Loading

wait a moment

“เพราะอ่านจึงสำเร็จ หรือเพราะสำเร็จก็เลยอ่าน” [เทคนิคการอ่านหนังสือจากเนิร์ดในตำนาน: Bill Gate]

Photo14-960x640

ผู้เขียนเองก็ยังไม่กล้ายืนยันเหมือนกันว่าอะไรคือสาเหตุของอะไร
มันเป็นสิ่งที่ตอบยากในเชิงของสาเหตุและผลลัพธ์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Causality
แต่พอเอาเข้าจริง ลองไล่ๆดูว่าเศรษฐีระดับโลกมีใครบ้างที่เป็นนักอ่าน
กลับพบว่ามีเยอะมากๆ ลิสต์ที่เขียนอยู่ด้านบนนี่แค่หยิบมือเดียวซะด้วยซํ้า

สำหรับวันนี้เราจะมาเริ่มกันที่ Bill Gate
ชายผู้บ้าอ่านหนังสือปีละ 50 เล่ม
(จะบอกว่าลุงแกว่างก็ไม่กล้า แต่ถ้าคำนวนจริงๆ ก็ตกอาทิตย์ละเล่มก็พอไหวอยู่นะครับ)

===

ถ้าให้นึกถึงเศรษฐีนักบุญระดับโลก
ที่เป็นต้นแบบของความ Nerd แห่งยุคไอทีมาเนิ่นนาน
เราจะไม่พูดถึงเกตส์ไม่ได้

 

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนยังตกใจมากๆ เลยว่าเกตส์เองถึงมีบล๊อคส่วนตัวที่พูดถึงหนังสือที่เขาอยากแนะนำให้คนทั่วไปอ่าน และไอเดียต่างๆที่มีความน่าสนใจอย่างมากถึงมากที่สุด

 

ไม่เพียงแต่ insight เจ๋งๆที่มีต่อปัญหาใหญ่ๆ ระดับโลกซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเขาเป็นหนึ่งในคนรวยที่ถูกเรียกว่า “เศรษฐีนักบุญ” ที่พยายามจะช่วยคนในประเทศยากไร้ ยกซักตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องความพยายามของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ในการพัฒนาวัคซีนช่วยเหลือคนในทวีปแอฟริกา

แต่เรื่องของเราในวันนี้ก็คือ Content ที่พูดเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ
ซึ่งหากใครติดตามเว็บไซต์ต่างประเทศจะเห็นสื่อออกมานำเสนอ “Bill Gates reading list” บ่อยๆ

#ใครสนใจ
ดูได้ที่นี่เลย https://www.gatesnotes.com/Books#All

วันนี้เราจะมาชวนมาสำรวจกันว่าเศรษฐีนักอ่านที่ชอบใช้เวลาว่างในการออกทริปไปเที่ยวที่ไม่ได้เที่ยว (ใช้คำเหมือนชุดนอนไม่ได้นอนแปลกๆ) เพื่อนั่งอ่าน นอนอ่านหนังสือโดยเฉพาะ
ที่เขาเรียกว่า (Reading vocation)

 

มีทิปหรือเทคนิคอย่างไรบ้างในการอ่านหนังสือ
มาดูกันเลย…

 

1.จดโน๊ตไปด้วย

taking a note
taking a note

 

เกสต์แนะนำว่าเราควรจะอ่านอย่างมีสมาธิและคิดตามไปด้วยอย่างใจจดจ่อ แต่เอาเข้าจริงแล้วมันก็ขึ้นกับว่าหนังสือที่เราอ่านอยู่เนี่ยมันเป็นประเภทไหน ถ้าหากว่าเป็นนิยายก็อาจจะอ่านเพลินๆ ต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Non-Fiction เราก็ควรที่จะหัด “เชื่อมโยง” ความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เก่า ซึ่งมันก็มีหลายวิธี เช่น

 

-บางสำนักบอกว่าอ่านสิบหน้าแล้วให้เขียนอธิบายหนึ่งหน้า

-บางที่ก็บอกว่าให้ลองพูดอธิบายให้ตัวเองฟังคล้ายๆ เทคนิคการเรียนรู้อันโด่งดังที่เรียกว่า “Feynman Technique”

-ส่วน Elon Musk ก็บอกว่า “Treating knowledge like a semantic tree” หรือมองการอ่านให้เป็นการพัฒนา “เครือข่ายความรู้” ซึ่งจะต้องเรียนรู้จากหลักการพื้นฐานให้แน่นก่อนแล้วจึงเอาแขนงความรู้ใหม่ๆเข้าไปแปะ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก “The First Principle Reasoning” อันโด่งดังของเขา ซึ่งเขาใช้วิธีคิดลักษณะนี้ออกแบบจรวดที่จะส่งมนุษย์ชาติไปดาวอังคารให้ต้นทุนการผลิตถูกลงอย่างมหาศาลได้

 

จากการที่ผู้เขียนเคยเข้าไปเสพบล๊อคของเกสต์อยู่บ้างเลยทำให้รู้ว่าเกสต์เองก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่างกับสิ่งที่นักเขียนเขียน และการคิดตามและจดโน๊ตไปด้วยก็จะเป็นการลับสมองให้ฝึก Critical thinking ได้ดียิ่งขึ้น

 

ด้วยวิธีนี้…คุณจะจำเนื้อหาที่อ่านได้มากขึ้น เอาไปต่อยอดได้ดีมากกว่าการแค่อ่านผ่านไปเฉยๆ…เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เอาไปใช้ได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม
– ความมหัศจรรย์ของ Non-Fictionได้ที่:https://bit.ly/2L8xewV
– ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง Feynman Technique: https://bit.ly/2Ln44Xw

2.ถ้าคิดว่าจะอ่านไม่จบ ก็ไม่อ่านแต่แรกเลยดีว่า

Selecting a book
Selecting a book

ข้อนี้แปลกดีครับ…ถ้าจากการแสกนคร่าวๆ แล้วว่าเล่มนี้เราอาจจะอ่านไม่จบหรือไม่น่าสนใจพอ ก็อาจจะไม่เลือกมาอ่านตั้งแต่แรก (ในทางกลับกันถ้าเลือกมาแล้วก็จงอ่านให้จบ)

 

ใช่ครับ, หลายคนอ่านหนังสือไม่จบและดองมันไว้จนแทบจะลืม
หรือบางคนก็มองว่าอ่านไม่จบก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ความรู้ในส่วนที่อ่านไปแล้วไม่ใช่หรือ…นั่นก็ไม่ผิด

 

ทว่าข้อดีของการอ่านหนังสือให้จบเล่มก็คือ เราจะเห็นภาพรวมของสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อทั้งหมด เปรียบเหมือน “ร่มใหญ่” ที่คลุมประเด็นย่อยต่างๆ เอาไว้

 

ซึ่งการอ่านไม่จบอาจจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Knowledge Gap” หรือการรู้ แต่รู้ไม่ครบ ถ้าเปรียบกับสำนวนก็คือ “ตาบอดคลำช้าง” ซึ่งมันจะมีข้อเสียตรงหากเราเอาความรู้นั่้นไปใช้ก็อาจจะอันตรายได้ (ใช่ครับ ความรู้ก็อันตรายได้ เพราะเป็นบ่อเกิดของการกระทำ)

 

ในท้ายที่สุด ถึงแม้เราจะอ่านจนจบ ก็ใช่ว่าเราจะเชื่อสิ่งหนังสือบอกกับเราได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็จะเห็น “ข่ายใยความรู้” ที่กล่าวไปแล้วในข้อหนึ่งอย่างครบถ้วนมากขึ้น สามารถนำไปต่อยอด ปฎิบัติตาม หรือโต้แย้งได้อย่างไม่ถูกเรียกว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์แต่จับไปกระเดียด” ดังที่จะเห็นได้ในปรากฎการณ์ใน Social media ปัจจุบันที่บางทีเราอ่านยังไม่ทันจบก็ไปคอมเมนท์วิจารณ์กันเสียแล้ว

 

ข้อนี้ผู้เขียนว่าดีนะครับ
มันช่วยให้เราแก้ปัญหาการอ่านหนังสือไม่จบเล่ม
ช่วยให้เราเลือกหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ
และทำให้ความรู้ของเราครบรอบด้านมากขึ้นด้วย (ในกรณีที่ไม่ใช่นิยายนะ)

 

3.จะหนังสือเล่มหรืออีบุ๊คก็อ่านไปเถิด เอาที่สบายใจ

digital vs print
digital vs print

นั่นแหละครับท่านผู้ชม…เรามักจะชอบได้ยินว่าหนังสือเล่มดีกว่าสิ หรือบางคนก็บอกอ่านจากจอสะดวกกว่าเพราะอ่านที่ไหนก็ได้
บางคนก็ชอบ Audio book แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ประเด็นเลยครับ…

 

ใจความหลักของข้อนี้ที่เกสต์อยากเตือนพวกเราก็คือ Platform หรือรูปแบบมันก็แค่เทคโนโลยี ใจความสำคัญจริงๆ คือ Content ที่เราเสพเข้าไปว่ามีคุณภาพพอไหม เราอ่านหนังสือจบเล่มไหม

 

ทุกวันนี้พฤติกรรมในการอ่านของผู้คนได้เปลี่ยนไปมากมาย
คนที่ผู้เขียนรู้จักหลายคนซื้อหนังสือเล่มเดียวกันถึงสองสามครั้ง
เป็นแบบ Digital อ่านผ่านจอ สะดวก เอาไว้อ่านตอนกลางวัน
พอถึงช่วงเดินทางก็ฟังเป็น Audio book
เมื่อถึงบ้านก็หยิบเล่มเดียวกันเวอร์ชัน Print จับต้องได้มานอนเอนกายอ่านอย่างสบายใจ

 

หาแนวที่ตัวเองชอบ ดื่มดํ่าไปกับมัน นั่นก็พอแล้วครับ

 

4.”จองเวลาหนึ่งชั่วโมง” เพื่อการอ่านโดยเฉพาะ

 

ในตอนที่แล้ว (https://bit.ly/2KXuwuB) ผมแนะนำไปว่าในระหว่างวันเรามีเศษชิ้นส่วนเวลาจำนวนมาก ที่หากเราอ่านสะสมไปทีละนิด เราอาจใช้เวลานั้นอ่านหนังสือได้มากกว่าที่คิด

 

แต่สำหรับข้อนี้ผู้เขียนก็เห็นด้วยมากๆ กับเกสต์เช่นกันที่ว่าเราควรจะมีเวลาที่จะโฟกัสในการอ่านเต็มที่โดยไม่มีสิ่งรบกวนบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ “DEEP WORK” ที่ผมเคยเขียนถึงเอาไว้ (https://bit.ly/2KVGCEA)

 

นั่นก็เพราะ…

 

เกสต์บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ง่ายมากนะที่เราแค่ไล่สายตาไปเรื่อยๆ แล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งหน้าโดยแทบไม่รู้ตัวว่าเราได้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะนั้่นยังไม่ใช่ “การอ่านที่แท้จริง”
สำหรับเกสต์แล้ว “การอ่านคือการคิด” และการคิดที่ว่า ก็เรียกได้ว่า “คิดหนัก” เลยทีเดียว

 

ยิ่งคุณคิดให้หนักมากขึ้นระหว่างการอ่าน
การอ่านก็ยิ่งคุ้มค่ามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ความ “คุ้มค่า” ที่พูดถึงนี้
-เกิดจากการ “โต้ตอบ” ทางความคิดระหว่างผู้อ่านและผู้เขียน
-เกิดจากการ “ตั้งคำถาม” ว่าเราสามารถประยุกต์ข้อมูลใหม่ๆเหล่านี้กับชีวิตเราอย่างไร
-เกิดจากการ “เชื่อมโยง” สิ่งที่ “เคยรู้” กับสิ่งที่ “เพิ่งรู้”
-เกิดจากการ “ไม่เชื่อ” ผู้เขียนทุกอย่างๆ ทว่าตั้งคำถามและโต้แย้งในใจ

 

แน่นอนว่ามันก็แล้วแต่ด้วยว่าเป้าหมายในการอ่านของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะบางคนก็แค่อยากจะใช้การอ่านเป็นการผ่อนคลาย อ่านเพื่อความสนุก แล้วได้ความรู้เป็นของแถม แต่ก็มีคนที่จริงจังกับมันมากในการอ่านเพื่อเปลี่ยนชีวิตหรือแก้ปัญหาในบางแง่มุม (บางคนก็อ่านเพื่อเยียวยา อาการอกหัก ก็มี)

นี่คือสิ่งที่บิลเกสต์ทำ…
แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อหรือทำตามทุกอย่างก็ได้หรอกครับ
โจทย์ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย
ต่างคนต่างจริต ต่างเป้าหมาย ต่างวิธีการ
อย่าเพิ่งเชื่อ..แต่ลองจำและนำไปใช้ดูก่อน
ถ้าเวิร์คก็เก็บเข้าลิสต์เป็นแนวทางของตัวเอง

 

สำหรับในตอนต่อไปๆ หากใครชอบทิปการอ่านในลักษณะนี้ก็อย่าเพิ่งหนีหายกันไปนะครับ เพราะเรายังเหลือนักอ่านระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและธุรกิจอีกหลายคน
ตามที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นบทความ…เราจะมาไขความลับเหล่านี้กัน
รอติดตามนะครับ 

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน