ไม่ใช่การขาดเป้าหมาย
แต่ ความกลัว ที่จะลงมือทำตั้งหากที่ฉุดรั้งคุณไว้จากความสำเร็จ
นี่คือคำแถลงของคอนเซ็ปแปลกๆ แต่น่าสนใจจากนาย Tim Ferriss ที่ได้ขึ้นไปพูดบนเวทีของ TED Talks สามารถเข้าไปชมได้ที่นี่
ในยุคสมัยที่ใครๆก็เชื่อในพลังของคนตัวเล็กส่วนบุคคล (power of individual) ที่จะสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยพลังของความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลมหาศาลของมนุษยชาติผ่านปลายนิ้วคลิก นอกจากความรู้จะไม่ใช่ข้อจำกัด ชุมชนออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดียทำให้เราเชื่อมต่อกับกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อคล้ายๆ กันกับเรา คุณภาพชีวิตในทุกๆ มิติของเผ่าพันธุ์ของเราดีขึ้น งานที่เราทำใช้แรงกำลังลดลง ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็เพียบพร้อมแต่ทำไมบางทีลึกๆ เรายังรู้สึกว่ายังขาดอะไรบางอย่าง สิ่งที่ฉุดรั้งเราไว้จากชีวิตที่ต้องการ กับความคิดฝันบ้าๆ บางอย่างที่เราไม่เคยกล้าบอกใคร
ใช่, สิ่งนั้นคือ ความกลัว
เพราะความตั้งใจอาจยังไม่พอ
เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเราก็มักจะนึกถึงคุณสมบัติอย่างความขยัน ความอดทน หรือพลังใจที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Will power…ซึ่งแนวคิดนี้มีมาอย่างค่อนข้างยาวนานที่อธิบายว่าที่คนคนนี้ทำอะไรได้สำเร็จมากกว่าอีกคนเป็นเพราะมี will power สูง จิตแข็ง มีความตั้งใจตั้งมั่น ที่นายประยุทธ์เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จก็เพราะเขามีจิตใจที่เข้มแข็งไม่มากพอ…
จึงเป็นที่มาของประโยคคลาสสิกอย่าง “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
การตั้งเป้าหมายและการวางแผนอย่างละเอียดจึงเป็นสิ่งที่คนร่วมสมัยรู้จักกันดี และทุกคนก็ทำเหมือนๆ กัน นั่นคือเรื่องของเป้าหมายที่เรา “กล้าไขว่คว้า” และลงมือทำ
แต่ความลับมีอยู่ว่ามีบางเรื่องในชีวิตที่เราซ่อนไว้อยู่ลึกมากที่สุด เราไม่กล้าตั้งคำถามต่อมัน เราไม่กล้าป่าวประกาศให้ใครรับรู้ ไม่แม้แต่อยากจะคิดถึง บางทีเรากลับอยากลืมๆมันไปเสียด้วยซํ้า เพราะคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าคำถามเหล่านั้นเองที่เป็นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุด
ผู้กล้าถาม: อะไรคือจุดแข็งของเรา…
ผู้กลัวตอบ: เรามีมั๊ยนะ หรือเราไม่มีอะไรโดดเด่นเลย ช่างๆ มันไปเถอะ
ผู้กล้าถาม: มีทักษะหรือความรู้อะไรที่เราต้องพัฒนาอีกบ้างเพื่อก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ผู้กลัวตอบ: ถามอะไรยากจัง แค่ทำงานทุกวันนี้ก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว
ผู้กล้าถาม: อยากสร้างธุรกิจที่ได้บริหารเอง
ผู้กลัวตอบ: ไม่อยากจะคิดถึง เราคงยังเด็กเกินไป ไม่มีเงินทุน ขาด connection
ในบางจังหวะของชีวิต เราได้ยินเสียงกระซิบจากผู้กล้าในคำถามที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ สิ่งที่เป็นคุณค่าและความใฝ่ฝันในชีวิตเรา แต่ก็ในชั่ววินาทีเดียวกันนี่แหละที่วิญญานผู้ขาดกลัวตะโกนกลับไปโดยใช้ข้ออ้างต่างๆ นา
แต่สิ่งที่แย่ที่สุดของวิญญาณขาดกลัวคือการสร้างคำอธิบายที่ง่ายที่สุดว่าทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ เพื่อที่จะได้ผลัดผ่อนความคิดนั้นออกไป มันทำให้เราไม่ได้ใช้สมองคิดด้วยตัวเองว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นความเป็นไปได้
พฤติกรรมเริ่มที่สมองและจบที่สมอง
ในทางจิตวิทยามนุษย์จะมีแรงขับในการเปลี่ยนแปลงจากหนึ่งในสองปัจจัยนี้เสมอ (อาจควบคู่กัน) คือ เปลี่ยนเพราะอยากเปลี่ยน (มี reward) หรือเปลี่ยนเพราะ ความกลัว (กลัวถูก punished) เช่นเลิกกินหวานแม้จะชอบ แต่ต้องเลิกเพราะหมอสั่งว่าถ้าไม่ลดอาจตายด้วยเบาหวานก่อนวัยอันควรได้ ในที่นี้มีพฤติกรรมกินหวานจากนำ้ตาลซึ่งเป็น reward แต่มีความพยายามในการเลิกกินเพราะกลัว punish
นอกจาก ความกลัว จะบีบให้เราลงมืออะไรแล้ว มันยังปิดกั้นเราจากการไม่ลงมือทำอีกด้วย
Fear is not real. The only place that fear can exist is in our thoughts of the future. It is a product of our imagination
ความกลัว ไม่ใช่ความเป็นจริง สถานที่เดียวที่ความกลัวสามารถอาศัยอยู่ได้คือความคิดฝันเฟื่องไปในอนาคต มันเป็นแค่ผลลัพธ์ของจินตนาการที่เราสร้างขึ้น
– After Earth (2013) –
เป็นประโยคที่หนังเรื่อง After Earth กล่าวไว้ได้ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างไม่น่าเชื่อด้วยประการฉะนี้
1.ความกลัวเป็นรูปแบบหนึ่งของจินตนาการถึงผลลัพธ์ทางลบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็น divergent thinking คือจำลองและจินตนาการผลลัพธ์ออกมาหลายๆ รูปแบบ
2.ความกลัวอนาคตจัดเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์หนึ่งของมนุษย์ที่ถูกสร้างจากวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด เพราะในแง่หนึ่งมันคือการหยุดยั้งเราไม่ให้ทำอะไรที่เสี่ยงต่อชีวิต แต่สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ไม่มีสิงโตวิ่งไล่จับกิน ความกลัวกลับทำให้เราเลือกที่จะอยู่เฉยๆ มากกว่าที่จะทำอะไรให้เกิดความเสี่ยง
3.ความกลัวก่อให้เกิดความเครียด และการหลั่งสารสื่อประสาทอีกหลากหลายตัวที่ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า psychological paralyzed ซึ่งหากมองในบริบทของการพัฒนาตัวเองอาจหมายถึงการยอมแพ้ต่อเป้าหมายที่อาจทำให้ชีวิตดีขึ้นเพียงเพราะคิดว่ามันอาจเป็นไปไม่ได้และจบลงไม่สวย หรือถ้าเป็นในเชิงการสร้างสรรค์ก็อาจทำให้เกิดการปัดตกของไอเดีย ที่ทำให้ไอเดียหลายๆอย่างที่อาจพัฒนาเป็นนวัตกรรมหรือธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตคนถูกปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาเลยขมวดปมได้ว่า เป็นความกลัวนั้นเองที่หยุดยั้งเราไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า หลายๆคนมีความตั้งใจที่ดี มีทรัพยาการที่พร้อม อยู่ในจุดที่มีศักยภาพแทบทุกอย่างที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก แต่กลับต้องด้านชาทางความรู้สึกและไม่เริ่มลงมือทำเพราะความกลัว
จึงทำให้ประเด็นเหล่านี้ได้รับความสนใจจากนักจิตวิทยาและนักคิดจำนวนมากว่าเราจะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้อย่างไร อุปสรรคที่ถูกสร้างจากภายในจิตใจ หาใช่จากใครอื่น เราฉุดรั้งมันไว้ด้วยตัวเอง
แต่มีข่าวดีว่ามีเครื่องมือทางความคิดหลายตัวที่จะเอาชนะกับดักทางความคิดเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ตอนต่อไปเราจะมาแนะนำเครื่องมือที่มีชื่อว่า fear setting ที่ถูกนำเสนอโดยนาย Tim Ferriss ที่กล่าวถึงเมื่อต้นบทความ…
เพราะหลายครั้งสิ่งที่เราขาดอาจไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นความกล้าที่จะจ้องตากับความกลัวต่างหากล่ะ
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน