Loading

wait a moment

Buffett’s two-list strategy: หนึ่งในวิธีการบริหารเวลาที่ดีที่สุดในโลก

“หนังสือดีๆ บนโลกนี้มีมากมายให้อ่านเกินกว่าเวลาชีวิตอันแสนสั้นของพวกเรา”
– Frank Zappa –

 

ถ้าเพื่อนๆนักอ่านรู้สึกว่ามีเวลาเท่าไหร่ก็ไม่พอ อีกหนึ่งยอดวิธีบริหารเวลาจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์นักลงทุนมือหนึ่งของโลกผู้เป็นหนอนหนังสือตัวฉกาจและมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลกอาจช่วยคุณได้

ด้วยเทคนิคที่มีชื่อว่า Buffett’s two-list strategy
===

ถ้าเหมือนคนทั่วๆไป คุณคงคิดใช่ไหมครับว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ คนที่รวยและมีชื่อเสียงระดับโลกจะต้องมีหลักการคิดที่ละเอียดซับซ้อนมากๆ
และพวกเราก็คงทำได้แค่นั่งมองตาปริบๆ แล้วคิดกับตัวเองว่า

 

ก็คงดีนะ ถ้าเราจะทำแบบนั้นได้บ้าง

แต่สำหรับวันนี้ผมมีแนวคิดหนึ่งที่ฟังดูเรียบง่ายมากๆ มันง่ายเสียจนเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้

 

เราอาจเกิดมามีต้นทุนชีวิตที่แตกต่าง
เข้าถึงโอกาสได้ไม่เท่าเทียมกัน
แต่หลักการข้อนี้กำลังบอกเราว่า นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะ “ใช้สิ่งที่เรามี” อย่างชาญฉลาดที่สุด อย่างตั้งใจที่สุด อย่างมีสมาธิที่สุด

 

และโชคดีที่สิ่งนั้นเรามีเท่าเทียมกันทุกคนวันละ 24 ชั่วโมง…สิ่งนั้นคือเวลาและพลังงานชีวิตที่เราจะใส่ลงไปในการทำสิ่งต่างๆในแต่ละวัน

 

หลักการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ข้อนี้มีชื่อว่า
Buffett’s two-list strategy: หลักการกลยุทธ์สองลิสต์…ชื่อดูเป็นระบบตัวเลข แต่จริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่เขาเคยเอาไปใช้แนะนำคนใกล้ตัวให้ลองทำจริงๆเสียด้วย

 

 

ครั้งหนึ่ง Mike Flint คนขับเครื่องบินส่วนตัวผู้ใกล้ชิดที่ทำงานกับบัฟเฟตต์มายาวนานถึงสิบปีเคยมาขอคำปรึกษาจากเขา

“หัวหน้าครับ งานผมก็เยอะแยะไปหมด เป้าหมายที่อยากทำในชีวิตก็หลากหลาย จะมีวิธีการในการรับมือกับการงานเหล่านี้อย่างไรดีครับ”

 

จะว่าไป…นี่เป็น “ความท้าทาย” ร่วมสมัยของคนยุคดิจิตอลอย่างพวกเราจริงๆ เรามีเทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยให้เราทำงานได้มากขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา แต่มันกลับทำให้พวกเราส่วนใหญ่สับสน งุนงง จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเราควรจะทำอะไรกันแน่

 

ในหนังสือพัฒนาตนเองเล่มตำนานที่ชื่อ The 7 Habits of Highly Effective People ที่เขียนโดย Stephen Covey ถึงกับระบุอุปนิสัย(habit)ข้อนี้เป็นข้อแรก !!!เสียด้วยซ้ำ…นั้นก็คือ Be proactive…

 

มันคือการที่เราเปลี่ยนจากการเลื่อนไหลตามสภาพแวดล้อมภายนอกหรือสภาพอารมณ์ของเราในตอนนั้นๆ มาเป็น “การหยุด” และ “ตั้งคำถาม” ว่าอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญ จากนั้นจึง “ลงมือทำ” เพื่อปรับเปลี่ยนมันไปในทิศทางที่ต้องการ

 

จากผู้ที่ถูกควบคุมไปเป็นผู้คุม
จากผู้ถูกเลือกไปเป็นคนเลือก

 

ซึ่งคุณสมบัตินี้กลับยิ่งทวีความสำคัญในโลกในปัจจุบันที่มีสิ่งให้เราเลือกเสพ เลือกอ่าน เลือกฟังได้ตลอดเวลา

 

แรงบันดาลใจมีอยู่รอบตัว
แต่การลงมือทำก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ!!!
แต่ปัญหาคือ มันเยอะแยะมากมายจนไม่รู้ว่าจะ “โฟกัส”
ทำอะไรก่อนดี

 

นั่นจึงเป็นที่มาของหลักการที่เขากำลังแนะนำลูกน้องผู้ใกล้ชิดของเขา…และคุณผู้อ่านสามารถนำไปปฎิบัติตามได้เช่นกัน
.
1.เขียนเป้าหมายทางการงานที่อยากทำออกมา 25 อย่างในปีนี้ เดือนนี้ ระดมความคิดออกมารัวๆ ข้อนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพกว้างๆว่าความต้องการของเราคืออะไร
.
2.ขั้นนี้สำคัญที่สุด: มันคือการถามว่า 5 สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณคือข้อไหน …กรอบความคิดแบบนี้จะช่วยเพิ่มความแหลมคมให้พลังโฟกัสของคุณ
.
3.ยินดีด้วย คุณเพิ่งสร้าง Buffett’s two-list strategy ได้สำเร็จแล้ว

 

แต่ข่าวร้ายก็คือ…ขั้นตอนเหล่านี้ใครๆ ก็สามารถทำได้ไม่ยากหากผ่านประสบการณ์ในการทำงานใช้ชีวิตมาซักพักจนรู้จักตนเองดีพอในระดับหนึ่ง

 

ความยากที่แท้จริงตามมาหลังจากนี้….
Flint บอกหัวหน้าของตัวเองว่า
“เดี๋ยวผมจะเริ่มต้นทำงานเพื่อสานต่องานในลิสต์ A ห้าข้อนั้นทันทีเลย…ส่วนลิสต์ B 20 ข้อที่เหลือจะหาเวลาทำมันหากพอจะมีเวลาเช่นกันเพราะมันก็มีความสำคัญกับผมเช่นกัน…ถึงจะไม่เร่งรีบเท่าไหร่ แต่ผมก็มีแผนที่จะลงทุนลงแรงกับมันอย่างแน่นอน”

 

มีการวางแผน มีความทุ่มเทที่จะลงมือทำ
ฟังดูดีใช่ไหมครับ ???

 

ทว่าพูดยังไม่ทันจบประโยคดีบัฟเฟตต์ก็ตอบกลับทันทีว่า

 

“ไม่เลย ไม่ใช่อย่างนั้นเลยไมค์ เป้าหมายทุกข้อที่คุณไม่ได้วงเอาไว้จะต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘หลีกเลี่ยงที่จะทำมันในทุกวิถีทาง(Avoid-At-All-Cost list.)’ ไม่ว่าอย่างไรคุณจะต้องไม่ยอมให้เป้าหมายใน 20 ข้อนั้นมาแย่งความสนใจไปจากคุณหากว่า เป้าหมาย 5 ข้อที่สำคัญที่สุดที่วงไว้ยังไม่สำเร็จ”

 

นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ตกหลุมพราง
และนี่คือพลังของการโฟกัสที่บัฟเฟตต์เข้าใจ

 

จะให้งอกมืออีกกี่อันก็ยังงอกเร็วไม่เท่ากับงาน : งานงอก

 

หนึ่งในแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากทางฝั่งเศรษฐศาสตร์แต่ถูกยักย้ายมาในโลกบริหารธุรกิจและถูกต่อยอดในแวดวงจิตวิทยาพัฒนาตนเองก็คือ 80/20 rule หรือภาษาบ้านๆ เข้าใจได้ง่ายๆว่า “less is more ทำน้อยให้ได้มาก” นั่นเอง

 

คนที่รวยมากที่สุด 20% ของประเทศ
ถือครองทรัพย์สินมากถึง 80% ของทรัพยากรทั้งหมดในประเทศ

 

Campaign ทางการตลาดเพียง 20%
กลับส่งผลในเกิดการซื้อขายมากกว่า 80%

 

Products ที่เปิดตัวเพียง 20% กลับสร้างยอดขายให้บริษัทมากถึง 80%

 

อัตราส่วนของตัวเลขอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานการณ์แต่ใจความสำคัญของมันจริงๆ ก็คือ “Nothing is created equal” หรือความจริงอันเแสนเรียบง่ายว่าที่ว่าทุกสิ่งอย่างที่เราลงทุน ลงแรง ลงเวลา เสียเหงื่อไปกับมัน ไม่ได้ให้ผลลัพธ์เท่ากัน

 

เราจึงควรที่จะโฟกัสพลังชีวิตของเราไปกับสิ่งที่สำคัญที่สุด…ซึ่งที่น่าตลกคือในแต่ละจังหวะเวลาในช่วงชีวิต มันมีอยู่ไม่กี่อย่างหรอก

 

หน้าที่ของเราคือการหาสิ่งนั้นให้พบ
วงกลมตัวแดงให้ถูกชิ้นงาน
จัดกลุ่ม List A ให้มีคุณภาพ

 

มันง่ายที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่สำคัญ นิสัยที่ไม่โอเค ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษออกจากชีวิต
แต่ก็อย่างที่บัฟเฟตต์บอกแหละว่า…แค่นั้นยังไม่เพียงพอ

 

มันยากที่จะตัดสิ่งที่เราสนใจหรือเห็นความสำคัญออกไป…นี่คือส่วนที่ยาก…และอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่แยกคนที่ประสบความสำเร็จกลางๆแบบค่าเฉลี่ยที่อยากจะทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด ออกจากคนอย่างบัฟเฟตต์ที่กลายเป็นตำนานของนักลงทุนผู้มีหลักคิดเฉียบคมที่สุดบนโลก

 

ไม่แน่บางที…
การ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” แต่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สำคัญ
อาจไม่สู้ “ทำบางสิ่งให้ดีที่สุด” ที่จะให้ผลลัพธ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

แล้วผู้อ่านล่ะครับ
ตัดสินใจได้หรือยังว่าจะวงตัวเลือกไหนจากทั้งหมด 25 ตัวเลือกที่เขียนลงไป ????

.
ปล.ถ้าสนใจแนวคิดของบัฟเฟตต์ผมแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่ซีเอ็ดเป็นคนจัดพิมพ์เองซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดและคำพูดจากปากคำของคุณปู่แบบคำต่อคำเลยทีเดียว หนังสือชื่อ “เมื่อปู่พูด โลกต้องฟัง คมวาทะ วอร์เรน บัฟเฟตต์” ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://bit.ly/2NC8rTO

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน