Loading

wait a moment

อย่าปล่อยให้ความสุขเป็นเรื่องบังเอิญ…วิทยาศาสตร์แห่งความสุขกล่าวไว้เช่นนั้น (The Science of Happiness)

Photo41-960x640
รูปปกบทความหยิบยืมมาปกเพลงซิงเกิลสุดฮิตของ Pharrell Williams ที่มีชื่อว่า Happy

บอกเล่าเรื่องความสุขจากมุมมองวิทยาศาสตร์

มันก็มีหลากหลายวิธีการแหละนะที่จะเรียนรู้อะไรซักอย่างหนึ่ง แต่สำหรับบล๊อควันนี้อยากจะนำเสนออะไรที่มันแหวกแนวสำหรับสิ่งที่เราเคยรู้กันมากับคำถามที่ว่า

 

“ความสุขเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้จริงๆ หรือ”

 

นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นและจุดประกายให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาหลังจากเห็นคอร์สเรียนออนไลน์ที่มีชื่อว่า “The Science of Happiness” หรือ วิทยาศาสตร์ของความสุข ซึ่งแว่บแรกก็รู้สึกแหละว่า ไม่มีอะไรที่อยู่ใต้ฟ้าผืนนี้ที่นักวิทยาศาสตร์จะไม่ตั้งคำถามและเข้าไปศึกษา…แต่กับเรื่องความสุขเนี่ยนะ มันก็ออกจะแปลกดี เพราะแม้มันจะเป็นสิ่งที่ใครๆก็ต่างพูดถึง

สิ่งที่ใครๆก็บอกเป็นเหมือนสิ่งสูงสุดที่ทุกชีวิตต้องการ แต่เอาเข้าจริงแล้วเรารู้จักมันดีมากแค่ไหนกัน

 

The Science of Happiness
ถ้าให้กดปุ่มซึ่งมีสายไฟเชื่อมเข้าสู่สมองเพื่อกระตุ้นให้รู้สึกมีความสุขตลอดเวลา เราจะเลือกความสุขจำลองประเภทนี้ไหม หรือเราต้องการอะไรที่มากกว่านั้น

 

ความสุขก็เหมือนผีเสื้อ หากเจ้าไล่ตาม เจ้าอาจจะจับมันได้หรือ จับไม่ได้ แต่ถ้าท่านเข้าใจมัน…บางทีท่านอาจไม่อยากจะจับมันมาตั้งแต่แรกก็ได้นะ

The Pursuit of Happyness
‘ความสุขคืออะไร’ นับเป็นหนึ่งในคำถามที่เก่าแก่มากที่สุดของมนุษย์ชาติ  หนังเรื่อง ‘The Pursuit of Happyness’ ที่ได้คะแนนโหวตมากถึง 8.0 บนเว็บไซต์ IMDb กล่าวถึงความสุขในแง่ของการออกตามหาและคว้ามา (The Pursuit) อาจเป็นไปได้ที่คำนี้อาจถูกใช้มากจนกลายเป็นคำคลิเช่ที่ความหมายดั้งเดิมถูกกลืนหายไป เช่นนั้นแล้วการศึกษาเรื่องความสุขบางครั้งจึงต้องใช้วิจารณญาณในการศึกษาว่าผู้พูดกำลังกล่าวถึงแง่มุมไหนของความสุขอยู่

 

ส่วนตัวแล้วอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับคำว่า Positive psychology ซึ่งเป็นหัวใจหลักของสิ่งที่จะเรียนในคอร์สเรียนออนไลน์นี้ ที่หากฟังครั้งแรกอาจจะงงๆ ว่าจิตวิทยาบวกนี่คืออะไร คือการมองโลกนี้เป็นสีชมพู มองโลกในแง่บวกจะได้มีความสุขอย่างนั้นหรือ ซึ่งมันมีความลุ่มลึกและซับซ้อนมากกว่านั้น

แต่ถ้าจะเอาสั้นๆ คือ เป็นการประยุกต์ควบรวมเอางานวิจัยหลักๆ จากสาขา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์สมอง (Neuroscience) ชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ (Evolutionary Biology) โดยทั้งหมดอยู่บนรากฐานของวิทยาศาสตร์เพื่อมาตอบคำถามเกี่ยวกับความสุขของมนุษย์

 

ไม่ใช่แค่ทฤษฎี เน้นประยุกต์ใช้

โดยตัวคอร์สระบุไว้ว่าหากเรียนจบจะได้เรียนรู้ใน 4 หัวข้อ ได้แก่

  • ค้นพบและเข้าใจว่าความสุขคืออะไร และมีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร: มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนแล้วว่าไม่ใช่แค่ความสำเร็จจะนำมาซึ่งความสุขเท่านั้น แต่การมีความสุขก็ช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วย เป็นพลังบวกซึ่งสนับสนุนซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นประเด็นข้อนี้น่าสนใจในหลากมิติ และเป็นคำถามเก่าที่แม้แต่ปรัชญาโบราณของญี่ปุ่นยังพูดถึง (แนวคิด Ikigai) เพราะเมื่อใดที่เราตระหนักว่าความสุขไม่ใช่แค่ปลายทางที่มีคำตอบในตัวเองแต่เป็นเหตุผลหนึ่งในการดำรงอยู่ของชีวิตด้วยแล้ว ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้อยากจะศึกษาในประเด็นถัดๆไป

    Ikigai
    Ikigai: ปรัชญาญี่ปุ่นเก่าแก่ในการดำเนินชีวิตให้มีคุณค่าและความหมายโดยการตอบให้ได้ว่า “เช้านี้ฉันตื่นมาทำไม”  อะไรคือสิ่งที่ตนเองถนัด รักที่จะทำ อีกทั้งเป็นสิ่งที่โลกต้องการ แถมยังได้ค่าตอบแทนอีกด้วย (อันที่จริงแผนภาพ Venn Diagram ถูกสร้างโดยชาวตะวันตกยุคหลังๆ เพื่อ simplify แนวคิดที่ลึกซึ้งแต่เรียบง่ายของชาวญี่ปุ่นนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น)

 

  • เรียนรู้วิธีการที่จะเพิ่มความสุข—จุดเด่นคือไม่ใช่วิธีการไก่กาที่ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่อ้างอิงจากงานวิจัยชั้นยอด สดใหม่ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง โดยจะสอนทั้งตัวทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ได้ง่ายๆ ในชีวิตจริง

 

  • เข้าใจพลังของการเชื่อมต่อทางสังคม(social connections)และวิทยาศาสตร์ของความเห็นอกเห็นใจ (science of empathy)— เพราะความสุขไม่ใช่แค่เรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่เราวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษร่วมที่เป็นมนุษย์วานรจนกลายมาเป็นคนในปัจจุบัน ต้องอาศัยการพึ่งพาและความร่วมมือซึ่งกันและกัน นั่นทำให้เราเป็นสัตว์สังคมที่มีความซับซ้อนอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นคำตอบว่าทำไมความสุขของเราเกี่ยวข้องกับคนรอบตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • ทำความรู้จัก Mindfulness (มีคำแปลแต่เป็นบาลีเฉพาะที่เข้าใจยาก แต่เบื้องต้นคือการมีสติหรือทำการรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ) การและการเอามาใช้ในสถานการณ์จริงของชีวิตประจำวัน—ยิ่งโลกหมุนไวเท่าไหร่ เร็วไม่ว่าแต่ต้องช้าให้เป็น

 

  • Joy : The Happiness that comes from within
    OSHO คุรุทางจิตวิญญาณสมัยใหม่ชาวอินเดียผู้นี้ นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความสุขไว้อย่างน่าสนใจที่ว่าความสุขหรือที่เขาใช้คำว่า joy นั้นมีลักษณะที่เป็น The Happiness that comes from within กล่าวคือไม่ต้องออกตามหา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน

ความสุข…เส้นทางที่ไม่มีใครลอกเลียน

อย่างที่กล่าวไว้แล…ความสุขจึงเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง ยากที่ใครจะบอกกล่าวหรือชี้นำได้ว่าควรทำอย่างไร แต่สำหรับตัวเองซึ่งเชื่อในพลังของวิทยาศาสตร์จึงถูกดึงดูดเข้าสู่แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกมากเป็นพิเศษ และธรรมชาติของความสุขก็ถูกผู้ติดอยู่กับเงื่อนไขทางชีววิทยาอยู่แล้ว คือมีแนวโน้มสูงที่เราสามารถควบคุมความสุขของตัวเราโดยเซ็ทเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้ความสุขเกิดขึ้นได้…ถ้าวิทยาศาสตร์มอบพลังความรู้นี้ให้เราแล้ว ทำไมเราจะรับพลังนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ควบคุมความสุขของตัวเองมากกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาดูซักครั้ง…

ถึงแม้จะไม่ได้สุขมาก แต่แนวคิดเหล่านี้ก็คอยบอกเราว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์เกินความจำเป็น เช่นเดียวกับแนวคิดของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ได้แสวงหาความสุข แต่มุ่งในการกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้สูญไป และมีจิตใจเบิกบานยินดีอย่างที่เราควรเป็น

 

 ไปยังคอร์สได้ที่นี่

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน