Loading

wait a moment

หากเลือกได้แค่หนึ่ง นี่คือเทคนิค บริหารเวลา เพียงข้อเดียวที่อยากให้คุณรู้ !!!

บริหารเวลา กินกบตัวนั้นซะ eat that frog

บริหารเวลา 

หากเดินผ่านชั้นหนังสือหมวดฮาวทูจะรู้ได้เลยว่า หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเวลามีเยอะแยะมากมายเพียงใด ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยตะลุยศึกษาแนวคิดในเรื่องนี้อย่างยิ่งยวดในสมัยที่เป็นวัยรุ่น แต่ท้ายที่สุดแล้วหลักการ ‘simple is the best’ และหลัก 80/20 rule ก็ยังใช้การได้อยู่ดี ก่อนเขียนบทความนี้ ผมเลยตั้งโจทย์ไว้ว่าหากเลือกเทคนิคการบริหารเวลาที่ดีที่สุดเพียงข้อเดียวมาถ่ายทอดจะเป็นเรื่องอะไร นั่นทำให้สุดท้ายผมเลือกแนวคิด ‘Eat that frog’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือค่อนข้างเก่าแต่คลาสสิกที่เขียนโดย Brian Tracy ที่ยังคงใช้การได้เสมอ

เวลาเป็นสิ่งจำกัด-และเราไม่มีวันทำอะไรทุกอย่างที่อยากทำได้

ลองดูเหตุการณ์สมมุตินี้ก่อน…

เคยไหมกับเช้าที่ตื่นมาด้วยพลังงานเต็มเปี่ยมและความตั้งใจอย่างแน่วแน่หลังจากนอนเต็มอิ่มมาทั้งคืน

วันนี้แหละ !!! จะเคลียร์งานให้หมดเลย แล้วเราก็เขียน To do list ยาวเป็นหางว่าว

ตัดผ่านไป 12 ชั่วโมง…

กระดาษแผ่นเดิมมีรอยขีดฆ่าทิ้งเต็มไปหมด แต่สุดท้ายก็ยังเหลืองานอยู่อีกพอสมควร เราถอนหายใจหนึ่งที พร้อมคิดว่าพรุ่งนี้ค่อยลุยใหม่

แต่แล้วก็ตระหนักได้ว่า

งานมันงอกได้นี่หว่า !!! ไปมาๆ มันมีงานใหม่มาเพิ่ม รวมๆกันแล้วงานทั้งหมดที่เราต้องทำก็ไม่ได้ลดลงเลย

 

กินกบตัวนั้นซะ ! จึงเป็นหลักการเรียบง่ายที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ (หัวใจอยู่ตรงนี้)

 

ถ้าสิ่งเดียวที่คุณจะต้องทำตอนเช้าคือการกิบตัวเป็นๆ ก็ให้กินกบตัวนั้นซะทันทีเพราะคุณจะผ่านวันนั้นไปได้อย่างโล่งใจมากกว่าถ้าได้รู้ว่าคุณได้เคลียร์เรื่องที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นไปเรียบร้อยแล้ว—และกบของคุณก็คือกบตัวที่ใหญ่ที่สุด คืองานที่สำคัญที่สุด เป็นงานชิ้นที่เสี่ยงที่สุดที่คุณจะผัดวันประกันพรุ่งถ้าคุณไม่เริ่มทำอะไรกับมันซักที

และหลักการก็มีอยู่ว่า…

คู่มือการกินกบตัวที่ใหญ่และน่าเกลียดที่สุด

1.  ถ้าคุณมีกบสองตัวให้ต้องกิน จงเลือกตัวที่น่าเกลียดที่สุดก่อน

หากเลือกได้แค่หนึ่ง นี่คือเทคนิค บริหารเวลา เพียงข้อเดียวที่อยากให้คุณรู้ !!!
น่ารักทั้งคู่ ไม่กินเลยได้มั๊ย ><

ซึ่งก็หมายความว่าถ้าเรามีงานสองงานหรือหลายๆ ภารกิจที่ต้องทำ ให้เลือกงานที่ใหญ่ ยาก และสำคัญที่สุดมาเป็นอันดับแรก พอฟังๆ ดูก็ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนี้กลับเป็นหลุมพลางที่คนส่วนใหญ่ที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งพลาดพลั้งตกลงไปซํ้าแล้วซํ้าเล่ามากที่สุด เหตุก็เพราะจิตใต้สำนึกของเราจะชอบเลื่อนเอากบตัวใหญ่ออกไปก่อนแล้วไปกินกบตัวเล็กตัวน้อยแทน เพื่อหลอกตัวเองว่าเราเองก็ใช้ได้เหมือนกัน ทำงานไปตั้งเยอะแยะแล้ว แต่ความจริงงานที่ impact กับชีวิตเรามากที่สุด งานที่เป็นงานส่วนน้อยเพียง 20% แต่ยากและสำคัญที่สามารถส่งผลทางบวกกับชีวิตเรามากที่สุด เรากลับเลื่อนมันออกไป…ไม่ทำซักที

ต่อไปนี้ก็อย่าลืม set priority เรียงกบบนเขียงจากใหญ่ไปเล็ก แล้วกินให้ถูกลำดับด้วยล่ะครับ

 

2.  ถ้ายังไงคุณก็ต้องกินกบตัวนั้นเป็นๆ อยู่แล้ว ก็อย่าไปเสียเวลานั่งจ้องทำใจอยู่นานนัก

 

ข้อนี้โดนมากสำหรับตัวผู้เขียนเองเพราะเอามาใช้บ่อยมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมพวกเราถึง ‘ลีลา’ กันนัก ซึ่งนอกจากความขี้เกียจแล้ว มนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความกลัวที่จะเริ่มกระทำ’ พูดง่ายๆ คือ งานใหญ่ งานยาก มักจะเป็นงานที่ต้องใช้พลังสมองและสมาธิค่อนข้างสูง และเราก็มักจะกลัวว่าถ้าเราลงมือทำแล้วจะทำได้ไม่ดีพอ ต้องรอนู่น รอนี่ รอนั่น รอปัจจัยภายนอกต่างๆ ให้พร้อมกว่านี้ แต่ความจริงคือ เราไม่เคยจะพร้อม 100% ในการทำสิ่งใดหรอกครับ คำแนะนำก็คือให้ ‘เริ่มทำทันที’ กินมันเป็นๆ ยัดมันลงคอหอยไป ซึ่งโชคดีที่มนุษย์เราก็มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่ดีก็คือ ถ้าเราเริ่มก้าวแรกไปแล้ว ก้าวต่อไปก็ไม่ยากอย่างที่คิด ยิ่งถ้าเราเข้าสู่ภาวะการทำงานที่เรียกว่า flow stage of mind (รออ่านเรื่องนี้ได้ในบทความถัดๆไป) แล้วล่ะก็ แม่แต่การกินกบเป็นๆ ก็จะสามารถนำความพึงพอใจมาให้เราได้ด้วยซ้า ด้วยความรู้สึกดี สนุกและภาคภูมิใจที่ว่าเรากำลังทำงานที่มีความหมาย สำคัญและจะส่งผลทางบวกกับชีวิตเราจริงๆ

เพราะฉะนั้นอย่าจ้องนาน กินเลยทันที ‘เป็นๆ’

 

3.  เรียนรู้ที่จะเป็นนักปฎิบัติ ลงมือทำ

การสร้างไอเดียที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สุดท้ายกลุ่มของคนที่ประสบความสำเร็จ และมีประสิทธิผลมากที่สุดก็คือพวกที่ลงมือทำจริง เมื่อระบุงานสำคัญออกมาได้แล้ว คนพวกนี้จะกระโดดลงไปปลุกปลํ้ากับมันอย่างทันที อย่างสม่ำเสมอ อย่างใจจดใจจ่อต่องานนั้นเพียงงานเดียว (การ multitask อาจจะเป็นความสามารถพิเศษที่จำเป็นต้องใช้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือ productive เมื่อมองโดยภาพรวม)

ไม่เชื่อก็ลองดูกรณีคลาสสิกที่เกิดขึ้นในองค์กรที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วกับการเริ่มต้นจากการพูดพร่ำไม่หยุดหย่อน ตามด้วยการประชุมมาราธอนอันหาข้อสรุปไม่ได้ การสร้างแผนงานอลังการงานสร้างออกมา แต่พอเวลาผ่านไปแล้วกลับมาวิเคราห์ดูผลงานกลับ ‘ล้มเหลวในทางปฎิบัติแล้วไม่มีคนลงมือทำงานจริง ไม่เกิดผลลัพธ์ที่คิดไว้เลยซักนิดเดียว’

เพราะฉะนั้นจงอย่าสับสนระหว่าง activity ที่เสียเวลาไปตั้งแต่ต้นในการวางแผนงาน กับ accomplishment สุดท้ายที่เป็น output…มันเป็นคนละเรื่องกันนะครับ

 

อ่าว !!! จบบทความแล้วนะครับ จนถึงตอนนี้ตอบได้หรือยังล่ะว่า ‘กบ’ ของคุณคืออะไร ทุกเช้าที่คุณลืมตาตื่นขึ้นตอบได้ไหมว่า ‘กบตัวที่ใหญ่และน่าเกลียดที่สุด’ ของคุณคือกบตัวไหน เพราะถึงแม้ชีวิตจริงของคุณจะไม่เคยกินกบ…แต่ทันทีที่ประโยคสุดท้ายของบทความนี้มาถึง ผมก็อยากจะขอเป็นกำลังใจให้คุณลุกขึ้น หยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่น เขียนเลขหนึ่งถึงห้า เรียงกบของคุณจากใหญ่ไปเล็ก แล้วกินทันที…ขอให้อร่อยนะ

สามารถศึกษาแนวคิดนี้แบบเต็มๆ ต่อได้ที่

หนังสือ ‘Eat that frog’ ฉบับแปลไทย

หนังสือกินกบตัวนั้นซะ! (ฉบับลงมือทำ) : Eat That Frog! Action Workbook

อ้างอิงจาก http://bit.ly/2DL40y4

 

ณภัทร สงวนแก้ว
ณภัทร สงวนแก้ว

คนสายวิทย์ที่จงใจมาทำงานสายธุรกิจและหวังว่าซักวันหนึ่งทั้งสองโลกจะมาเชื่อมกัน

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน