Loading

wait a moment

คู่มืออ่านหนังสือฮาวทู 101: ฮาวทูเต็มตู้ก็กู้ชีพฉันไม่ได้ [How To Read How-to Books]

 

บทความนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ตอนที่จะช่วยให้คนผู้อ่านโดยเฉพาะสาย ฮาวทู/พัฒนาตนเอง ได้ใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อเข้าถึงหนังสือเหล่านั้นได้มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไล่เรียงไปดังนี้

 

1.ฮาวทูเต็มตู้ก็กู้ชีพฉันไม่ได้: เราอ่านหนังสือกลุ่มนี้ไปทำไม แล้วมันช่วยให้ชีวิตเราให้ดีขึ้นได้จริงๆหรือ ?

2.แค่คุณชอบหนังสือแนวนี้ ก็เหมือนกับว่าคุณประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง: โมเดลของจิตวิทยาการอ่านหนังสือฮาวทูที่คุณไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน…แน่นอนมันจะทำให้คุณตาสว่าง

3.ก้าวผ่านกับดักหนังสือฮาวทู: คนไทยอ่านหนังสือไม่มาก…มีเพียงคนส่วนน้อยที่พัฒนาตนเองผ่านการอ่านอยู่เสมอ แต่มีเพียงเศษหนึ่งส่วนเสี้ยวของเสี้ยวเล็กๆ ที่จะสามารถเปลี่ยนทฤษฎีในหัวเป็นความจริงของชีวิตที่ดีขึ้นได้…ตอนที่สามจะช่วยให้คุณข้ามผ่านกับดักนั้น

 

เอาล่ะ !!! ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มเลย

ตอนที่ 1: ฮาวทูเต็มตู้ก็กู้ชีพฉันไม่ได้

1.

เรามาเริ่มจากคำถามก่อนว่าเราอ่านหนังสือฮาวทู หรือพัฒนาตนเองกันไปทำไม ?

อะไรคือสมมุติฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้รับจากหนังสือเหล่านี้ ?

2.

ก่อนจะตอบคำถามนั้นได้ เราจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักกับคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่สำคัญกันก่อน

3.

นั่นคือคำว่า Fixed Mindset และ Growth Mindset

ปล.Mindset แปลเป็นไทยได้อย่างง่ายๆ ว่า ‘กรอบความคิด’ หรือสามารถเปรียบได้กับ ‘แว่นตา’ ที่เราใช้มองโลกนั่นเอง

4.

หากคุณเป็นผู้ใหญ่คุณมองตัวเองอย่างไรใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า…หากคุณยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอยู่ คุณคิดว่าคุณจะโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ?

5.

สิ่งเหล่านี้คือคำถามพื้นฐานที่จะช่วยเผยให้เห็นวิธีการที่คุณ ‘จินตนาการ’ ถึงตัวเองในอนาคต

6.

จากการตอบคำถามดังกล่าวเราสามารถแบ่งคนออกเป็นคร่าวๆ ได้ 2 ประเภทคือ

 

หนึ่ง คนที่เมื่อมองไปยังอนาคตแล้วเห็นการเติบโต การเจริญพัฒนา สิ่งดีๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา…

สอง คนที่ไม่มีความหวังในอนาคต หรือมองว่าเราคงไม่คู่ควรพอกับสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น ชีวิตมันก็แค่นี้

7.

นั่นคือที่มาของการติดตามศึกษาวิจัยกลุ่มคนจำนวนมากหลากหลายและได้ผลสรุปออกมาว่า คนที่มี “ความเชื่อ” ใน “ศักยภาพ” ของตนเองที่สามารถเห็นภาพในอนาคตที่ดีกว่าในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุขมากกว่า

และเราเรียกคนประเภทนี้ว่าคนที่มี Growth Mindset…ส่วนคนที่มองตัวเองว่าไม่สามารถพัฒนาได้ว่า Fixed Mindset

growth mindset
fixed Vs growth mindset

8.

สังเกตเห็นไหมครับว่า แนวคิดนี้ไม่ได้กำลังพูดถึง ระดับฐานะ  ระดับ IQ  ระดับการศึกษา แต่อย่างใด…แต่พูดถึงสิ่ง ‘นามธรรม’ เกี่ยวกับความเชื่อในศักยภาพของตัวเอง

9.

นี่จึงพาเรากลับมาสู่คำถามว่าทำไมเราถึงอ่านหนังสือฮาวทูหรือหนังสือพัฒนาตัวเอง…แน่นอนว่าหนังสือฮาวทูมีหลายประเภท และต้องยอมรับว่าก็มีจำนวนไม่น้อยที่นำเสนอหลักการที่เลื่อนลอยและอาจไม่มีการวิจัยทางจิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์รองรับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีหนังสือจำนวนที่มากที่เขียนขึ้นมาเป็นอย่างดี มีคุณภาพ เป็นหลักการที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง เช่น หนังสือที่อ้างอิงจากจิตวิทยาการเรียนรู้ หรือจิตวิทยาเชิงบวกที่เราเรียกว่า Positive Psychology

 

10.

อย่างไรก็ตาม…สิ่งที่เป็นจุดร่วมอย่างหนึ่งของคนที่อ่านหนังสือฮาวทู/พัฒนาตนเองคือ…ความเชื่อ ความต้องการ ความอยากที่จะทำให้ ‘พรุ่งนี้’ ดีกว่าในวันนี้…จึงไม่ใช่การสรุปความที่ด่วนเกินไปว่า คนกลุ่มนี้คือคนที่มี Growth mindset ที่สตรองที่สุดในกลุ่มประชากรอย่างแน่นอน

The Pursuit of Happyness
The Pursuit of Happyness (2006): หนึ่งในฉากที่สุดแสนกินใจ “อย่าให้ใครมาบอกลูกได้นะว่า ลูกทำอะไรไม่ได้ ต่อให้คนพูดจะเป็นพ่อก็เถอะ” “ถ้าลูกมีความฝัน ลูกต้องปกป้องมัน เวลาคนเค้าทำอะไรกันไม่ได้ เค้าก็จะมาบอกว่าลูกก็คงทำไม่ได้เหมือนกัน ถ้าลูกต้องการบางสิ่งบางอย่าง ก็แค่ออกไปทำมันให้จงได้ แค่นั้นแหละ”

11.

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหากคุณไม่อ่านหนังสือกลุ่มนี้แล้วคุณจะไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้
เช่นกันที่ไม่ได้การันตีว่าหากคุณตามอ่านหนังสือฮาวทูปกใหม่ทุกเล่มแล้วจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในชีวิต

12.

ในเมื่อการอ่านหนังสือฮาวทูบ่งบอกได้อย่างกลายๆว่าคุณมี Growth Mindset ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้วนั้น…แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดหลอกจุดตายจริงๆของคนที่ชอบอ่านหนังสือฮาวทูคืออะไรกันล่ะ ?

ปัญหานั้นก็คือการที่ไม่สามารถเปลี่ยนทฤษฎีในหัวให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ยังไงล่ะครับ ?

 

หากเรามองว่าความสำเร็จเปรียบเหมือนภาพที่สมบูรณ์ภาพหนึ่ง…เราสำเร็จเมื่อเราต่อจิ๊กซอให้ครบถ้วน
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหาจิ๊กซอตัวใหม่ได้มากมายเท่าไหร่…

 

การออกล่า ตามหาหนังสือเล่มใหม่ๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอาจทิ้งท้ายให้คุณจมอยู่กับกองหนังสือกองโตที่ไม่ได้ช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จแต่อย่างใด
สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างที่แท้จริงมันอยู่ที่ว่าจิ๊กซอตัวที่ได้มาใหม่นั้นสามารถลงล๊อคได้พอดีกับรูโหว่ของภาพความสำเร็จที่เราต่อค้างอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน

ในบทความหน้า เราจะชวนผู้อ่านไปสำรวจว่า ‘อะไร’ คือจิ๊กซอตัวที่ขาดไป และทำไมนิสัยการเอาแต่ไล่ล่าหนังสือเล่ม ‘ถัดไป’ ถึงไม่ใช่คำตอบของภาพความสำเร็จที่คุณกำลังตั้งใจสร้าง…รอติดตามนะครับ

 

ตอนที่ 2: แค่คุณชอบหนังสือแนวนี้ ก็เหมือนกับว่าคุณประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

 

 

0.

ในบทความตอนแรกเราได้ทำความรู้จักกับ Fixed Mindset และ Growth Mindset ไปแล้วว่าแทบจะเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายเลยว่าคุณจะไปได้ไกลแค่ไหนในชีวิต (ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ตอนนี้ยังกลับลำทันครับ )

ข่าวดีก็คือคน ‘ส่วนใหญ่’ ที่ชอบและสนใจหนังสือแนว ฮาวทู/พัฒนาตนเอง นั้นเป็นกลุ่มคนที่มี Growth Mindset หรือมองว่าตนเองมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้…

นั่นแปลว่าหากคุณอ่านบทความนี้อยู่ก็มีโอกาสสูงมากที่คุณจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะขาข้างหนึ่งของคุณได้ก้าวเข้าไปอีกฝั่งของประตูแห่งความสำเร็จแล้ว

และบทความในตอนที่สองที่เรากำลังจะพูดถึงกัน ก็จะเป็นการก้าวขาอีกข้างของคุณให้พ้นประตูบานนี้ไปอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

1.

คุณคิดว่าระหว่างสองคนนี้ใครมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่ากัน…(สมมุติว่าทั้งสองอยากทำธุรกิจ)

 

นาย A: อ่านหนังสือฮาวทูทุกเล่มที่อยู่บนชั้นหนังสือ สามารถเข้าใจและอธิบายแนวคิดทุกอย่างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

นาย B: ชายผู้ไม่เชื่อในทฤษฎี แต่เชื่อในการลงมือทำเพียงอย่างเดียว และเขาไม่อ่านหนังสือเลย

 

ด้วย Mindset ที่แตกต่างกันนี้คุณคิดว่าใครจะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน
ให้เวลาคิด 10 วินาที….ติ๊ก ต่อกๆ

2.

เอาล่ะครับ…ผู้เขียนอยากยอมรับว่า ด้วยข้อมูลแค่นี้ก็ไม่สามารถตอบได้เหมือนกันครับ ทำได้เพียงทำนายได้เล็กน้อย ดังนี้

 

นาย A สำเร็จแน่ครับ แน่นอน 100%… แต่เป็นความสำเร็จในทางทฤษฎีแห่งความสำเร็จ ถ้าให้เข้าไปสอนหน้าชั้นเรียนหรืออัดคลิปวีดีโอเพื่อสอนแนวคิดทางธุรกิจเหล่านี้ เขาจะต้องทำได้ดีมากแน่ๆ
แต่ถ้าถามว่าเขาจะสามารถออกไปทำธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จไหม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนนาย B นั้นต่างออกไป…เขาไม่เชื่อในการนั่งอ่านทฤษฎี แต่เอาเวลาทั้งหมดไป ‘ลงมือทำ’ เพื่อก่อร่างสร้างความฝันของเขา เช่น เขาอาจจะเริ่มลงมือทำธุรกิจและลองผิดลองถูกไประหว่างทาง…ซึ่งก็ไม่ได้การันตีเช่นกันว่าวิถีที่เขามุ่งไปจะใช่ทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่

3.

นี่คือขั้วการปะทะคลาสสิกตลอดกาลระหว่าง

การคิด Vs การลงมือทำ

ฝ่ายสนับสนุนการลงมือทำอาจมีคำพูดอย่าง “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” “เก่งแต่ในตำรา” “Done Is Better Than Perfect”

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการคิด/การวางแผน/การอ่านหนังสือ/การวางกลยุทธ์ อาจยกตัวอย่างนิทานคนตัดไม้สุดคลาสสิกที่บอกว่า “หากมีเวลา 10 ชั่วโมงในการตัดไม้ ผมเลือกจะใช้  9 ชั่วโมงแรกในการลับขวานให้คม” หรือแม้กระทั่งมองคนที่ขยันอย่างผิดวิธีว่า “ขยันผิดที่ สิบปีก็ไม่รวย”

4.

ก่อนที่เราจะรีบฟันธงตัดสินว่าการคิดหรือการลงมือทำเป็นผู้ชนะในการดีเบตครั้งนี้ ผมอยากให้ผู้อ่านลองดูแผนผังข้างล่างนี้ก่อน ซึ่งผมรับประกันได้เลยว่าหากคุณเข้าใจข้อเท็จจริงอันเรียบง่ายนี้ มันจะช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

Mindset —> การตัดสินใจ —> การลงมือทำ —> ผลลัพธ์ —> Mindset

ปล.ต่อไปนี้จะขอเรียกแผนผังนี้ว่า “วงจร Mindset”

ในที่สุดความลับก็ถูกเปิดเผย !
ทั้งความคิดและการลงมือทำล้วนส่งผลบวกซึ่งกันละกัน

 

Mindset หรือ การคิด จะส่งผลต่อการตัดสินใจลงมือกระทำ 
การกระทำที่แตกต่างกันจะทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกันไป และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะทำให้เราก่อร่างสร้าง Mindset ที่มีอยู่เดิมให้แน่นหนามากยิ่งขึ้นได้

 

เช่น หากเด็กคนหนึ่งมี “Growth mindset” ที่เกี่ยวกับแง่มุมการเรียนการศึกษา นั่นทำให้เขา “ตัดสินใจ” ที่จะพยายามในการ “ลงมือทำ” กิจกรรมที่สอดคล้องต่อการเรียน เป็นต้นว่า ตั้งใจเรียน เข้าคลาสเรียนครบทุกครั้ง กลับมาทบทวนในสิ่งที่ได้เรียน และค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ พอผลสอบออกมาได้ผลดี ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อหรือ Mindset ดั้งเดิมให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งขยัน (อย่างถูกวิธี) ก็ยิ่งเรียนเก่ง
พอยิ่งเรียนเก่ง ก็ยิ่งขยัน
เป็นวงจรที่สนับสนุนกัน

the habit loop
The habit loop: วงจร Mindset ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นอ้างอิงมาจากแผนผังทางจิตวิทยาที่เรียกว่า the habit loop ซึ่งอธิบายเราว่านิสัยของเราถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไรทั้งนิสัยที่ดีและนิสัยที่แย่ จากแผนภาพจะเห็นว่า เมื่อเราได้รับสิ่งกระตุ้น (Cue) จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่าง (Routine) เพื่อสุดท้ายเราจะได้รับรางวัลจากการทำสิ่งนั้น (Reward) เมื่อทำบ่อยๆ สิ่งที่เราทำก็จะกลายเป็นนิสัย

จากแผนภาพด้านบนจะเป็นตัวอธิบายว่าเด็กคนนั้นที่มี Growth Mindset ทางด้านการเรียนการศึกษาย่อมก่อร่างสร้างนิสัยที่ดีขึ้นมาได้เนื่องจากการมีความเชื่อว่าการลงมือทำ (Routine) สิ่งต่างๆ ที่เป็นนิสัยการเรียนที่ดี จะช่วยให้เธอได้รับรางวัล (Reward) ซึ่งก็คือผลการเรียนที่ดี ซึ่งก็จะย้อนกลับมาสนับสนุน Growth Mindset ของเธอให้แข็งแรงยิ่งๆขึ้นไป

5.

เราจึงสรุปได้ว่า…
วงจรที่วนครบสมบูรณ์นี้คือสิ่งสำคัญมากของการมี Growth Mindset

แต่แค่การมี Mindset ที่ดีนั้นเพียงพอแล้วหรือในความสำเร็จ…มันง่ายขนาดที่ว่า “แค่ปรับความคิดชีวิตก็เปลี่ยน” หรือไม่ ?

แล้วอะไรคือ “จิ๊กซอ” ที่ขาดหายไปของความสำเร็จ
อะไรทำให้คนที่มี Growth Mindset ที่ดีหลายคนไปไม่ถึงฝั่งฝัน ???

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนอ่านหนังสือฮาวทู/พัฒนาตนเองหลายๆ คนไม่สามารถเปลี่ยนแนวความคิดในหนังสือให้เป็นผลลัพธ์ที่แท้จริงได้

 

เมื่อขาข้างหนึ่งก้าวข้ามประตูแห่งความสำเร็จไปแล้ว…แล้วอะไรคือตัวฉุดขาอีกข้างของคุณอยู่ ???

คำตอบนั้น “ถูกใบ้” อยู่ในวงจร Mindset นี้เอง…และเราจะไปขุดกันให้ลึกในวงจรนี้ เพื่อให้เห็นความลับที่ซ่อนอยู่

6.

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการ “แยกส่วนประกอบ” ของหนังสือเหล่านี้

ในหนังสือฮาวทู/พัฒนาตนเองเกือบทุกเล่มจึงสามารถถูก “สกัด” เอา “จิ๊กซอแห่งความสำเร็จ” ออกมาได้ทั้งหมด 3 ประเภท

***หัวข้อนี้สำคัญมาก อยากให้เข้าใจให้ชัดเจน***

 

หนึ่ง จิ๊กซอแห่งวิธีการ (How to)
สอง จิ๊กซอแห่งกรอบความคิด (Mindset)
สาม จิ๊กซอแห่งแรงบันดาลใจ (Motivation)

หนังสือกลุ่มฮาวทู/พัฒนาตนเอง ล้วนประกอบขึ้นด้วย จิ๊กซอ 3 ประเภทนี้เสมอ…

7.

หากเปรียบความสำเร็จเป็นเหมือนการขี่จักรยานได้อย่างรวดเร็วว่องไว ปลอดภัยและเป็นธรรมชาติ จิ๊กซอทั้งสามข้อนี้เองที่เปรียบเหมือน “น้ำมันหล่อลื่น” ให้กับ “วงจร Mindset” ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อเราแทนค่า จิ๊กซอ ทั้งสามอันที่ได้จากการอ่านหนังสือฮาวทูลงไปใน “วงจร Mindset” เราจะได้ภาพใหม่ดังนี้

Mindset (จิ๊กซอแห่งกรอบความคิด) —> การตัดสินใจ (จิ๊กซอแห่งวิธีการ)

 

การตัดสินใจ (จิ๊กซอแห่งวิธีการ)—> การลงมือทำ (จิ๊กซอแห่งแรงบันดาลใจ)

การลงมือทำ (จิ๊กซอแห่งแรงบันดาลใจ)—> ผลลัพธ์

 ผลลัพธ์—> Mindset

 

อย่าเพิ่งปวดหัวกันไปก่อน…มาค่อยๆไล่ดูไปพร้อมกันแต่ละตัวครับ

ในหนังสือฮาวทูแต่ละเล่ม…

จิ๊กซอแห่งกรอบความคิดจะทำให้เรามี Growth Mindset ที่ถูกต้องในแต่ละเรื่องที่เราต้องการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ่อรวยสอนลูก จะพูดถึงวิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่าง พ่อรวยและพ่อจน

จิ๊กซอแห่งวิธีการ—เมื่อเรามีมุมมองที่ถูกต้อง…คำถามต่อไปคือแล้วเราจะลงมือทำตามความคิดนั้นได้อย่างไร จิ๊กซอแห่งวิธีการจะสอนเราในสิ่งที่ปัจจุบันเราไม่รู้หรือทำไม่เป็น และให้วิธีการที่ผู้เขียนนำเสนอว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด (the best practice) ในมุมมองของผู้เขียน…นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกหนังสือกลุ่มนี้ว่า หนังสือฮาวทู

จิ๊กซอแห่งแรงบันดาลใจ—จากจิ๊กซอที่เราได้รับก่อนหน้าทั้งสองชิ้นทำเรามีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่เราจะทำ แถมยังรู้วิธีการที่จะทำมันแล้วด้วย…คำถามต่อมาคือ “เมื่อไหร่ล่ะที่เราจะลงมือทำมัันซักที”…หากในชีวิตจริงมีแต่คนชอบพูดว่า ความฝันของคุณมัน “เป็นไปไม่ได้” จิ๊กซอชิ้นสุดท้ายนี้เองจะคอยเป็นเพื่อนคุณเสมอ และบอกว่าที่คุณคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” มัน “เป็นไปได้”

 

ฟังๆ ไป ก็ดูเหมือนว่าหนังสือกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ของมันได้ดี
นั่นคือช่วยคุณ “หล่อลื่น” แทบจะตลอดเส้นทางของ “วงจร Mindset” เลยเดียว…(ย้อนกลับไปดูผังด้านบนสิครับ)

แต่ทำไมยังมีใครหลายคนที่รู้สึกว่าอ่านหนังสือฮาวทูมาแล้วหลายเล่มแต่ก็ยังไม่เห็นว่า “จักรยานแห่งความสำเร็จ” จะพุ่งทยานไปข้างหน้าได้มากเท่าที่ควรเสียที

คำตอบที่มีนั้นเรียบง่ายมากครับ
จักรยานมันไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้หรอกครับ
ไม่ว่าคุณจะหยอดน้ำมันหล่อลื่นไปมากมายเท่าไหร่
ถ้าคุณไม่ออกแรงปั่น !!!!

วงจร Mindset
วงจร Mindset: จะจักรยานแม่บ้าน เสือภูเขา เรียบหรู เท่เฉียบ…สุดท้ายถ้าไม่ปั่นมันก็ได้แค่จอดอยู่นิ่งๆ

ก็อย่างที่บอกไปตอนต้นบทความนั่นแหละครับ
ข่าวดีคือคุณมาถูกทางแล้วในเรื่องของความเชื่อว่าตนเองพัฒนาได้ (มี Growth Mindset)
แต่ข่าวร้ายก็คือ แค่นั้นมันยังไม่พอ…มีหลุมเดิมๆ ที่คนกลุ่มนี้ชอบตกลงไป

ในบทความหน้าในตอนที่ 3 ของซีรีย์นี้(ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย) เราจะพาไปสำรวจกันว่าจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะก้าวข้ามหลุมที่คนส่วนใหญ่มักตกตกลงไป แล้วตัวคุณเองเป็นแบบนั้นอยู่รึเปล่า มีวิธีการแก้ไขด้วยการปรับวิธีคิดแบบใด

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อคุณได้เห็นภาพที่สมบูรณ์เมื่ออ่านจบทั้งสามบทความ…การอ่านหนังสือฮาวทูจะกลายเป็นตัวช่วยทรงพลังที่พาคุณไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

 

 

ตอนที่ 3: ก้าวผ่านกับดักหนังสือฮาวทู

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือฮาวทูมามากมายแต่ยังรู้สึกว่าชีวิตยังไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีมากเท่าที่ควรจะเป็น…โพสนี้เขียนมาเพื่อคุณครับ 

0.

ในบทความตอนแรกเราได้ทำความรู้จักกับ Fixed Mindset และ Growth Mindset ไปแล้วว่าแทบจะเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายเลยว่าคุณจะไปได้ไกลแค่ไหนในชีวิต

ในตอนที่สอง เราเห็นแล้วว่าหนังสือฮาวทูเป็นตัวช่วยชั้นดีในการสร้าง “วงจร Mindset” ที่เยี่ยมยอด…ทว่ามันก็เป็นได้เพียงแค่ “น้ำมันหล่อลื่น” ที่มาช่วยแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้จักรยานแห่งความสำเร็จของคุณมุ่งไปข้างหน้าได้…นั่นก็เพราะองค์ประกอบข้อสุดท้ายที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้…นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า

“กับดักของการลงมือทำ”

เราจะก้าวผ่านมันไปได้อย่างไร
หากพร้อมแล้ว…เรามาหาคำตอบได้เลยครับ 

1.

ผู้เขียนเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยติดกับดักคล้ายๆกันนี้
เป็นเพราะการที่เราไม่สามารถแยกระหว่าง “การหยอดน้ำมัน” และ “การถีบเท้าปั่น” นี่เอง
ที่ทำให้จักรยานของเรายังคงจอดแน่นิ่ง

เป็นเวลาหลายปีที่ผู้เขียนคลั่งไคล้ในหนังสือประเภทฮาวทู/พัฒนาตนเอง ทุกครั้งที่มีหนังสือแนวนี้ปกใหม่ๆ ออกมาก็จะรู้สึกตื่นเต้นมากๆ  ที่ชั้นหนังสือของผู้เขียนจึงค่อยๆ เต็มไปด้วยหนังสือแนวนี้…จาก 5 เป็น 10 …เป็น 20 …เป็น 30 เล่ม

รู้ตัวอีกทีบนชั้นหนังสือก็เต็มไปด้วยหนังสือประเภทนี้
โดนไม่ทันรู้ตัวผู้เขียนก็กลายเป็นคนที่เข้าใจหลักการแห่งความสำเร็จพวกนี้ครบเกือบทุกข้อ/ทุกสำนัก ที่มีอยู่บนตลาดหนังสือ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ “ตลาดความคิดของโลก” ไม่มีแนวคิดไหนที่ได้ยินใหม่จะไม่ทับซ้อนกับสิ่งที่เคยรู้มาก่อนแล้ว

แต่จุดเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นจาการถามตัวเองว่า
แล้ววันนี้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือยัง ???
หนังสือเหล่านี้ช่วยให้เราต่อจิ๊กซอแห่งความสำเร็จได้จริงๆหรือไม่

2.

หากผู้อ่านได้ติดตามอ่านซีรีย์นี้มาถึงบรรทัดนี้ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยที่มีโอกาสได้เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ

การอ่านหนังสือฮาวทู/พัฒนาตนเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร
อันที่จริงมันเป็นสิ่งที่ฉลาดเสียด้วยซ้ำที่รู้จักการหยอดน้ำมันหล่อเลื่อนเพื่อผ่อนแรง เพื่อเรียนรู้ในวิธีการของผู้ที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน

ปัญหาใหญ่ที่สุดนั้นเป็นเพราะมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าแค่การซื้อหนังสือมาอ่านก็จบแล้ว…คิดว่านั่นคือการเดินทางสู่ความสำเร็จแล้ว

แต่อันที่จริงหลังอ่านหนังสือจบ…จักรยานของคุณยังจอดแน่นิ่งอยู่เลยนะครับ…มันยังไม่ได้ขยับไปไหน

นี่คือปัญหาข้อแรก…ความสับสนระหว่างการหยอดน้ำมันและการปั่นจักรยาน

3.

เมื่อคุณสับสนระหว่าง ‘การหยอดน้ำมัน’ และการ  ‘ลงมือปั่น’

เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มแรกจบแล้วยังไม่เห็นผล
อะไรคือสิ่งที่คุณจะคิดถัดไป

หนึ่ง เทคนิคมันแย่ ใช่ไม่ได้ผล (หาเล่มใหม่ที่ดีกว่านี้)
สอง เราไม่ฉลาดพอ เราไม่เก่งพอ (เลิกอ่านหนังสือแนวนี้ดีกว่า)
สาม ยังต้องมีอะไรที่เราพลาดไปแน่ๆ (อ่านเพิ่มเติมไม่รู้จบ)

ไม่ว่าจะเป็นข้อไหนในในสามข้อนี้ ล้วนนำท่านผู้อ่านไปสู่หายนะได้ทั้งสิ้น…

 

เมื่อท่านหาหนังสือเล่มใหม่ เพราะคิดว่าเล่มแรกไม่ได้ผล ท่านกำลังติดกับดักของการไม่ลงมือทำ…ท่านกำลังมองหาน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อใหม่โดยหวังว่าจะทำให้จักรยานเคลื่อนไปข้างหน้าได้  (หาเล่มใหม่ที่ดีกว่านี้)

เมื่อท่านคิดว่าเป็นตัวท่านเองมันจึงไม่ได้ผล และเลิกอ่านหนังสือฮาวทูอีกต่อไป ท่านกำลังพลาดในการเรียนรู้จากผู้อื่น…ท่านกำลังพลาดตัวช่วยที่ทำให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายและเร็วขึ้นเพียงเพราะ…ท่านไม่สามารถแยกแยะได้ว่าไม่ใช่น้ำมันที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะท่านไม่ลงมือปั่นจักรยานของท่านเอง (เลิกอ่านหนังสือแนวนี้ดีกว่า)

เมื่อท่านคิดว่าท่านยังพลาดอะไรไป ท่านคิดว่าต้องมีความรู้บางอย่างที่ยังรู้ไม่ครบ ท่านก็จะมองหาหนังสือเล่มใหม่อย่างไม่จบสิ้น…พอรู้ตัวอีกทีก็พบว่าห้องเต็มไปด้วยกองหนังสือมากมาย แล้วก็ได้แต่สงสัยตัวเองว่าทำไมอะไรๆก็ยังเหมือนเดิม (อ่านเพิ่มไม่รู้จบ)

4.

เมื่อเราเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลังนี้แล้ว…ลองมาดูคำถามที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่ต้นบทความดูนะครับ

เรามาเริ่มจากคำถามก่อนว่าเราอ่านหนังสือฮาวทู หรือพัฒนาตนเองกันไปทำไม ? อะไรคือสมมุติฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้รับจากหนังสือเหล่านี้ ?

5.

ผู้อ่านคงจะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง
และคงจะมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป
(ที่ผู้เขียนมิบังอาจตอบแทนท่านได้)

แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียน…
ก็ยังคงมีการซื้อหนังสือแนวนี้เล่มใหม่ๆอยู่บ้างเพราะเป็นความชอบที่ติดตัวมานาน แต่เป็นการซื้อหาหนังสือที่มีความหมายที่ต่างออกไปจากเดิม…ยังมองว่ามันมีประโยชน์ แต่ไม่ได้ฝากความหวังกับมันมากเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ซื้อหาเพราะรู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้เหล่านั้น ไม่ได้ซื้อเพราะรู้สึกว่าเล่มเก่ายังไม่ดีพอ…ในทางกลับกันผู้เขียนยังพบว่าการย้อนกลับไปอ่านหนังสือเล่มเก่าๆในแต่ละครั้งกลับให้มุมมองที่ต่างออกไป

 

กับดักของการลงมือทำ
กับดักของการลงมือทำ คือจุดผิดพลาดของวงจร Mindset เนื่องจากขาดขั้นตอนของการลงมือทำ ซึ่งจะทำให้ habit loop หมุนไม่ครบวงจร

เนื่องจากสมองไม่เคยได้รับรางวัลจากการลงมือทำจริง…เราได้เรียนรู้ทฤษฎีจากการอ่าน  เราได้รับ Mindset และวิธีการ ดีๆจากหนังสือที่สุดท้าย ไม่ถูกนำไปใช้จริงในโจทย์ชีวิต…ผลก็คือเราจะลืมมันไปในที่สุด หรือไม่มันก็กลายเป็นเศษซากความรู้แห้งๆ ที่รู้ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใดต่อชีวิต

6.

ก่อนจะจบบทความนี้ไป ผมอยากจะฝากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งจากคุณ “พิชัย จาวลา” หนึ่งในนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีท่อนหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างน่าคิด…ดังนี้

“หากเป้าหมายของคุณคือการหาความรู้เพื่อลงมือทำ ไม่ใช่ความรู้ในทางวิชาการแล้วล่ะก็ ความรู้ก็ต้องมีสายกลาง…การรู้น้อยมากเกินไปก็ไม่ดี เพราะทำให้เราขาดความมั่นใจในการลงมือทำ ส่วนการรู้มากเกินไปก็ทำให้เราติดกับดักไม่ลงมือทำเสียที เพราะในที่สุดแล้วสิ่งที่เรารู้ย่อมเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราไม่รู้…และความรู้ที่เป็นประโยชน์ที่สุดจะเผยออกมาเมื่อเราเริ่มต้นลงมือทำแล้วเท่านั้น…ประสบการณ์จากการลงมือทำจะเป็นครูที่ดีที่สุด”

 

บทความชิ้นนี้ก็ได้เดินทางมาถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วหลังจากอยู่ด้วยกันมาสามตอน…และบทความนี้ก็ไม่บังอาจกล่าวอ้างว่าเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จเพราะอันที่จริงมันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อใหม่อีกยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น…ทว่าหากมีใครนำไปปรับใช้แล้วพบว่าทำให้ชีวิตของท่าดีขึ้นได้ก็ถือว่าผู้เขียนจะมีความสุขมากแล้ว

 

เพราะนั่นหมายถึงท่านเริ่มต้นที่จะลงมือถีบวงล้อของ Growth Mindset ให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า…เมื่อท่านตระหนักได้ว่าไม่มีสิ่งใดจะแทนที่การลงมือทำอย่างจริงจัง…เป็นที่น่าตกใจเหมือนกันที่คนรักการอ่านอย่างผู้เขียน…จะเขียนประโยคสั้นๆ ลงไปบนพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเองว่า

 

“หยุดอ่าน…ลงมือทำได้แล้ว”

 

แล้วคุณล่ะครับ ??? คิดอย่างไรกับประโยคนี้

 

บทความจบแล้วนะครับ…แล้วอะไรคือสิ่งแรกที่คุณจะทำหลังอ่านบทความนี้จบ

 

แล้วสิ่งนั้นช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จที่ตั้งไว้หรือเปล่า ???

– The End –

หากคุณชอบบทความนี้ มีอีก 2 บทความที่ผู้เขียนแนะนำให้อ่านต่อเนื่องมากๆ (คลิกที่ตัวหนังสือด้านล่างได้เลย)

1.อ่านหนังสือฮาวทูทั้งโลกคุณก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้…ถ้าคุณขาดสิ่งสิ่งเดียว (วิทยาศาสตร์พฤติกรรม 101)

2.รู้มากใช่ว่าจะชนะ…เมื่อการยอมรับในความไม่รู้อาจสำคัญกว่าความรู้ [ประวัติศาสตร์ความไม่รู้ของมนุษย์ชาติ]

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน