1.
จากเตียงคนตายที่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง…บอกให้เรารู้ว่าคนเราเสียดาย (regret) สิ่งที่ไม่ได้ลงมือทำมากกว่าสิ่งที่ได้ทำลงไป
การคิดย้อนหลังจากจุดจบย้อนกลับมายังปัจจุบันเช่นนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “มรณานุสติ” หรือการระลึกถึงความตายเพื่อให้ใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างตื่นรู้อย่างเต็มที่ และมันเป็นสิ่งที่สตีฟ จ็อบส์ ทำแทบทุกวันในชีวิตการทำงาน
***มีทั้งหมด 17 ข้อแบบกระชับ***
2.
น่าแปลกที่การระลึกถึงจุดจบกลับทำให้เรากลับใช้ชีวิตในปัจจุบันได้อย่างตื่นบาน ไม่กังวลไปยังอนาคต และไม่พะวงหลังไปยังอดีตมากจนเกินไป…ถ้าเราจะตายพรุ่งนี้ เราคงอยากจะใช้ทุกนาทีอย่างมีความหมายในปัจจุบันขณะ
3.
จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนเรา ‘เสียดาย’ สิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าที่ลงมือทำ…แต่ความเป็นจริงที่ย้อนแย้งของชีวิตพวกเราส่วนใหญ่ก็คือ เรามักบอกตัวเองว่า “ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ” และเราคงยังไม่ตายในเร็ววันหรอก ทำให้เกิดการผัดผ่อนการกระทำออกไปเรื่อยๆ
ปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาแบบนี้เราเรียกว่า “การผัดวันประกันพรุ่ง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “procrastination”
4.
“Dwight Eisenhower” ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกาผู้ได้รับการยกย่องจากหลากหลายวงการ และเป็นหนึ่งในต้นแบบของผู้ที่ “บริหารเวลา” ได้ยอดเยี่ยมคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยรับผิดชอบงานมากมายหรืออยู่ในภาวะที่เรียกว่า “งานหลวงไม่ให้ขาด งานราษฎร์ไม่ให้เสีย” ดำเนินโปรเจกน้อยใหญ่มากมายทั้งโครงการอินเตอร์เน็ต(DARPA) การสำรวจอวกาศ(NASA) การบุกเบิกแหล่งพลังงานทดแทน (Atomic Energy Act)
5.
เคล็ดลับความสำเร็จหรือที่เรียกว่า “Secret Sauce” ของยอดมนุษย์ผู้นี้ฝังอยู่ในคำกล่าวที่ถูกผลิตซ้ำหลายหน แต่ยังคงเป็นจริงข้ามกาลเวลาและทรงพลัง ใช้การได้ดีมากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบันที่ยุ่งวุ่นวายที่ว่า
“What is important is seldom urgent and what is urgent is seldom important.”
หรือแปลเป็นไทยว่า “สิ่งที่สำคัญส่วนมากจะไม่ค่อยเร่งรีบ และสิ่งที่เร่งรีบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ”
6.
สิ่งสำคัญที่ว่าคือสิ่งสำคัญในมุมมองของภาพใหญ่ในระดับชีวิตคนหนึ่งคน….คือสิ่งที่สำคัญมากพอที่จะทำให้คนหนึ่งคนรู้สึกเสียดายได้
เมื่อ “วันสุดท้ายของชีวิตมาถึง” แต่น่าแปลกที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครบอกเราได้ว่าคืออะไร แต่ที่ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันคือส่วนหนึ่งความฝันความหวัง คุณค่าที่เป็นตัวตนที่จริงแท้ของเรา เป็นสิ่งที่อย่างน้อยเราก็ “อยากจะทำมันก่อนตาย”
7.
น่าเศร้าที่ “สิ่งสำคัญส่วนมากจะไม่ค่อยเร่งรีบ” หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือมัน ไม่มี deadline ไม่มีเส้นตาย ไม่มีใครมากำหนดว่าคืออะไร หรือต้องทำวันไหน ไม่ทำก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครว่า แต่เราจะรู้อยู่แก่ใจ
8.
หนึ่งในสาเหตุที่คนส่วนมากในปัจจุบันไม่สามารถสร้างคุณค่าหรือประสบความสำเร็จได้ ก็เพราะเราเกิดและเติบโตมาในยุคที่เรียกว่า “information overload” หรือยุคข้อมูลล้นเกิน ซึ่งจะส่งผลให้เราเข้าถึงข้อมูลได้มหาศาล ทว่าเหรียญย่อมมีด้านตรงข้ามนั่นคือ
“ความสับสน” ในการเลือกใช้ข้อมูลเหล่านั้น
9.
ใน TED Talks ตอนหนึ่งที่ผมชอบมากๆที่มีชื่อตอนว่า ‘paradox of choice’ ได้กล่าวถึงความย้อนแย้งของยุคสมัยในอิสระภาพในการเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ได้ยกตัวอย่างคลาสสิกที่เห็นภาพชัดเจนมากๆ ว่า
สมัยเด็กๆ ตอนผู้พูดไปเลือกกางเกงยีนส์ก็มีอยู่ไม่กี่ทรงการตัดสินใจซื้อฉับไวเรียบง่าย
แต่พอตัดภาพมาที่ปัจจุบัน
มันกลับไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป…
ลองนึกภาพการตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันที่มีหลายค่าย หลายเงื่อนไข หลายแพ็คเก็จ…
ผู้พูดได้อธิบายว่า “ทางเลือกที่เยอะเกินไป อาจทำให้เราอ่อนล้าจนไม่เลือกอะไรเลย” หรือที่สามารถเรียกได้ว่า ความนิ่งงันจากความกลัว (Fear paralysis)
***เตรียมอ่านบทความ ‘paradox of choice’ อย่างเต็มรูปแบบได้ในเร็วๆนี้***
10.
ความเลือกไม่ออกบอกไม่ถูกบวกกับธรรมชาติของสิ่งสำคัญที่ไม่มีกำหนดเส้นตาย ทำให้เราผัดผ่อนเรื่องสำคัญในชีวิตออกไป…
อยากสร้างธุรกิจหรอ ? เอาไว้ที่หลัง รอให้แก่กว่านี้ มีประสบการณ์มากกว่านี้….
อยากเปลี่ยนสายงานไปทำสิ่งที่ถนัดและรักมากกว่า? ทนๆ ทำไปทุกเดือน มีเงินให้ใช้ มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร…
จนกระทั่งรู้ตัวอีกทีก็เริ่มแก่ หรือร้ายกว่านั้นก็ต้องมานั่งนึกย้อนเสียใจตอนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้วก็เป็นได้
11.
แนวคิด “What is important is seldom urgent and what is urgent is seldom important.”
จึงได้ให้กำเนิดเป็นโมเดลที่ทรงพลังทว่าเรียบง่ายไปในคราวเดียวกันที่เรียกว่า
“Eisenhower Box”
ซึ่งมีชื่อเรียกตามผู้ให้กำเนิด…มันคือตารางแสนเรียบง่ายที่ช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแน่นอนว่านี่คือ
“Secret Sauce” ของ Dwight Eisenhower อย่างแท้จริง
12.
จากรูป “Eisenhower Box” จะประกอบไปด้วยสี่ส่วน
ที่ถูกแบ่งด้วย 2 มิติที่สำคัญนั่นคือ
หนึ่ง ความสำคัญ (แนวตั้ง)
สอง ความเร่งด่วน (แนวนอน)
เมื่อเราได้ลองลิสต์กิจกรรมของเราที่ทำทุกวันลงไปในส่วนต่างๆครบทั้งสี่ช่อง เราจะสามารถรู้ได้เลยว่าเราควรจะทำอย่างไรกับพวกมันต่อได้…และความเจ๋งของหลักการนี้ที่เหนือกว่า To do list ทั่วไปก็คือมันไม่ได้บอกให้เราทำงานทั้งหมดที่เราเขียนลงไปเพราะนั่นมันคงจะทำให้เรายุ่งและผมคงไม่จัดว่ามันเป็นการบริหารเวลา
ปล.To do list การจดสิ่งร้อยแปดพันเก้าที่เราต้องทำทั้งหมดเป็นลิสต์เพื่อกันลืมและพยายามขีดฆ่ามันทิ้งให้ได้มากที่สุดในแต่ละวันเมื่อเราทำงานเหล่านั้นเสร็จ
===
สี่ช่อง-สี่แนวทางปฎิบัติ
===
13.
สิ่งสำคัญ: สิ่งสำคัญก็คือสิ่งที่มันตอบโจทย์ “หากนี่คือวันสุดท้ายของชีวิต” เราจะยังนับว่ามันสำคัญหรืออยากจะทำมันไหมสิ่งสำคัญมักจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ “เป้าหมายระยะยาว” ค่านิยม หรือความฝันที่เรามีมาตั้งแต่วัยเด็กอย่างเช่น อยากถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ ความงาม ความจริง
ผ่านการสื่อสารที่ถนัดคือการเขียนให้คนในวงกว้างได้รับประโยชน์ (กรณีนี้คือตัวอย่างชีวิตผมเอง)
หากมองโดยภาพรวมมันคือสิ่งที่เราต้อง “Active” หรือ “บุกตะลุย”
ในการทำมัน เพราะไม่มีใครสั่งให้เราทำ แต่กลับเป็นว่าการงานเหล่านี้เองที่เปลี่ยนชีวิตเราไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
14.
สิ่งเร่งด่วน: ยกตัวอย่างเช่น การไปทำบัตรประชาชน การชำระค่าหอพักรายเดือน การเช็คเมลล์ลูกค้าเพื่อตอบได้ทันท่วงที การโทรกลับหาหัวหน้าเมื่อเห็น miss call…สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก เป็นสิ่ง “Passive” หรือ “เรียกร้อง” ให้เราตอบสนอง ให้เราคอยตั้งรับ จะไม่ทำก็ไม่ได้แถมยังมักจะต้องรีบทำทันทีเพื่อไม่ให้ลุกลามจนเกิดปัญหาใหญ่โต…
แต่ในท้ายที่สุดการงานในช่องนี้ ก็เป็นเพียงการ “รักษาระดับ”
ของเพดานบินให้คงที่…หากเป็นเรื่องงานก็คือทำให้เรายังคงทำงานได้ต่อไปโดยไม่ถูกไล่ออก แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเจริญก้าวหน้าเพื่อ “ไต่ระดับ” ทะยานสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าแต่อย่างใด
15.
หลักการนี้จะช่วยให้เรามีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นสุขและเข้าใกล้ความสำเร็จได้มากขึ้นได้อย่างไร?
ต้องดูว่ามีคนแบบไหนบ้าง
หนึ่ง ประเภทไม่ทำอะไรเลย ใช้ชีวิตไปวันๆ ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าชีวิตจะลงเอยแบบใด
สอง คนที่ขยันมาก ทำงานเยอะ ตะลุยขีดฆ่า To do list ได้ยาวเป็นหางว่าวในทุกวัน ซึ่งสุดท้ายอาจลงท้ายด้วยอาการ burnout หรือหมดไฟ หากการงานที่ทำมีแต่สิ่งเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ
และคนประเภทสุดท้าย คนที่ประสบความสำเร็จ ที่ยอมสละเวลาเพื่อพูดคุยกับตัวเอง ขุดลึกลงไปในจิตใจว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ชีวิตต้องการจริงๆ สิ่งใดคือสิ่งที่สำคัญและมีความหมาย จากนั้นจึงโฟกัสแรงพลังทั้งหมดไปยังสิ่งนั้นในทุกเมื่อเชื่อวัน
===
จำและนำไปใช้
===
16.
เร่งด่วนและสำคัญ:
ไม่ต้องคิดมาก แต่ให้ลงมือทำทันที ที่สำคัญคือทำเป็นอย่างแรกของวันด้วย…ข้อดีหนึ่งของการทำสิ่งสำคัญคือ เมื่อทำแล้วจะช่วยลดสิ่งที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญในข้อถัดไปด้วย เช่นการออกกำลังกาย เราก็ไม่ต้องไปหาหมอบ่อยๆ ในกรณีฉุกเฉินอีกต่อไป หรือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะเพิ่มสติ ลดอาการเลินเล่อ ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน ไม่เสียเวลาในการตามแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาด
เร่งด่วนไม่สำคัญ:
ถามตัวเองว่าจะลดสิ่งเหล่านี้ลงได้อย่างไร (แม้จะยังทำไม่ได้ในตอนนี้) หาทางทำสิ่งที่เรียกว่า Work smart เช่นถ้าเราสามารถจ่ายเงินค่าหอผ่านแอพพลิเคชันได้แทนที่จะเสียเวลาไปธนาคารก็จงรีบทำ…กลยุทธ์คือพยายามลดเวลาที่ใช้ไปในกล่องนี้ให้มากที่สุด แล้วเอาเวลาไปโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ในกล่องช่องถัดไป
ไม่เร่งด่วนสำคัญ:
ข้อนี้คือจุดตายที่สำคัญที่สุด !!!
มันคือสิ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องนึกเสียดายวันวัยในขณะที่พวกเขายังเยาว์และมีแรงกำลังในการทำสิ่งต่างๆวิธีที่จะไม่พลาดคือการกำหนดเป้าหมาย และก่อร่างสร้างวินัย และเริ่มต้นทำทันที…ข้อนี้ไม่มีใครบังคับให้ทำหรอกนะครับ!!!แต่เราต้องลงมือทำด้วยตัวเอง อย่างปัจจุบันผมก็แบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ Non-Fiction ดีๆ ทุกวันวันละ 4 ชั่วโมงซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพในงานเขียนของผมได้…
แล้วของคุณผู้อ่านล่ะครับ สิ่งนั้นคืออะไร ???
ไม่เร่งด่วนไม่สำคัญ:
สั้นๆ นะครับ…ตัดมันทิ้งเสียถ้าหากทำได้แต่ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่หรอกนะครับ เพราะความบันเทิงรูปแบบต่างๆ
ที่มาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี…การใช้เวลาไร้สาระทั้งวัน…ประเด็นคือไม่ได้กำลังจะบอกว่าไม่ให้มีช่วงเวลาพักผ่อนเลย ในทางกลับกันการพักผ่อนเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมากๆ เช่นกัน ที่จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างเต็มที่และยืนระยะได้อย่างยาวนาน
จงแยกให้ออกระหว่างการรีชาร์ตแบตกับการเสพติด
มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าหลายๆครั้งการเล่นโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เรามีความสุขแต่อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบและทุกข์ยิ่งกว่าเดิมแต่เราก็ยังเล่นมันเพราะ platform เหล่านี้ถูกออกแบบมาทุกอณูให้เราเสพติด
(ใครอยากศึกษาเพิ่มเติมสามารถหาอ่านในหนังสือชื่อ Hooked: How to Build Habit-Forming Products)
เราสามารถเอาชนะ The Mere Urgency Effect หรือ การที่เราผัดผ่อนไม่ยอมทำสิ่งที่เราอาจมานั่งเสียดายในภายหลังได้ด้วย ได้ด้วย 3 แนวทางนี้
1.การหาแรงบันดาลใจ ‘ภายใน’ เพื่อลงมือทำงานที่สำคัญซึ่งอาจจะยากแต่ในท้ายที่สุดเราจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Active motivation ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้
2.ส่วนที่ยากที่สุดคือตอนเริ่ม แต่เมื่อเริ่มทำแล้วมันก็คงไม่ยาก ยิ่งถ้าเราทำให้งานที่สำคัญนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยไปเลยก็ยิ่งทำให้เรารักษาความสมํ่าเสมอในการทำงานนั้นได้ ซึ่งสามารถอ่านได้ในหัวข้อที่ 2 ของบทความที่มีชื่อว่า “Done is better than perfect”
3.ในโลกยุคใหม่ที่มีสิ่งวุ่นวาย เช่นโซเชียลมีเดีย การที่เราโฟกัสกับงานที่สำคัญที่สุดอย่างใจจดใจจ่อ
ได้กลายเป็นทักษะใหม่ในศตวรรษที่ 21 ในการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผู้อ่านสามารถเรียนรู้หลักการที่มีชื่อว่า DEEP WORK ได้ในบทความนี้ครับ
17.
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด:
และบทความนี้ก็ดำเนินมาจนถึงข้อสุดท้ายแล้ว
แต่ก็ไม่ใช่อย่างสุดท้ายที่อยากให้ผู้อ่านทำก่อนปิดหน้านี้ไป
อย่ารอช้าครับ ลองหยิบกระดาษที่ใกล้มือที่สุดแล้วขัดเส้นสองเส้นง่ายๆ แบ่งออกมาเป็นสี่ช่อง…แล้วลองนำไปใช้ทันที !!!
นั่นเพราะไอเดียและแรงบันดาลใจเป็นสิ่งของราคาถูกในโลกทุกวันนี้ที่แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่ ความแตกต่างจึงเกิดขึ้นกับผู้ที่รู้จักหยิบแรงบันดาลใจเหล่านั้นมาต่อยอดลงมือทำมากกว่า
ไหนๆก็ใช้เวลาอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็อย่าหยุดแค่ความคิดแต่จงเปลี่ยนมันเป็นการกระทำที่จะส่งผลต่อความสำเร็จอย่างแท้จริงด้วย…โชคดีครับ
.
.
.
[เพิ่มเติม]
– บทความนี้เป็นบทความฝาแฝดที่ควรอ่านคู่กันกับบทความนี้มากๆครับ: ทำ “น้อยสิ่ง” เพื่อให้ได้ “ทุกสิ่ง” [Pareto principle: 80/20 Rule]
http://news.se-ed.com/?p=4000
– เครดิทภาพจากเว็บไซต์ jamesclear.com
คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน