Loading

wait a moment

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ? [วิธีหลบระเบิดข่าวลวงด้วยการอ่านสไตล์นักวิทยาศาสตร์]

How to read the news like a scientist

วันนี้อยากจะแบ่งปันเคล็ดลับหลบระเบิดข่าวลวง โดยเฉพาะในหน้า New Feed ของ Facebook เนี่ยแหละครับ แต่ถึงอย่างไรก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแหล่งอื่นๆ ได้ไม่รู้จบ รวมถึงการอ่านหนังสือเล่มด้วยก็ตาม
.
โดยเทคนิคทั้ง 6 ข้อนี้ผู้เขียนมีบางส่วนอ้างอิงมาจากบทความต้นฉบับของเว็บไซต์คุณภาพเกรดพรีเมี่ยมที่มีชื่อว่า TED Ideas ซึ่งเป็นแหล่งรวมบทความในแง่มุมต่างๆที่น่าสนใจโดยอ้างอิงมาจากผู้คนในชุมชน TED Talks อีกที (จะใครล่ะครับ ก็เหล่าวิทยากรที่ขึ้นพูดบนเวที TED stage นั่นเอง)
.
บทความมีชื่อว่า “How to read the news like a scientist”
ซึ่งก็แปลเป็นไทยได้ความตามที่จั่วหัวไว้ด้านบนสุดนั่นเอง
.
จะรอช้าอยู่ทำไม ไปไล่ดูแต่ละข้อกันเลยดีกว่า


1. สงสัยไว้ก่อน

[Cultivate your skepticism.]

 

คนหัวอ่อนนี่จะไปก่อนเลยล่ะครับ
ถ้าคิดจะเดินทางแสวงหาสัจธรรม เราต้องมีมุมมองสุดโต่งซักนิดหนึ่งว่าทุกครั้งที่อ่านข่าว เราต้องทำเหมือนพลทหารในสงครามโลกที่กำลังออกเดินทางไปรบ ข่าวจากโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากสมรภูมิรบที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้ารกชัก ป่าที่เต็มไปด้วยไข้มาลาเรีย และทุ่งกว้างที่เต็มไปด้วยกับระเบิด
.
กลยุทธ์ด้านการตลาดที่พร้อมจะหว่านล้อมคุณทุกวิถีทาง
คำพาดหัวที่สนใจเพียงแต่ยอดไลค์ ยอดแชร์โดยขาดไร้ซึ่งความถูกต้อง
.
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าให้คิดว่าทุกอย่างที่อ่าน “เป็น” เรื่องที่ผิด แต่ให้คิดไว้ก่อนว่ามัน “อาจจะ” ผิดหรือถูกก็ได้ หรืออาจจะก้ำกึ่งอยู่ตรงกลาง
.
หากเราไม่สบายใจที่อยู่ๆ คนแปลกหน้าเดินเข้ามาในบ้านของเรา แล้วทำไมเราถึงจะยอมให้ข้อมูลอะไรก็ได้เข้ามาในหัวสมองของเราโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองก่อนจริงไหมครับ


2.เช็คแหล่งอ้างอิง

[Find out who is making the claim.]

เคยไหมครับ…อ่านบทความซักเรื่องหนึ่งกำลังอินอยู่ดีๆ แต่พอท้ายบทความกลับมาขายของกันซะงั้น พอเลื่อนไปดูจั่วหัวก็เข้าใจทันทีเพราะเป็น sponsored content หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นเนื้อหาที่มี “เป้าประสงค์แอบแฝงนั่นเอง”
.
แม้พูดอย่างนี้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทุกชนิดที่มีโฆษณาแฝงจะเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเนื้อหาที่เป็นประโยชน์วินวินทั้งคนเขียนและคนอ่านก็มีให้เห็นได้ทั่วไป เพียงแต่ให้ระลึกอยู่เสมอว่าวัตถุประสงค์ของเนื้อหาชิ้นนั้นย่อมมี priority หรือ ลำดับความสำคัญลำดับหนึ่ง คือ เป้าหมายทางการตลาด มากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้
.
แม้แต่ในชุมชนวิทยาศาสตร์ที่ว่าน่าเชื่อถือมากๆ แล้ว แต่เชื่อไหมครับว่าก็ยังไม่อาจหนีพ้นโลกของทุนนิยมและการค้าขาย เป็นต้นว่ามีการให้ทุนวิจัยหรือจ้างทีมนักวิทยาศาสตร์ให้ทำวิจัยเพื่อมาสนับสนุนผลประโยชน์ของบริษัทตนเอง
.
ก่อนอ่านข่าวหรือบทความใดๆ ดูให้ดีว่าผู้พูดคือใคร อาจได้ผลประโยชน์อะไรจากการกล่าวอ้างหรือโน้มน้าวเราด้วยข้อมูลเหล่านั้นหรือเปล่า ผู้นำเสนอมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่พูดมากน้อยแค่ไหน


3. อย่าเชื่อเพียงเพราะคนพูดน่าเชื่อถือ

[Watch out for the halo effect.]

หนึ่งในหัวข้อที่ผมชอบที่สุดในความรู้ทางจิตวิทยาคือเรื่องของ “Cognitive bias” หรือ ความผิดพลาดทางการคิดของสมอง
.
ถึงจะมีชื่อที่ดูน่ากลัว เหมือนจะเป็นโรคแบบนี้ แต่ก็ต้องบอกก่อนว่า มันเป็น “ธรรมชาติ” ในการทำงานของสมองของมนุษย์ปกติทุกคนๆ (เราวิวัฒนาการมาให้เป็นเช่นนี้)
.
โดยหนึ่งในไบแอสที่ีผลต่อการเสพข่าวสารที่เราอยากจะให้ทุกคนระมัดระวังไว้ให้ดีก็คือสิ่งที่เรียกว่าปรากฎการณ์ “Halo effect”
.
Halo effect คือปรากฎการณ์ที่อธิบายว่าความรู้สึกที่เรามีต่อผู้พูด สามารถมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อได้
ยิ่งชอบ—ยิ่งเชื่อง่าย
ยิ่งไม่ชอบ—ก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อ
.
ต้องบอกว่าอันที่จริงไบแอสข้อนี้ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อยในชีวิตของมนุษย์ยุคหินที่ใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกาอันเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ชาติ นั่นคือการที่เราสามารถทำความเข้าใจโลกรอบๆ ตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าเราถูกสอนจากคนในชนเผ่าว่าสัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บอย่างสิงโตนั้นอันตราย เมื่อวันหนึ่งในชีวิตเราเจอสัตว์ชนืิดอื่นที่มีลักษณะทางกายภาพภายนอกคล้ายกัน เราก็จะรู้สึกหวาดกลัวและไม่เชื่อใจไปด้วย หรือการที่เราเลือกที่จะเชื่อคนในเผ่าเพราะรู้สึกว่า “พวกเรา” ย่อมน่าเชื่อถือมากกว่า “พวกมัน” (คนต่างเผ่า)
.
ตัดภาพกลับมาในโลกปัจจุบัน…การเสพเนื้อหาต่างๆ บนโลกออนไลน์เต็มไปด้วยเป้าประสงค์ที่หลากหลาย ถูกผลิตมาจากผู้คนมากมายที่เราไม่ได้รู้จัก
.
เราอาจชอบสำนักข่าวแห่งนี้เพราะกดไลค์ไว้และติดตามมานาน เราอาจจะไม่ชอบขี้หน้าเพื่อนในเฟสคนนี้จากเหตุผลส่วนตัวก่อนหน้า เราอาจจะชอบดาราคนนี้มาตั้งแต่วัยรุ่น
.
แต่สำหรับผู้ที่อยากแสวงหาความจริง มันไม่สำคัญว่าข้อเท็จจริงนั้นจะถูกกล่าวมาจากปากของใคร เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นข้อเท็จจริง…หวังว่าการเสพเนื้อหาครั้งต่อไปของทุกคนจะต้องระวังอคติทางการคิดไว้ให้มาก
.
ความชอบหรือไม่ชอบของเราไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าความรู้สึก แต่ข้อเท็จจริงนั้นย่อมเป็นเรื่องของเหตุและผลมากกว่า แม้แต่คนที่น่าเชื่อถือ คนที่เราชอบ คนที่เราติดตามมาตลอดก็สามารถพลาดได้ในเรื่องของข้อมูล จงพิจารณาเป็นแล้วแต่กรณีไปจะปลอดภัยมากที่สุด


4. ไหนล่ะหลักฐาน

[Look at the evidence.]

กินไข่ห้ามเกินวันละหนึ่งฟอง
ค้นพบอารยธรรมต่างดาวที่อีกฟากของดวงจันทร์
ภาพหลุมดำเป็นแค่การจินตนาการของนักวิทยาศาสตร์จากข้อมูลบนคอมพิวเตอร์
.
นับวันเรายิ่งเจอเนื้อหาที่ชอบพาดหัวเพื่อกล่าวอ้างอะไรบางอย่างด้วยความมั่นใจอย่างเหลือเชื่อ ว่าแต่ แล้วมันจริงแค่ไหน ???
.
ข่าวลักษณะนี้มีความน่ากลัวอยู่ 3 ระดับ
#หนึ่ง เป็นเนื้อหาที่เรียกว่า “Clickbait” หรือพวกข่าวที่พาดหัวแรงๆ ดูเว่อๆ ดูเรียกร้องความสนใจ และมักมีเครื่องหมายกระตุ้นอารมณ์อย่างเครื่องหมายตกใจแบบนี้ !!! (บทความเราเองก็มีนี่หว่า) ข่าวแบบนี้เน้นเรียกความสนใจโดยไม่แคร์ว่าพาดหัวจะชวนให้คนเข้าใจผิดได้มากแค่ไหน (misleading )
#สอง เป็นโพสขายของ
#สาม หรือไม่ก็เป็นโพสอวยตัวเอง
.
เอาล่ะครับ เมื่อไหร่ที่เจอคำพูดที่ดูเว่อๆ พาดหัวเด่นๆ แทบจะทิ่มตา เรายิ่งต้องระวังเอาไว้ให้ดี แล้วถามตัวเองว่า แล้วไหนล่ะหลักฐานของสิ่งที่กล่าวอ้าง มีงานวิจัยรองรับไหม และต่อให้เป็นงานวิจัยก็ยังเชื่อทันทีไม่ได้ เพราะการจะฟันธงว่าอะไรถูกหรือผิดในทางวิทยาศาสตร์ต้องผ่านเขี้ยวเล็บการสกรีนจากชุมชนวิทยาศาสตร์ด้วยกัน งานวิจัยชิ้นเดียวไม่สามารถเอามาอ้าวว่าเป็นข้อเท็จจริงได้ เราต้องดูงานวิจัยของทีมอื่นๆ ที่มุ่งตอบคำถามเดียวกันประกอบด้วย
.
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทุกคนจะมานั่งอ่านงานวิจัยต้นฉบับได้รู้เรื่อง แต่การที่เราระลึกถึงสิ่งนี้ไว้ก็ดีมากแล้ว เพราะขนาดที่อ้างงานวิจัยยังเชื่อทันทีไม่ได้ แล้วที่มาพูดลอยๆ แล้วจะให้เราเชื่อได้อย่างไร
.
.


5.อย่าเข้าข้างตัวเอง

[Beware of the tendency to cherry-pick information.]

I love my brain.

กลับมาถึงจุดอ่อนของมนุษย์เหมือน ข้อ 3 อีกครั้ง
เชื่อไหมครับว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถพิเศษในการเข้าข้างตัวเองสูงมากขนาดไหน
.
สมมุติเราเราได้ยินมาว่าการก้าวขาซ้ายออกมาจากบ้านจะทำให้วันนั้นเป็นวันซวยทั้งวัน แล้ววันนั้นคุณเลยอยากลองของก้าวขาซ้ายออกมา ยังไม่ทันออกจากรั้วหน้าบ้านดี คุณเผลอเหยียบหอยทากตัวหนึ่งแบนคาเท้า ฝากความรู้สึกผิดบาปและความสยดสยองติดตัวก่อนไปทำงาน พอมาถึงป้ายรถเมย์ดันเรียกแล้วไม่ยอมจอด คุณเลยเริ่มคิดแล้วว่าต้องเป็นเพราะการก้าวขาซ้ายแน่ๆ พอมาถึงที่ทำงานโดนหัวหน้าเรียกไปตำหนิที่ทำงานผิดพลาด แถมเป็นงานที่ทำไปแล้วเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว แล้วหลังจากนั้นก็มีเรื่องนู้นเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งวัน
.
คุณออกไปจากบ้านพร้อมกับการอ่านเจอเรื่องความเชื่อที่คุณคิดว่าบ้าบอๆ จากนิวฟีด แต่กลับมาถึงบ้านอนเย็นพร้อมความเชื่ออันเต็มเปี่ยมว่าพรุ่งนี้จะไม่ก้าวขาซ้ายออกจากบ้านเด็ดขาด
.
นี่คือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “confirmation bias”
หรือการที่เรามักจะสังเกตและหยิบยกเรื่องราวหรือประสบการณ์ใหม่ๆ มาสนับสนุนความเชื่อเก่าที่มีอยู่เดิมของเรา (แม้ความเชื่อดั้งเดิมนั้นอาจจะผิดก็ตาม)
.
ปรากฎการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกในโลกโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบันที่ใช้ระบบ algorithm คอยคัดเลือกเนื้อหาที่เราชอบ ไปกดไลค์ กดแชร์ คอมเมนท์เอาไว้ เรา ชอบ/เชื่อ สิ่งใด มันก็ยิ่งมาแสดงให้เราเห็นบ่อยมากขึ้น จนบางครั้งเราหลงเชื่อไปว่านั่นคือโลกทั้งใบของเรา ทั้งที่ๆ ความเป็นจริงไม่มี Facebook ใครที่มีหน้าตาเหมือนกันเลย (ยิ่งที่เป็นคนที่อยู่คนละแวดวงสังคมกันยิ่งต่างมากไปอีก)
.
แล้วจะทำอย่างไรเพื่อหนีออกไปจากกรงขังความเชื่อ (Social Media Echo Chamber) เหล่านี้ได้
ทริคที่ 1: การตระหนักว่านี่ไม่ใช่โลกจริง เป็นแค่ความจริงเสมือนที่เราเลือกให้กับตัวเอง
ทริคที่ 2: ทุกครั้งที่อ่านเนื้อหาให้ลองถามตัวเองว่าถ้าไม่เป็นแบบนี้แล้วมันเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม (what else can be true) เรากำลังติดอยู่ในกรงขังของความเชื่อตัวเองแบบผิดๆ หรือไม่
ทริคที่ 3: หาเพื่อนหรือคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในโลกแห่งความเป็นจริงหรือในออนไลน์เพื่อที่เราจะได้ลดความรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เราคิดเราเชื่อให้น้อยลง และเปิดพื้นที่ให้กับความรู้อื่นที่อาจจะเป็นจริงมากกว่าก็ได้


6. ความเชื่อมโยงเป็นคนละเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล

[Recognize the difference between correlation and causation.]

 

ถ้าฝนตกทีไร รถก็ติดทุกที
แล้วเราจะสามารถฟันธงไปได้ในทันทีหรือไม่
ว่า ฝนตกเป็นสาเหตุให้รถติด
.
แล้วถ้าดูอีกตัวอย่างหนึ่ง (สภาพแวดล้อมคือทางประเทศเขตหนาว)
.
มีข้อมูลทางสถิติพบว่า ในวันที่อากาศโปร่ง อบอุ่น พระอาทิตย์จ้า จะมียอดขายไอศกรีมเพิ่มมากขึ้น และยังมีอัตราการฆาตกรรมสูงขึ้นด้วย…เฮ้ยยย !!!
.
แล้วแบบนี้เราจะยังกล้าสรุปไหมครับว่า
การกินไอศกรีมต้องมีอะไรเกี่ยวข้องหรือเป็นสาเหตุของอัตราการฆาตกรรมที่สูงขึ้น
.
คำตอบคือ ไม่ !!!!
.
จะเห็นได้ว่าเพียงเพราะสองสิ่งมันมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งหนึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งตามมา ในกรณีนี้เราเพียงยังไม่พบปัจจัยที่เกื้อหนุนอย่างรอบด้าน แต่ถ้าศึกษาต่อไปเราจะพบว่า
.
วันฟ้าโปรงอากาศร้อน….จะทำให้คนอยากกินไอศกรีมมากขึ้น
และยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เราขาดตกไปคือ…
วันฟ้าโปรงอากาศร้อน(สำหรับประเทศเขตหนาวคืออบอุ่นสบาย)…ยังทำให้คนออกนอกบ้านมาเที่ยวเล่นกันมากขึ้น และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อาชญากรมีโอกาสในการเลือกเหยื่อมากขึ้นนั่นเอง
.
จะเห็นได้ว่าไอศกรีมมันไม่ได้เกี่ยวกับอาชญกรรมแต่อย่างใดเลย เพียงแต่มันไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้นเอง
.
เราจึงไม่สามารถด่วนสรุปไปเลยว่าวันไหนที่คนกินไอศกรีมเยอะจะมีคนฆ่าปล้นชิงกันมากขึ้น เช่น อาจจะพบว่าอยู่ๆก็มียอดอาชญกรรมเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดแต่ทำไมอศกรีมไม่ได้ขายดี นั่นก็เพราะตอนนั้นเป็นฤดูหนาวที่คนไม่ค่อยอยากอาหารกลุ่มนี้ แต่เป็นช่วงวันหยุดเทศกาลที่คนออกมาเที่ยวนอกบ้านกันนั่นเอง
.
สาเหตุที่แท้จริงของอัตราการเพิ่มของอาชกรรมจึงเป็นไปตามอัตราการใช้เวลานอกบ้านของประชากรนั่นเอง
.
ทุกครั้งที่เราเสพข้อมูลอ่านข่าวใดๆ ก็ตามต้องอย่าลืมที่จะใช้เหตุผลแบบผิดๆ เช่นนี้ด้วยล่ะครับ

 

 

ก่อนจากจำเอาไว้ครับว่า
1. สงสัยไว้ก่อน
2.เช็คแหล่งอ้างอิง
3. อย่าเชื่อเพียงเพราะคนพูดน่าเชื่อถือ
4. ไหนล่ะหลักฐาน
5.อย่าเข้าข้างตัวเอง
6. ความเชื่อมโยงเป็นคนละเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล

 

เชื่อไหมครับว่าหากทำสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ใช่แค่คุณจะหลบระเบิดข่าวลวงได้สำเร็จ แต่คุณจะกลายเป็นมนุษย์คนใหม่ในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม เพราะเมื่อเราเริ่มรู้จักคัดกรองข้อมูลขาเข้า (input) ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น คุณจะมีการตัดสินใจในชีวิตที่ดีขึ้น แล้วชีวิตที่ดีจะเป็นอะไรถ้าไม่ใช่เกิดจากการตัดสินใจที่เฉียบคม ฉับไว และถูกต้องครั้งแล้วครั้งเล่าจริงไหมครับ
.
ขอให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี…และมันเริ่มต้นจากสิ่งที่เรียกว่า “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม (อ่าน)” ครับ
.
.
.
.
.
โดย ณภัทร สงวนแก้ว (แอดหนุ่ย)

ร่วมแสดงความคิดเห็น และแชร์ไปยัง Facebook ของท่าน