เครดิทภาพจากคุณ Peter Axtell
มายอมรับกันว่าทุกคนก็ต้องมีช่วงเวลาที่รู้สึกแบบที่จั่วหัวกันบ้าง
ผมไม่ได้กำลังบอกว่าทุกคนควรหยุดบ่นแล้วก้มหน้าก้มตาทำงานตามชะตากรรมไป
ในทางกลับกันผมเชื่ออย่างสุดใจเลยว่าเราควรจะสร้างความก้าวหน้าจากจุดแข็ง จากการงานที่เราชอบและถนัดอย่างที่ PETER F. DRUCKER ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการผู้ล่วงลับที่ไม่มีคนที่เรียนบริหารคนไหนไม่รู้จัก
แต่ความจริงก็คือความจริง…ไม่มีงานไหนบนโลกที่จะทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ตื่นขึ้นมาวิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์ได้ทุกวันหรอก (ถ้าซักวันหนึ่งมีอาชีพจ้างไปวิ่งเล่นในสวนดอกไม้ก็คงมี)
เจ้าของบล๊อคและหนังสือขายดีทั่วโลกที่ชื่อว่า Mark Manson ได้ชวนเราไปคิดว่างานแบบนั้นมันมีด้วยหรอ งานที่เราจะรู้สึกเพลิดเพลินจำเริญใจกับมันในทุกส่วนสัดอณูอยุ่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่มีวันเบื่อหรืออุปสรรคใดๆ เพราะแม้แต่งานที่เราถนัดหรือเฝ้าฝันมานานว่าอยากจะทำ ก็ต้องมีส่วนที่เราไม่ถูกใจบ้างเป็นธรรมดา
โดยคุณมาร์คเค้าออกมาเล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ว่า แม้เค้าจะชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก และมีความสุขในการ research ข้อมูลเพื่อนำมาเล่าหรือถ่ายทอดความคิด แต่สุดท้ายมันก็จะมีบางวันที่เขารู้สึกว่าไม่อยากจะทำงาน หรือบางขั้นตอนที่ไม่ชอบเอาเสียเลย เช่น การพิสูจน์อักษรที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เป็นต้น
วันนี้ผู้เขียนเลยอยากจะมาแนะนำให้รู้จักกับหนึ่งในวิธีการหาหรือสร้างแรงบันดาลใจในวันที่อยากจะนอนอยู่เฉยๆ (แต่ต้องลุกมาทำงาน)
.
เมื่อพูดถึงแรงกระตุ้นหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Motivation ซึ่งเรามองว่ามันคือ “แรงที่มองไม่เห็น” ที่อยู่เบื้องหลังการลงมือทำสิ่งต่างๆ คุณจะนึกถึงอะไรครับ ???
- หนังสร้างแรงบันดาลใจ
- คำคมที่เห็นตามโซเชียลมีเดีย
- การลงคอร์สเรียนกับ Life Coach เพื่อปลุกพลังชีวิต
- หนังสือชีวประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ
- การพิมพ์ว่า “Motivational video” ใน Youtube
อันที่จริงผมต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนเองเคยทำมาเกือบทุกข้อในลิสต์ด้านบนแล้วครับ ฮ่าๆ และหลายๆ ครั้งเลยทีเดียวที่มันได้ผล
อย่างตอนที่ผมดูคลิบออกกำลังกายแล้วมันกระตุ้นให้ผมรู้สึกฮึกเหิมจนลุกไปฟิตเนส ภาพยนต์ดีๆ บางเรื่องที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมามีเป้าหมายและอยากทำมันให้สำเร็จ
แต่ที่น่าเศร้าที่แรงบันดาลใจประเภทนี้เหือดแห้งไปได้รวดเร็วเหลือเกิน
ความจริงก็คือ มันเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ ที่เราจะเปิด Google หรือโซเชียลมีเดีย ขึ้นมาเพื่อค้นหาอะไรซักอย่างหนึ่งจาก “ภายนอก” นั่นแล้วปล่อยให้พลังเหล่านี้ไหลเวียนเข้ามาในตัวเรา ซึ่งลักษณะของแรงกระตุ้นประเภทนี้ ที่เราต้องปล่อยให้มัน “ไหล” จากภายนอก เข้ามาสู่ภายในของเรา เราสามารถเรียกมันได้ว่า “passive motivation”
คำถามคือ ยังมีวิธีอื่นอีกไหมที่เราสามารถแสวงหามันได้จากตัวเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาจากใคร ให้มันเป็นแรงบันดาลใจที่จริงแท้ มีความยั่งยืนมากพอที่จะช่วยให้เรารักษาการไต่ระดับได้อย่างสม่ำเสมอ เปรียบได้กับเครื่องบินที่ค่อยๆ สูงทะยานขึ้นไปบนท้องฟ้า
และคำตอบก็คือ การหลอมรวม Motivation จากภายนอก เข้ากับเป้าหมายของเราเองผ่านกระบวนการที่เราเรียกว่า “Active motivation”
จาก Passive motivation สู่ Active motivation
The inspiration is not the receiving of information. The inspiration is applying what you’ve received.
แรงบันดาลใจมันไม่ใช่แค่การรับข้อมูลบางอย่างเข้ามาจากภายนอก แรงบันดาลใจที่แท้จริงคือการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้รับมากับอะไรซักอย่างหนึ่งจนเกิดผลลัพธ์มากกว่า
– Derek Sivers –
ประโยคด้านบนเตือนให้ผมนึกถึงความเป็นจริงอันเรียบง่ายที่สุดที่หลายๆ ครั้งตัวผมเองก็หลงลืมไปเหมือนกันก็คือ
ความเปลี่ยนแปลงจริงๆ นั้นเกิดจากการลงมือกระทำ ไม่ใช่ความคิด…หรือหากเขียนเป็นสมการอย่างง่ายคือ
ความเปลี่ยนแปลง = การลงมือทำ
แน่นอนว่าการครุ่นคิดหรือวางแผนงานย่อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และความคิดก็คือบ่อเกิดของการ “ตัดสินใจ” ลงมือกระทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
แต่ปัญหาก็คือในยุคที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร (Information overload) พวกเราถูกถาโถมด้วยแรงบันดาลใจไม่รู้จบ หนังสือฮาวทูที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราให้ประสบความสำเร็จที่มีอยู่มากมายคือหนึ่งในหลักฐานข้อนี้ที่ชัดเจนที่สุด และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
Passive motivation –> ความฮึกเหิม –> ความ Feel good –> หลงลืม ขาดการต่อยอด
คนส่วนใหญ่เสพแรงบันดาลใจจากภายนอกจำนวนมากในทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งเราอ่านเราก็ยิ่งตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจไปกับเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งความจริงการหาแรงบันดาลใจจากภายนอกหรือ Passive inspiration ก็มีข้อดีของมันเหมือนกันในการมองปัญหาเดิมด้วยมุมใหม่ การคิดนอกกรอบ การเห็นวิถีทางเดินที่หลากหลายของผู้คน
แต่ปัญหา หรือกับดักของคนส่วนใหญ่คือ ไม่สามารถผลักดันแรงขับดังกล่าวให้ไปสู่การลงมือทำได้
เพราะท้ายที่สุดความสำเร็จของคนอื่นมันก็ไม่ใช่ของคุณอยู่ดี เราอาจจะรู้สึกดีเมื่อเสพเรื่องราวพวกนี้จบลงแล้วหลอกตัวเองว่าเรา “ฉลาดขึ้น” ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคุณเริ่มที่จะเอาแนวคิดเหล่านั้นมาปรับใช้กับบริบทของตัวเองแล้วลงมือทำต่างหาก
สมการจึงต้องเปลี่ยนเป็น
Passive motivation –> ความคิด –> การตัดสินใจ –> การลงมือทำ –> ความเปลี่ยนแปลง
***[ขอเวลานอกซักครู่]***
ใครอยากรู้เพิ่มเติมถึงกลไกเบื้องหลังของ “การลงมือทำ” สามารถอ่านได้ในบทความ 3 ชิ้นของผู้เขียนดังต่อไปนี้
1.บนกำแพงบริษัท Facebook เพ้นท์คำขวัญอะไรติดไว้ [Done is better than perfect]: บทความนี้จะอธิบายว่าหลายๆครั้งเราไม่ได้ต้องการแผนการที่ยอดเยี่ยมที่สุด หรือต้องรอเงื่อนไขทุกอย่างให้ถึงพร้อม แต่เราสามารถ “ลงมือทำ” ในทันทีเพื่อเข้าใกล้สู่เป้าหมาย เพื่อรับ feedback จากปัญหาจริงๆ และเพื่อก่อร่างสร้างนิสัยแห่งการลงมือทำไปสู่เป้าหมาย (habit forming)
2.อ่านหนังสือฮาวทูทั้งโลกคุณก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้…ถ้าคุณขาดสิ่งสิ่งเดียว (วิทยาศาสตร์พฤติกรรม 101): ออกค้นหาความหมายในเชิงปรัชญาของการคิดและการลงมือทำ ควบคู่กับคำอธิบายของวิทยาศาสตร์สมอง ว่าทำไมการลงมือทำคือขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ของการพิชิตเป้าหมาย
3.อะไรคือสิ่งที่แยกระหว่าง นักสร้างสรรค์ระดับโลกและคนธรรมดาทั่วไป: ผู้เขียนจะพาไปไปดูว่าการฆ่าไอเดียตัวเองผ่านความสับสนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (idea doubt กับ self doubt) คือสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือประสบความสำเร็จได้เท่าที่ควร
บทความนี้กำลังจะดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย
ตัวอักษรเหล่านี้มีวันสิ้นสุดและกำลังจะจบลง
อีกไม่นานผู้อ่านก็ต้องกด back เพื่อออกจากหน้าเว็บเพ็จนี้ไป
และความจริงก็คือบทความนี้เป็นเพียงหนึ่งใน Passive motivation ที่ผ่านเข้ามาในความรับรู้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งความเปลี่ยนแปลง ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้อ่านได้กลับไปก็อาจสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้
1.เมื่อพบไอเดียดีๆ อย่ารอช้าที่จะลองถามตัวเองว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับตัวเองอย่างไรได้บ้าง คิดไว้เสมอว่าเราเสียเวลามากกันเกินพอแล้วในการหาแรงบันดาลใจจากภายนอก ที่อาจหลงลืมได้ในไม่นาน…ลงมือทำทันทีเพื่อให้แนวคิดเหล่านั้นได้ซึมลึกสู่การปฎิบัติอันจะมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างแท้จริง
2.ไอเดียเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่เหนือกว่ากว่าไอเดีย คือ สิ่งที่ไอเดียสามารถทำได้…หรือการเอาไอเดียไปปฎิบัติจริงเพื่อทดสอบคุณค่าของไอเดียนั้นอย่างแท้จริง (ไอเดียที่ดีต้องใช้งานได้ในสถานการณ์จริง)
3.เราเลือกได้ว่าจะเป็นคนที่นั่งอยู่ริมขอบเวทีความสำเร็จของผู้อื่น หรือเราจะเดินออกจากงานเลี้ยงนั้น แล้วออกมาสร้างเวทีของตัวเอง…จงเป็นผู้สร้างมากกว่าผู้เสพ แล้วพลังของการลงมือทำจะดูแลตัวมันเอง
ลองเปลี่ยน Passive motivation เป็น Active motivation แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
แล้วจะรออะไรครับ…
บทความนี้จบลงแล้วนะ…
แล้วคุณจะทำอะไรต่อกับไอเดียใหม่นี้ล่ะครับ
ก็คงมีแต่คุณที่รู้
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน