Loading

wait a moment

‘The Feynman Technique’ ยอด เทคนิคการเรียนรู้ กรอบความคิดสำหรับการเรียนรู้เรื่องทางโลก ทุกอย่าง

เทคนิคการเรียนรู้

สำหรับบล๊อคในวันนี้เราจะมาแนะนำเทคนิคสุดเจ๋ง (แต่คลาสสิกนะ) ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเทคนิคที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังมากที่สุดเทคนิคหนึ่งในการเรียนรู้เรื่องใดๆ ก็ตามที่เราไม่เก็ท ไม่เข้าใจ หรือคุ้นชินมาก่อนเลย (เช่น หลักการประเมินศักยภาพของดวงดาวที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิต แค่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะครับ)

แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าเทคนิคนี้ค่อนข้างโด่งดังและแพร่หลายมากๆ ในต่างประเทศ เพราะโดยพื้นฐานแล้วเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายมากๆ โดยเมื่อไหร่ที่โอกาสในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อนย่างกรายมาถึง เทคนิคนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างรากฐานความรู้ในเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาจากศูนย์จนกระทั่งเราเก่งพอที่จะอธิบายให้คนอื่นฟังได้เลยทีเดียว แต่ก่อนอื่นที่เราจะนำเสนอตัวเทคนิค มาดูกันถึงที่มาของมันเพื่อความสนุกซักเล็กน้อย

ไฟยน์แมนเทคนิค
ริชาร์ด ไฟยน์แมนทีี่  Robert Treat Paine Estate ในเมือง Waltham รัฐ Massachusetts ปี 1984 (ภาพจาก Wikipedia)

Simple is the best

มีประโยคสุดคลาสสิกที่ว่ากันว่ามาจากไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า

“If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough.”

หรือแปลเป็นไทยว่า “ถ้าคุณเองยังอธิบายมันออกมาแบบเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ แสดงว่าคุณเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้นดีพอ”

ซึ่งแก่นของประโยคนี้ดันไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเทคนิคที่เรากำลังจะพูดถึงนี้มากๆ นั่นคือ ‘The Feynman Technique’ (ออกเสียงว่าไฟยน์แมนเทคนิค) ซึ่งชื่อนั้นมาจากนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ดังมากๆ ในวงการฟิสิกส์สมัยใหม่ ที่ชื่อ ‘Richard Feynman’ (คนนอกวงการอาจจะไม่รู้จัก แต่คนที่สนใจวิทยาศาสตร์จะรู้ดีว่าเขาเป็นคนตลก มีบุคคลิกที่โดดเด่น ฉลาดมากๆ และเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชั้นยอด ) เป็นคนที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นคนที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อนสูงให้ออกมาเข้าใจได้ง่ายด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นภาพหรือการใช้ภาษาที่เรียบง่ายธรรมดาเพื่อความเข้าใจได้อย่างเหลือเชื่อ (ได้รับฉายาว่า ‘The Great Explainer’) ซึ่งต่อมาคุณสมบัติเหล่านี้ก็ตกทอด กรั่นกรองออกมาเป็น ‘ไฟยน์แมนเทคนิคนั่นเอง’

ทำไมเทคนิคนี้ถึงเวิร์ค

เมื่อเราบอกว่าแก่นของเทคนิคนี้คล้ายกับที่ไอสไตน์พูดไว้ เมื่อลองกลับประโยคดูจาก

“ถ้าคุณเองยังอธิบายมันออกมาแบบเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ แสดงว่าคุณเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้นดีพอ”

ก็จะกลายเป็น

“ถ้าคุณอยากจะเข้าใจบางสิ่งบางอย่างให้ถ่องแท้ ก็ลองพยายามอธิบายมันออกมาเป็นภาษาง่ายๆ ดูสิ”

สรุปได้ว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องอะไรใหม่ๆ ด้วยการพยายามอธิบายสิ่งนั้นออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ (จินตนาการว่าเด็กประถมฟังแล้วตามทัน) ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราตรวจสอบตัวเองได้อย่างชัดเจนเลยว่าตรงไหนที่เราสามารถอธิบายได้ดี ไหลลื่น ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล และตรงไหนที่เราอธิบายได้ติดขัด  ไม่ make sense และบางทีอาจถึงกับต้องใช้ศัพท์ทางวิชาการเพราะไม่สามารถหาคำพื้นฐานที่เข้าใจได้ง่ายกว่ามาทดแทน

ลองเขียนอธิบายด้วยภาษาเรียบง่ายแบบนี้ (ภาพจาก College Info Geek)

ช่องโหว่ความรู้อยู่ตรงไหน เทคนิคนี้คือคำตอบ

พอมาถึงตรงนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเทคนิคนี้เรียบง่ายอย่างที่บอกไว้จริงๆ เพียงแค่เราพยายามอธิบายเรื่องที่อยากศึกษาออกมาให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ก็จะช่วยให้เราระบุถึง ‘ช่องโหว่’ ของความรู้ที่รอการเติมเต็ม และหลังจากนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง ก่อนจะเอาความรู้ใหม่มาผสานรวมกับของเดิมเกิดเป็นความเข้าใจที่ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

ยิ่งสอนก็ยิ่งเก่ง

เคยมีรุ่นพี่ของผู้เขียนคนหนึ่งที่เก่งมากๆ ระดับอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยาโอลิมปิกเหรียญทอง, คะแนนสูงสุดของ PAT วิทยาศาสตร์ ซักปีหนึ่ง, เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จุฬา ) เคยบอกไว้ว่า…

“ในแวดวงวิชาการ พี่รู้จักเด็กเก่งๆ มาเยอะ มีหลายคนที่ชอบหวงความรู้เพราะกลัวว่าจะมีคู่แข่งจะเก่งกว่า แต่ท้ายที่สุดคนที่เก่งและประสบความสำเร็จจริงๆ คือคนที่ไม่หวงความรู้ ในทางกลับกัน…คนพวกนี้จะชอบสอน ชอบถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนอื่นๆเพราะยิ่งสอนก็ยิ่งเก่ง แล้วยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมคนเก่งที่แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้แก่กัน”

เชื่อว่าผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงอยากจะลองเอาเทคนิคนี้ไปปฎิบัติกับตัวเองกันซักตั้ง ผู้เขียนเลยแนะนำ guildline ง่ายๆ ในการเอาไฟยน์แมนเทคนิคไปปฏิบัติ

 

วงจรการเรียนรู้ด้วยวิธีไฟยน์แมนเทคนิค (ภาพประกอบจากคลิบวีดีโอ https://bit.ly/2j4Q6zk)

วิธีการใช้ ‘The Feynman Technique’ ฉบับเร่งรัด

Step 1:  ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าคุณต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร และเขียนมันไว้บนหัวกระดาษให้ชัดเจน

โดยเรื่องที่อยากจะเรียนรู้ขึ้นอยู่กับเราเลยว่าจะเป็นเรื่องอะไร ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์เท่านั้น (เช่น ความแตกต่างระหว่างของการลงทุนในทองคำกับหุ้น)

 

Step 2: เขียนอธิบาย concept เรื่องดังกล่าวเหมือนกับว่าเรากำลังอธิบายให้ใครซักคนฟัง

ใช้คำพูดที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และอย่าหยุดตัวเองอยู่แค่การอธิบายเพียงเบสิกพื้นฐานหรือหลักการทั่วไป คุณสามารถเพิ่มความท้าทายให้กับขั้นตอนนี้ด้วยการอธิบายตัวอย่างด้วยสถานการณ์จริงเพื่อทดสอบว่าคุณได้เข้าใจหลักการนั้นจริงๆ

และตลอดเวลาที่กำลัง ‘สอนอยู่นั้น’ ให้จินตนาการว่าเรากำลังสอนเรื่องดังกล่าวให้กับเด็กน้อยที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเรื่องนั้นมาก่อนเลย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเข้าใจของเราลึกลงไปถึงระดับรากฐานจริงๆ เพราะถ้าเราคิดว่าเป็นการสอนให้ผู้ใหญ่จะทำให้อาจจะใช้ศัพท์ยากๆ ที่อาจมาปกปิดความเข้าใจที่เรามีต่อเรื่องนั้นด้วยการแทนที่ด้วยคำศัพท์สวยหรู

 

Step 3: หยุดเพื่อตรวจสอบ ระบุช่องว่างทางความรู้ที่เราต้องหามาอุดเพิ่ม

ลองดูโดยภาพรวมซิว่า สิ่งที่เราเขียนอธิบายไปนั้นมีส่วนไหนที่ดูติดขัด ไม่เป็นเหตุเป็นผล ฟังเข้าใจยาก หรือต้องใช้ศัพท์เทคนิคอลังการงานสร้างที่คนทั่วไปต้องงง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าส่วนนั้นคือส่วนที่เราเข้าใจได้ไม่ดีพอนั่นเอง

หลังจากนั้นก็แค่ไปศึกษาเพิ่มเติมในหัวเรื่องย่อยเหล่านั้นก่อนกลับมาเติมรูโหว่ดั้งเดิมให้เต็มและสมบูรณ์

เทคนิคเพิ่มเติม

นอกจากเราจะจินตนาการว่านักเรียนของเราคือเด็กน้อยแล้ว เรายังสามารถที่จะหยิบยืมความขี้สงสัยแบบเด็กๆ มาใช้เพื่อขยายขอบเขตของเรื่องที่เราศึกษาได้อีกด้วย และคำถามที่ขึ้นต้นด้วย ‘ทำไม’ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น ทำไมดาวเคราะห์ที่มีน้ำถึงมีศักยภาพที่จะพบสิ่งมีชีวิตได้มากกว่า , จำเป็นไหมว่าต้องเป็นธาตุคาร์บอนที่จะเป็นแกนหลักของสารองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต (นั่นคือการถามด้วยวิธี ‘what if’ หรือ ถ้าไม่เป็นแบบนั้น จะเป็นแบบอื่นได้อีกไหม เพราะอะไรไม่เป็นแบบนั้น ทำไมไม่เป็นแบบนี้ เป็นต้น)

 

Step 4: จงคืนความรู้สู่สังคม ด้วยการอธิบายให้กับคนตัวเป็นๆ

สำหรับข้อนี้เป็นส่วนเสริมในทัศนะของผู้เขียนเอง ไม่ได้มีอยู่ในหลักการดั้งเดิม ทว่าการถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสู้ผู้อื่น เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากขึ้นในปัจจุบันผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทาง social media เช่น youtube หรือ blog (เหมือนบทความนี้ที่ผู้เขียนทำอยู่) หรือการอธิบายในชั้นเรียนที่เห็นหน้าตัวเป็น หรืออาจจะเป็นแค่การเล่า แชร์ให้กับเพื่อนฟัง

 

ซึ่งจะเปิดโอกาสที่ได้รับประโยชน์ในสามทางคือ หนึ่ง ได้รับ feedback ในรูปแบบของคำถามได้ทันที รวดเร็ว และอาจเป็นจุดที่เราคิดไม่ถึงมาก่อน สอง เป็นการสร้างผู้ติดตาม ในกรณีที่เราชอบหรือสนใจเรื่องนั้นมากๆ การเผยแพร่ content เหล่านั้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นซึ่งอาจติดตามมาเป็นอาชีพหรือรายได้ สาม สร้าง ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะเราจะมีเก่งขึ้นใน topic นั้นๆ อย่างช่วยไม่ได้และสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นในสิ่งที่เรารักและสนใจ

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน