เครดิทภาพจาก johnnyjonjon
ความในใจของเป็ด
คุณคิดว่าคุณเป็นคนเก่งไหมครับ?
และคิดว่าสิ่งที่คุณคิดว่าคุณเก่งติดหนึ่งในร้อยเลยไหมเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ?
หรือใครคิดว่าตัวเองทำได้หลายอย่าง แต่ไม่ถึงกับเรียกได้ว่าเก่งซักอย่าง?
ผมคิดว่าผมเองเป็นหนึ่งในนั้นครับ และก็เชื่อว่ามีใครหลายๆ คนรู้สึกอย่างนั้น
แล้วถ้าคุณคิดว่าถ้าคุณไม่ได้เก่งอย่างใดอย่างนึงมากๆ คุณจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไหม?
จะตอบคำถามนี้ได้…ย้องย้อนกลับไปในสมัยที่ผมเริ่มต้นทำงานตอนแรกๆ
2 ปีก่อน
“สวัสดีครับน้อง นั่งบนโต๊ก่อนครับ” ชายหนุ่มหน้าใสที่ดูเด็กกว่าวัยทักทายผมในร้านอาหารฟูจิ
ใช่ครับ, มันคือการสัมภาษณ์งานครั้งหนึ่งที่อินดี้ที่สุดในชีวิตผมเลย
“ช่วงนี้พี่ยุ่งๆ ก็เลยอยากจะหาเพื่อนรวมทีมที่มีพื้นฐานความรู้แข็งแกร่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ”
ก่อนประโยคเหล่านี้จะเกิดขึ้น…มันเริ่มจากการที่ผมตัดสินใจส่งใบสมัครงานไปยังตำแหน่ง Content researcher ในบริษัทที่เพิ่งมารู้ที่หลังว่าเป็น SMEs ที่ lean แต่ประสิทธิภาพสูงมากๆ
หากใครที่เป็นคนรักสุขภาพ สนใจการกินคลีนคงจะรู้จักกับ เพจ Jone Salad ที่ปัจจุบันยอดไลค์เฉียดล้าน (เก้าแสนแปดหมื่นกว่าๆ) ที่่ทำการ์ตูน
และเรื่องมันคงจะไม่มีอะไรมากถ้าผมไม่มารู้ที่หลังว่า พี่คนที่สัมภาษณ์และคนที่ทำ content การ์ตูนสุขภาพที่แต่ละโพสมียอดไลค์ ยอดแชร์มหาศาลนั้น ไม่มีใครซักคนเป็นแพทย์ หรือแม้กระทั่งจบสายสุขภาพ
“พี่จบคณะเศรษฐศาสตร์มาครับ” ประโยคที่ทำให้ผมอึ้งหลุดออกมาจากปากผู้สัมภาษณ์
ทุกวันนี้แม้ทีมผลิต content คุณภาพเหล่านี้จะเริ่มเติบโตจนมีทีมงานหลายชีวิต
แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า “ความสำเร็จ” ที่น่าแปลกประหลาดนี้มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง
เราจำเป็นไหมที่ต้องเก่งที่สุดในสาขานั้นๆ ถึงจะประสบความสำเร็จได้ ?
แน่นอนว่าสำหรับบางสาขาอาชีพอย่างนักกีฬาหรือนักดนตรี performance ในระดับที่สุดยอดเท่านั้นที่จะทำให้คุณโดดเด่นและอยู่รอดได้ในสาขาอาชีพ หรืออย่างกรณีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่รู้ลึกรู้จริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ แล้วเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเหล่านั้นให้เป็นคุณค่าที่งอกเงยขึ้นมาได้อย่างประสบการณ์ตรงที่อาจารย์ที่ภาคชีววิทยาของผมคนหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับหอยทากอันดับหนึ่งของไทย ก็สามารถต่อยอดงานวิจัยจนสามารถพัฒนาเซรัมที่ผลิตจากเมือกหอยทากได้
นี่คือตัวอย่างของคนที่ประสบความสเร็จในการเป็นผู้เชี่ยวชาญ (specialist)
ทว่าอีกด้านหนึ่งของลูกตุ้มนาฬิกาก็มีคนอีกสายพันธุ์หนึ่งที่อาจไม่ได้เก่งมากๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แต่สามารถนำความสามารถที่หลากหลายมาต่อยอดจนสร้างสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงได้
ศาสดาแห่งเป็ด
คุณรู้ไหมครับว่ามีคนที่ประสบความสำเร็จมากมายในประวัติศาสตร์เป็นคนจำพวกนี้…
Leonardo Da Vinci ผู้เป็นตัวแทนของอัจฉริยภาพยุคเรอเนสซองซ์,
Thomas Edison นักประดิษฐ์หัวก้าวหน้าผู้คิดค้นหลอดไฟ
Elon Musk ผู้มีฝันส่งคนไปดาวอังคาร ปฎิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ และก่อตั้งบริษัทเชื่อมสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์
Steve Jobs ศาสดาผู้ล่วงลับแห่งอาณาจักร Apple ที่ปฎวัติประสบการณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและ smartphone ที่ทุกท่านจ้องอยู่เพื่อใช้อ่านบทความนี้
สิ่งที่เหมือนกันของคนกลุ่มนี้คือพวกเขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ ดูอย่าง Steve Jobs ที่หลายๆ คนมองว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งเทคโนโลยี แต่พอเอาเข้าจริง
- สตีฟไม่ได้เป็น programmer ที่เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ได้เก่งกาจที่สุด แต่ Apple ก็เลือกจ้างวิศวะคอมที่เก่งที่สุดมาร่วมงานด้วยอยู่ดี
- สตีฟไม่ได้เป็นนักออกแบบที่เก่งกาจหลุดโลกแต่อย่างใดเบื้องหลังเครื่อง MacBook ที่สวยงามเรียบง่ายอย่างที่เห็นจริงแล้วเป็นผลงานของบริษัทดีไซน์เนอร์ Frog Design Inc. ที่มี Hartmut Esslinger เป็นหัวจั่ว คนเบื้องหลัง ที่ร่วมหัวจมท้ายกับสตีฟมาโดยตลอด
- สตีฟไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคนิคการช่างอย่างเชี่ยวชาญ…หากใครเคยดูหนังชีวประวัติเรื่อง Jobs ปี 2013 คงจะเข้าใจที่มีฉากหนึ่งในขณะที่กำลังพยายามแก้ไขแผงวงจรต้นแบบ Mac สตีฟถึงกับต้องโทรเรียกเพื่อนสนิท Steve Wozniak มาช่วยเลยทีเดียว
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้สตีฟก้าวขึ้นมาเป็นไอคอนของนวัตกรระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงวิถีของชีวิตผู้คนนับล้าน
ในขณะที่ผมกำลังพยายามไขความลับของบรรดาคนพิเศษเหล่านี้ก็ได้ไปเจอกับศัพท์คำหนึ่งที่มีชื่อว่า Polymath ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายคนที่เก่งหลายด้าน แต่ไม่ได้เป็นที่สุดเลยซักด้าน หรือที่ภาษาไทยเราเรียกว่า “เป็ด” ซึ่งหากเราลองขุดลึกลงไปอีกซักนิดก็จะพบว่าในต่างช่วงเวลา ต่างวัฒนธรรม ก็มีคำกล่าวถึง concept ของความเป็นเป็ดน้อยผู้ไม่ได้เรื่องเต็มไปหมดอย่าง…
อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่าเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล หรือ Jack of all trades, master of none
ก่อร่างสร้างเอกลักษณ์เป็ด
ล่าสุดผมไปบังเอิญเจอบทความหนึ่งที่มีชื่อเรียบง่าย สั้นๆว่า “Career Advice” ในเว็บไซต์ของนักเขียนการ์ตูนเชิงเสียดสีระดับโลกชาวอเมริกันชื่อ ‘Scott Adams’ ซึ่งได้มอบกรอบความคิดสำหรับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นเป็ดได้อย่างเฉียบขาดมากๆ
อดัมได้เสนอไว้อย่างเรียบง่ายว่ามี 2 วิธีที่เราจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมหาศาล
1.เป็นที่หนึ่ง เป็นสุดยอด เป็นปรมาจารย์ด้านใดด้านหนึ่งไปเลย
2.ฝึกฝนให้ตัวเองเก่งในระดับ top 25% ในด้านที่แตกต่างกันสองสามอย่าง
ผู้อ่านลองจินตนาการตามถึงการฝึกตัวเองให้เป็นนักว่ายน้ำระดับโลกดูสิครับ
นอกจากจะต้องเกิดมาโชคดีมีพันธุกรรมที่เอื้อต่อการแหวกว่าย มีหุ่นนักว่ายน้ำ แขนและลำตัวยาว ช่วงล่างที่สั้น มีฝ่ามือที่ใหญ่เป็นใบพาย อีกทั้งการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลาหลายปี…
จากการที่เคยศึกษาประวัติของ Michael Phelps เจ้าของสถิตินักว่ายน้ำผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกรวมกันมากที่สุดตลอดกาลทำให้รู้ว่าเขาเริ่มฝึกมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พลาดเหรียญโอลิมปิกแรกที่ Sydney Olympics ในปี 2000 ในขณะที่มีอายุ 15 ปี ก่อนที่หลังจากนั้นที่เขาเริ่มจะกวาดรางวัลแห่งความสำเร็จจนกระทั่งเป็นฉลามโอลิมปิกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
เฟ็ลปส์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องกินอาหารมากถึงวันละ 12,000 กิโลแคลลอรี่ต่อวันเพื่อรองรับการฝึกอย่างหนักที่ไม่หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ที่โดยปกติแล้วจะเป็นวันพักร่างกายของนักว่ายน้ำทั่วไป
กลยุทธ์ที่ 1: เป็นที่หนึ่ง
และนี่เป็นที่มาของกลยุทธ์ในข้อหนึ่งที่อดัมแนะนำไปว่าถ้าเลือกข้อนี้แล้วก็ต้องไปให้สุดถึงจะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งข้อนี้เฟ็ลปส์คงเข้าใจในความหมายดี ผมลองวิเคราห์ต่อก็พอจะเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ทางเดินของกลยุทธ์แรกมักเป็นเส้นทางที่มีคนเดินถางทางไว้มากมายแล้ว เป็นเส้นทางที่ทุกคนรู้จักดีจึงทำให้มีคู่แข่งเยอะ ถ้าเราไม่โดดเด่นจริงๆ ก็อาจจะถูกกลืนหายไป…มันจึงไม่ใช่หนทางที่ง่ายอย่างที่คิด
นั่นทำให้เรามาถึงกลยุทธ์ข้อที่สอง
กลยุทธ์ที่ 2: วิถีแห่งเป็ด
อดัมบอกเราว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และแนะนำให้เราทดลองแนวทางที่สองซึ่งมีความเป็นไปได้สูงกว่า และทำได้ง่ายกว่ากันเยอะ นั่นคือแนะนำให้เราขุดลึกลงไปในความเป็นเป็ดของเราแล้วถามตัวเองว่า ในบรรดาความสนใจที่หลากหลาย ในบรรดาทักษะที่เรารักเราชอบและทำซึ่งมีอยู่มากมายนั้น มีข้อไหนที่เราทำได้ค่อนข้างดี หรืออย่างน้อยก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นจนถือว่าเราเก่งในระดับท๊อป 25% ของคนส่วนใหญ่ได้
โดยอดัมได้ยกตัวอย่างโดยใช้ของชีวิตของตัวเองว่า
- ตัวเขาเองถ้าให้ไปแข่งกับนักวาดการตูนคนอื่นๆ ก็คงไม่มีทางสู้ได้ แต่เขาก็รู้ตัวว่าฝีมือการวาดของเขาก็พอใช้ได้และสามารถฝึกให้ดีขึ้นได้
- ในขณะที่ถ้าให้เขาไปพูดตลกเดี่ยวไมโครโฟนก็ไม่ได้เทพขนาดที่จะยึดเป็นอาชีพได้ แต่ถ้าเทียบกับคนทั่วไปเขาก็ถือว่าเป็นคนที่มีอารมณ์ขันร้ายกาจพอตัวเลยทีเดียว
- เมื่อผนวกรวมกับการที่เข้ามีปูมหลังที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ และต่อโทบริหารธุรกิจ(MBA) ทำให้เขารู้วิธีการทำการตลาดเพื่อโปรโมท content การ์ตูนที่เขาวาดขึ้นมา
และนั่นคือโมเดลที่เขาใช้อธิบายความสำเร็จของตัวเขาเองและแนะนำให้เราลองใช้ดู
จงหลอมรวมจุดแข็งของตัวเองแล้วสร้างคุณค่าใหม่ที่แตกต่างและมีความหมายอย่างแท้จริงมันง่ายกว่ากันมากที่คุณจะฝึกฝนตัวเองให้เก่งพอในระดับหนึ่งในทักษะที่แตกต่างหลากหลายแล้วถามตัวเองว่าจากสิ่งที่ฉันมีอยู่ตอนนี้มันสามารถประกอบกลายเป็นอะไรบ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์…
อย่าลืมว่านี่คือหนทางแห่งการสร้างตัวตนใหม่ คุณไม่ได้กำลังก้าวไปในหนทางที่มีคนแผ้วถางทางไว้เตียนโล่งอยู่แล้ว การเอาชนะความกลัว คือสิ่งที่จำเป็นในการมุ่งไปสู่หนทางที่อาจไม่ได้เหมือนใคร
ย้อนกลับไปเมื่อต้นบทความ…มีกลุ่มคนรุ่นใหม่มากมายว่าใบปริญญาและการเดินตามเส้นทางสำเร็จรูปในอดีตอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป คุณสามารถทำให้ตัวคุณกลายเป็นส่วนผสมสุดแปลกที่หากที่ใครจะลอกเลียน การสร้างเอกลักษณ์
ใช่, เด็กหนุ่มที่โตกว่าผมไม่กี่ปีที่สัมภาษณ์ผมเข้าทำงาน Jones Salad อาจไม่ได้วาดการ์ตูนเก่งที่สุด ไม่ได้เขียน storyboard ได้ดีติดระดับประเทศ หรือไม่ได้มีความรู้ด้านสุขภาพเท่ากับแพทย์ที่จบมาสายตรง แต่อย่างน้อยเขาก็มี 2-3 อย่างที่เขารู้ดีว่าทำได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่และใช้ความคิดสร้างสรรค์มาประกอบกันเพื่อสร้างสิ่งที่คนเชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ด้านเดียว…ไม่สามารถทำได้
สุดท้ายแน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะตัดสินได้อย่างตรงๆ ว่ากลยุทธ์ไหนดีกว่ากัน แต่เราสามารถที่จะสำรวจเข้าไปในตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน มีเงื่อนไขชีวิต และสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร บางคนอาจจะเหมาะกับสายผู้เชี่ยวชาญไปเลย หรือบางคนอาจจะรักในความอิสระที่จะเชื่อมโยงเอาจุดแข็งต่างๆ ของตัวเองเพื่อสร้างในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนใช้เวลาในการขัดเกลาและการทดลองทำเพื่อค้นหาสิ่งที่เรารักและถนัดที่จะทำ
และเมื่อวันนั้นที่จุดกลมกล่อมของเรามาถึง…เส้นทางที่ดูเหมือนเดินแหวกเข้าพงของเราในตอนแรกก็กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นออกตามหาเส้นทางของตัวเอง….เส้นทางที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนอย่างแท้จริง เป็นเส้นทางแห่งความกล้าหาญที่จะขุดลึกเข้าไปในใจของคนที่เคยเป็นเป็ดอย่างพวกเรา…
แล้วผู้อ่านล่ะครับ…สามอย่างนั้นคืออะไร
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน