่างนั้น

– Arnold Schwarzenegger –

 

Arnold Schwarzenegger: จากหนุ่มบ้านนอกในออสเตรียผู้สร้างตัวเองขึ้นมาเป็นนักเพาะกายระดับโลก ก่อนจะผันเข้าสู่วงการบันเทิงที่ปูทางเขาสู่เส้นทางการเมืองในช่วงท้ายที่สุด

อันที่จริงแล้วมีตัวอย่างอีกมากมายของบุค

คลที่เป็น Role model ระดับโลกที่ถูกหยิบยกให้เป็นตัวอย่างของการทำงานหนัก

  • Elon Musk เจ้าของฉายา ไอรอนแมนในชีวิตจริง(Real-life Iron Man) ผู้มีวิสัยทัศน์ในการส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร รวมถึงโปรเจกหลุดโลกอีกมากมายอย่างการเชื่อมโยงสมองมนุษย์เข้ากับคอม  เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นพวกบ้างานถึงขั้นนอนค้างออฟฟิศ ในสมัยที่เขาหนุ่มแน่นกว่านี้เขาทำงาน มากถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (คิดเป็นวันละ 14 ชั่วโมง ติดกันทุกวัน So Crazy!!!)

 

แต่การทำงานมากๆ เน้นที่จำนวนชั่วโมงเป็นสิ่งที่การันตีความสำเร็จได้แล้วย่างนั้นหรือ???

ผมคิดว่าในใจผู้อ่านคงรู้อยู่คำตอบอยู่แล้ว?

ใช่, การทุ่มเททำงานหนัก เป็นสิ่งที่จำเป็นในการประสบความสำเร็จ แต่แค่นั้นยังคงไม่พอ

หากเปรียบการเดินทางไปสู่เป้าหมายเป็นดั่งการพายเรือ การมีทิศทางที่ถูกต้อง การทุ่มเทที่จะปรับปรุงท่าทางของฝีพายให้ดีที่สุด ย่อมทำให้เรา ขยันได้อย่างถูกจุด ค่อยๆ พาย แต่พายได้ดี ย่อมทำให้เรามีแรงพลังในการล่องเรือแห่งชีวิตไปสู่เป้าหมายในระยะยาวได้ดีกว่า…

และนั่นก็สอดคล้องกับกฎ Pareto’s law ที่เกริ่นไว้ตั้งแต่บทความ ซึ่งอธิบายได้ชัดเจนดังรูป

ลองจินตนาการหน้าตาของวันทำงานมนุษย์ออฟฟิศอย่างพวกเราที่เต็มไปด้วยกิจกรรมเล็ก กิจกรรมน้อยเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเช็คอีเมลล์ต่างๆ ที่เด้งตลอดทั้งวัน การประชุมที่ไม่หยุดหย่อน ซึ่งคนระดับ Management รู้ดีที่บางที่ประชุมทั้งวันจนแทบไม่ได้ทำงานเลยก็มี ไหนจะโซเชียลมีเดียที่หากไม่ควบคุมตัวเองดีพอก็อาจจะเผลอหยิบมือถือมาเช็คได้ทุกเวลา

การทำงานหนักแต่ไร้ทิศทางคือหายนะ

ความเชื่อเรื่องการทำงานหนักเมื่อผนวกกับนิสัยการทำงานที่ไม่โฟกัสท่ามกลางสิ่งแวดล้อมโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน ส่งผลให้ใครหลายๆ คนเกิดอาหารหมดไฟ หรือที่เรียกว่า Burnout ได้ง่ายๆ พอถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่าตัวเอง Work hard แล้วนะ แต่สิ่งที่ได้ตอบแทนมาคือความเหนื่อยล้าและงานที่อาจไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จเร็จที่หวังไว้มากขึ้นเลย เราก็เลยคิดต่อว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้อง Work smart สินะ

“Eisenhower Box” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการบริหารเวลาที่ช่วยอุดช่องว่างที่ To Do List ไม่สามารถทำได้…ติดตามอ่านได้ในตอนต่อๆไป [เครดิทภาพจากเว็บไซต์ jamesclear.com]

การบริหารเวลาก็เลยเป็นสิ่งที่หลายๆ คนนึกถึง

สมุดการบ้านวัยผู้ใหญ่ หรือที่เราเรียกว่า To Do List จึงถูกนำมาใช้ในผู้ที่อยากบริหารเวลาจำนวนมาก แต่ลิสต์ ‘งานที่ต้องทำ’ เหล่านี้ก็มีจุดอ่อน เพราะมันไม่เคยบอกเราว่างานเหล่านี้สำคัญแค่ไหน เร่งด้วยเท่าไหร่ และต่อให้เราพยายามจะทำสิ่งที่ต้องทำมากแค่ไหน เราก็จะพบว่างานก็มีความสามารถที่จะงอกใหม่ออกมาได้ไม่ต่างจากหางจิ้งจกที่ถูกสลักทิ้งเลยทีเดียว เช่นนั้นแล้ว

  • เคล็ดลับสู่ความสำเร็จจึงไม่ใช่การฝ่าฟันมหาสมุทรแห่ง To Do List ให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน
  • ไม่ใช่การบริหารเวลาเพื่อให้ทุกตารางวินาทีของแต่ละวันถูกใช้งานอย่างเต็มที่
  • ไม่ใช่ความพยายามที่จะเอาถุงเท้าไปใส่ตอนขับรถ หรือการไม่ยอมทานอาหารเช้าเพื่อประหยัดเวลา

สิ่งเหล่านั้นนั่นไม่ใช่การบริหารเวลา แต่เป็นการขุดหลุมฝังตัวเองด้วยกิจวัตรเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเราเลยด้วยซํ้า

 

กราฟการเปรียบเทียบเวลาการทำงานระหว่างคนที่โฟกัสกับงานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง (ด้านบน) เทียบเทียบกับคนที่ทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันที่เรียกว่า Multitasking (ด้านล่าง)

แนวคิด Pareto’s law กำลังบอกว่าสิ่งที่ควรทำกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือการ ทำยังไงให้ To Do List ของเราสั้นที่สุด….ทว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุดของเราจริงๆ

[ขอเวลานอก]แนวคิดการทำงานที่ยากและสำคัญที่สุดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: DEEP WORK ทักษะการทำงานที่ขาดไม่ได้ ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน

 

หลายคนอาจจะคิดว่านี่มันสามัญสำนักที่ใครๆ ก็รู้ไม่ใช่หรอ ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าการลงมือทำงานสำคัญ ย่อมสร้างผลกระทบทางบวกกัชีวิตเรามากกว่างานเล็กๆ เป็นสิบงานรวมกัน…ผู้เขียนเลยอยากชวนให้ลองดูเหตุการณ์ต่อไปนี้

-กี่ครั้งแล้วที่คุณเสียเวลาไปกับการเช็คเมล์ หรือเอางานเล็กงานน้อยมาทำ เพื่อแก้ขัดให้ตัวเองรู้สึกว่าได้ทำงาน ส่วนงานใหญ่ล่ะก็ เอาไว้ก่อน (เตรียมอ่านบทความผัดวันประกันพรุ่งได้ในเร็วๆ นี้ )

-กี่ครั้งแล้วที่คุณโยนงานมากมายให้ลูกน้อง เพียงเพราะคิดว่า ยิ่งมอบหมายงานมากๆ ก็ยิ่งทำให้เขาได้ทำงานเยอะ และผลงานที่ออกมาก็คงจะมีปริมาณ output มหาศาล (multitask จนงานหลักพัง )

-หรือที่เราคิดว่า ต้องทำเยอะๆ ต้องฝึกเยอะๆ ต้องเชื่อกฎ 10,000 ชั่วโมง ที่บอกเราว่าการฝึกฝนต้องอาศัยเวลาวันแล้ววันเล่าในการเคี่ยวกรำทักษะ แต่เอาเข้าจริงเราก็เห็นแล้วว่าเราพิมพ์กันทุกวันแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการพิมพ์ของเราเพิ่มมากขึ้น นั่นก็เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องการอิ่มตัวของการเรียนรู้ ซึ่งเราสามารถเอาชนะมันได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าการฝึกฝนอย่างใจจดจ่อ (เตรียมอ่านเรื่อง deliberate practice ได้เร็วๆ นี้)

 

Domino effect: โดมิโนตัวเล็กจ้อย สามารถล้มโดมิโนตัวถัดไปที่ใหญ่กว่าอีกนิด…มีการคำนวนไว้ว่าหากการล้มดำเนินไปถึงตัวที่ 57 โดมิโนตัวนั้นที่สูงเกือบระยะทางจากพื้นผิวโลกไปด้วงจันทร์เลยทีเดียว

Work hard, Work smart

เราคิดว่าเรารู้ แต่สุดท้ายเราก็หลงทาง หากจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นรูปธรรมที่อยากให้ผู้อ่านติดตัวกลับไปก็คงจะเป็นประโยคฝรั่งที่ว่า “work hard, work smart” นั่นคือนอกจากจะขยันแล้ว ต้องขยันให้ถูกจุดด้วย

พรุ่งนี้เช้าหลังจากตื่นนอน หยิบ To Do List ที่ยาวเป็นหางว่าวขึ้นมา แล้วถามตัวเองว่า งานไหนในนี้ที่สำคัญที่สุด ยากที่สุด ท้าทายที่สุด แล้ววงมันไว้ด้วยหัวใจตั้งมั่น ว่าวันนี้เราจะทำมันให้ดีที่สุด ส่วนความสำเร็จปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎ 80/20 rule ที่ว่า งานนั้นงานเดียว จะทำให้คุณขยับสู่เป้าหมายของคุณได้มากกว่างานไหนๆ

หากคุณทำตามหลักการที่เรียบง่ายแต่สำคัญนี้ในทุกวัน จุดจะเชื่อมลากต่อจุด…เปรียบดั่งโดมิโนที่ล้มต่อกันไปได้เรื่อยๆ จากโดมิโนตัวเล็ก ล้มตัวที่ใหญ่ขึ้นอีกนิด รู้ตัวอีกที โดมิโนตัวใหญ่เท่าบ้านก็ล้มลง…ความสำเร็จเล็กๆ เพียงก้าวเดียว ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดความสำเร็จใหม่ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราไม่จำเป็นต้องทำงานเป็นสิบเป็นร้อยในแต่ละวัน เราไม่ต้องหมกหมุ่นอยู่กับการขัดฆ่า To Do List เพื่อที่จะหลอกตัวเองว่า

ความยุ่ง=ความ productive 

แต่จงถามตัวเองอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันว่างานไหนที่สำคัญ งานไหนที่มีคุณค่า งานไหนคืองานที่มีความหมาย งานไหนที่จะเป็นโดมิโนตัวต่อไปของคุณ ดังที่หนังสือปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น ของคุณภิญโญ ไตรสุรยธรรมา กล่าวไว้ว่า

“จากหนึ่ง จึงสามารถกลายเป็นล้านได้ หากเราสามารถเลือกทำสิ่งที่สำคัญต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆโดยมีบริบทรอบข้างเป็นตัวหนุนนำ ไม่ต่างจากมหาสงครามที่เคยเกิดขึ้น ด้วยชนวนจากกระสุนนัดเดียว ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง”

การกระทำแม้จะเล็กจ้อย แต่ถ้าทำได้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกวิธีการ ก็ถือว่าเป็นงานสำคัญ ขอให้ทุกท่านค้นกระสุนนัดนั้นของตัวเองเจอในทุกๆวัน และไม่ลังเลที่จะเหนี่ยวไกเพื่อจุดระเบิดดินปืนแห่งความสำเร็จให้พุ่งทะยานออกไป

 

ปล.คำเตือน!!! อย่าสับสนระหว่างการจดจ่อกับการทำสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดกับการเก่งเพียงอย่างเดียวนะครับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ Polymath Strategy ที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ครับ

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน