อ่านเยอะแปลว่าดี ? เป้าหมายการอ่านที่นอกเหนือจากคำว่า “จำนวน”

จำเป็นไหมที่เป้าหมายในการอ่านต้องเป็น “จำนวน”
อ่านหนังสือเยอะๆแล้วจะดี ใครก็พูดอย่างนั้น นั่นทำให้หลายๆ คนตั้งเป้าหมายในการอ่านคล้ายๆ กันไปหมด

 

ปีนี้จะอ่านหนังสือให้ได้ 20 เล่ม
จะอ่านหนังสืออาทิตย์ละอย่างน้อย 1 เล่ม

 

ซึ่งนับได้ว่ามีหลายคนทีเดียวที่ตั้งปณิธานปีใหม่ (new years resolution ) ในลักษณะนี้

 

=====
อ่านเยอะๆแล้วจะดี…จริงหรือ???
=====

 

สำหรับคนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ คงจะรู้ว่าหนึ่งในการเพิ่มความ creative ในหัวคือการเสพข้อมูลหรือรับ input มากมายจากหลายแหล่ง เช่น หากคุณเป็น graphic designer ก็อาจจะใช้เวลาในการดูงานออกแบบกราฟฟิกของศิลปินชั้นนำระดับโลก เพื่อให้เรามีคลังของข้อมูลในหัวที่สามารถดึงมาประยุกต์ใช้ได้ในตอนที่จะออกแบบงานใหม่ของตนเอง

 

กับการอ่านก็เช่นกัน

 

นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมคนที่อยากพัฒนาตัวเองมักจะมีภาพว่าการอ่านหนังสือเชื่อมโยงกับคนที่มีความรู้ ความคิด และจินตนาการที่ดี ซึ่งก็ไม่ผิดจากความจริงเท่าไหร่

 

แต่วันนี้เราจะมาชวนคิดกันว่าจำเป็นไหมที่ “จำนวน” จะเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปในการตั้งเป้าหมายการอ่าน
ลองเอา tip การอ่านเหล่านี้ไปลองใช้ดูได้นะครับ

=====
อ่านเพื่อปรับอารมณ์
=====

 

ในค่ำคืนที่เปลี่ยวเหงา หลังจากเหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานหรือการเรียนตลอดวัน หลายครั้งเราอาจรู้สึกรู้สึกดาวน์หม่นปนเศร้าจนรู้สึกว่าโลกมันมืดมนไปหมด แต่เชื่อไหมว่าหนังสือดีๆซักเล่มสามารถทำให้หนึ่งชั่วโมงถัดมาเราสามารถเปลี่ยนความรู้สึกไปได้เลย

 

จากบทความก่อนหน้าที่เราพูดถึงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการอ่านและการทำงานของสมอง  องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กำลังยืนยันความเชื่อที่เราอาจรู้ดีกันอยู่แล้วนั่นคือ

 

หนังสือคือโลกใบใหม่ที่เปิดกว้างรอนักอ่าน…

 

สมองของเรารับรู้เรื่องราวในหนังสือในลักษณะการจำลองตัวอักษรเป็นภาพให้เกิดขึ้นในหัว หากหนังสือกำลังเล่าว่าแฮรี่ พอตเตอร์และผองเพื่อนกำลังวิ่งหนีผู้คุมวิญญาณ สมองส่วน Central Sulcus ซึ่งปกติมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัวของเรากลับถูกกระตุ้นไปด้วย…นั่นหมายความว่าในขณะที่เราอ่าน เราไม่เพียงแต่รับรู้เรื่องราวเท่านั้น แต่เรายังเหมือนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ

 

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆในชีวิต
อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งชั่วคราวที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไป

 

ในวันที่หม่นเศร้า
เพียงหยิบหนังสือซักเล่มบนหัวเตียงมาอ่าน
เปิดเพลงคลอเบาๆ แล้วจมจ่อมหลอมรวมไปกับเรื่องราวในโลกอีกใบ

 

มีหนังสือเป็นล้านเล่มบนโลก…
คุณอยากรู้สึกแบบไหน ก็ออกแบบเอาเลยสิครับ
เพียงแค่เปิดหน้าแรก โลกของคุณก็จะไม่เหมือนเดิม

 

======
อ่านเพื่อทบทวนตัวเอง [จำเป็นไหมที่ต้องอ่านเยอะ อ่านซ้ำเล่มเดิมได้ไหม]
======

 

นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณนาม Heraclitus เคยกล่าววลีที่ชวนขบคิดที่ว่า

 

“You Cannot Step Into the Same River Twice.”
“คุณไม่สามารถก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้ถึงสองครั้ง”

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

ถึงแม้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะยังคงเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
ทุกครั้งที่เราเดินไปที่ท่าเรือด่วนเจ้าพระยามันก็ยังคงเป็นสถานที่เดิม
แต่ถ้าเราคิดให้ดีเราจะพบว่าสายน้ำที่ไหนวันนี้ก็เป็นมวลน้ำคนละมวล
อากาศ แสงแดด สายลมของวันนี้ก็แตกต่างออกไป

 

ทุกสิ่งล้วนผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

 

เช่นเดียวกับชีวิตของเราที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดูกาล
ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาได้หล่อหลอมให้ตัวตนของเราได้เปลี่ยนไปทีละนิด

 

ทำไมบทละคร ภาพยนต์ หนังสือ ถึงสามารถทำให้เราสัมผัสกับความรู้สึกที่หลากหลายนัก ทำไมเราถึงสามารถร้องไห้ หัวเราะ ปวดร้าว สุขสันต์ไปกับมันได้แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ใช่เรื่องจริง

 

หากเราไม่สามารถก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้ถึงสองครั้ง
เราก็ไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มเดิมได้สองครั้งเช่นกัน

 

แท้จริงแล้วหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะวรรณกรรม นิยาย หรือที่เราเรียกว่า Fiction ก็ทำหน้าที่คล้ายกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นความรู้สึกของตัวเอง

 

ทุกครั้งที่ตัวละครเอกต้องเจอสถานกาณ์ที่ต้องตัดสินใจบนทางสองแพร่งอันจะเป็นจุดที่พลิกพล๊อตเรื่องไปตลอดกาล มันทำให้เราย้อนกลับมาสำรวจตรวจสอบตัวเองในแง่มุมที่ลึกที่สุดในชีวิต

 

ถ้าเป็นตัวเราเองจะทำอย่างไร?
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่โฟรโด แบ๊กกิ้นส์กำลังหย่อนแหวนแห่งอำนาจลงไปบนปากปล่องไฟแห่งมอดอร์ จะจบเรื่องราวทุกอย่างหรือเก็บแหวนไว้เป็นของตนเอง

 

แน่ล่ะ!
การหยิบหนังสือเล่มเดิมมาอ่านซ้ำอาจไม่ได้ทำให้ยอดจำนวนเล่มการอ่านรายปีของคุณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ทว่าตัวตนที่ผ่านเรื่องราวและเติบโตไม่เคยจะตีความหมายของหนังสือเล่มเก่าได้เหมือนเดิม

 

เราเติบโตขึ้นด้วยมุมมองที่มีต่อชีวิตและโลกที่เปลี่ยนไป
และหนังสือเล่มเก่านั้นเองที่จะช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้กับเรา

 

“ฉันสงสัยว่า ถ้ากลับไปอ่าน ความสุขของกะทิอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 …เราจะเห็นอะไรที่ต่างไปจากเดิมไหม…เพราะชีวิตเปลี่ยนไปมากทีเดียวในสองปีหลังมานี้”

 

นี่คือประโยคที่ผมเขียนบันทึกเก็บไว้เมื่อเช้านี้
แล้วของเพื่อนๆล่ะครับมีเล่มไหนบ้าง

 

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน